Site icon Thumbsup

ส่งสัญญาณตลาดแรงงานไทย เตรียมเพิ่มทักษะเป็นผู้เชี่ยวชาญเพื่อโอกาสในการแข่งขัน

พบตลาดแรงงานไทยฝั่งผู้ประกอบการมีมุมมองสดใสและอยากจ้างงานกลุ่ม White-Collar เพิ่มใน 5 หมวดดังต่อไปนี้ ธุรกิจสุขภาพ, ธุรกิจการผลิต, ธุรกิจพลังงาน, ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค และธุรกิจก่อสร้าง ส่วนฝั่งผู้หางานมีคำแนะนำให้เพิ่มทักษะให้ตนเองกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษมิเช่นนั้นอาจเจอกับการแข่งขันที่สูงมากได้ 

โดยตัวเลขดังกล่าวเป็นผลวิจัยของ JobDB ในหัวข้อ รายงานการคาดการณ์ภาพรวมตลาดงานประจำปี 2560 ที่จัดทำใน 6 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และประเทศไทย โดยพบว่า แนวโน้มการจ้างงานของผู้ประกอบการไทยนั้นค่อนข้างมีมุมมองเชิงบวก หลายอุตสาหกรรมมีแนวโน้มจะขยายกิจการและจ้างคนเพิ่ม สอดคล้องกับการคาดการณ์ของธนาคารโลกที่ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะเติบโตอยู่ที่ 3.5% รายงานยังระบุว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาคการส่งออกที่เพิ่มขึ้นถึง 6.6% ซึ่งสูงที่สุดในรอบสี่ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้ค่อนข้างสวนทางกับภาพรวมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พบว่าประเทศอื่น ๆ มีแนวโน้มการจ้างงานที่ลดลง เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์  และอินโดนีเซีย 

คุณนพวรรณ จุลกนิษฐ์  กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) เผยว่า ตลาดแรงงานไทยในระดับ White-Collar ขึ้นไปนั้นถือว่าภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี และบางหมวดมีแนวโน้มต้องการขยายกิจการเพิ่มสูง ซึ่งเมื่อเทียบเป็นสัดส่วนแล้วสูงกว่าภาพรวมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย 5 อันดับธุรกิจที่ผู้ประกอบการคาดว่าจะเติบโตเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าคือ (เรียงจากมากไปหาน้อย) ได้แก่

  1. ธุรกิจสุขภาพ
  2. ธุรกิจการผลิต
  3. ธุรกิจพลังงาน
  4. ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค
  5. ธุรกิจก่อสร้าง

“แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จะส่งผลให้กำลังซื้อกลับมาสดใส และภาคการผลิตเริ่มกลับเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมอีกครั้ง ทำให้ตลาดการจ้างงานเตรียมฟื้นตัวขึ้นด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี ความท้าทายที่เกิดขึ้นอีกประการหนึ่ง คือแรงงานทักษะสูงที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางยังไม่เพียงพอต่อความต้องการนายจ้างส่วนใหญ่ ก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างแรงงานทักษะสูงและแรงงานทักษะพื้นฐานที่ล้นตลาดและจะกลายเป็นผู้ว่างงานในที่สุด” คุณนพวรรณกล่าว

คุณนพวรรณ จุลกนิษฐ์

จากคำกล่าวด้านบนสะท้อนให้เห็นถึงภาพของผู้หางานในปัจจุบัน สอดคล้องกับผลการวิจัยที่พบว่าผู้หางานมีทัศนคติเชิงลบต่อการหางาน โดย 50% มองว่าตลาดงานจะซบเซากว่าปี 2016  เป็นผลมาจากการแข่งขันสูงในสายงานและความยากในการเข้าถึงตำแหน่งงานที่ดี

อีกปัจจัยหนึ่งที่ JobDB มองว่าทำให้ฝั่งผู้หางานมีทัศนคติเชิงลบอาจมาจากการที่องค์กรต่าง ๆ เปิดเผยนโยบายด้านการเติบโตของบริษัท และการจ้างงานยังไม่เพียงพอ ซึ่งหากนำเสนอได้มากขึ้น ก็จะทำให้ผู้หางานเกิดความเข้าใจที่ตรงกันมากขึ้น

สำหรับประเภทธุรกิจที่ผู้หางานคาดการณ์ว่าจะมีโอกาสได้ค้นพบตำแหน่งงานที่ตรงใจ 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค (3.63) ธุรกิจการผลิต (3.53) และธุรกิจโทรคมนาคม (3.50) นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์อีกว่า การแข่งขันในสายงานของธุรกิจพลังงาน (6.20) ธุรกิจการผลิต (5.93) และธุรกิจโทรคมนาคม (5.67) จะมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ตามลำดับ

ธุรกิจสตาร์ทอัปได้รับความสนใจสูง

ทั้งนี้ผู้หางานยังให้ความคิดเห็นต่อการเติบโตของตลาดงานอีกว่า จากแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจต่างๆ รวมทั้งบริษัทต่างชาติที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทย ประกอบกับสัญญาณการเติบโตในเชิงบวกของธุรกิจสตาร์ทอัพ จะก่อให้เกิดอาชีพใหม่หรือรูปแบบการทำงานที่หลากหลายมากขึ้นทำให้เกิดทักษะการทำงานใหม่ที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับเนื้องาน ส่งผลให้เกิดตำแหน่งงานใหม่ ๆ มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ในมุมมองของ JobDB มองว่าสื่อออนไลน์เป็นสื่อที่ช่วยทั้งในฝั่งผู้ประกอบการและผู้หางาน โดยผู้ประกอบการสามารถใช้เพื่อสรรหาว่าจ้างและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ขององค์กรได้ ในขณะที่ผู้หางานนั้นก็พบว่ามีความนิยมในการใช้ช่องทางออนไลน์หางานมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน

นอกจากนี้ข้อมูลจากการสำรวจของจ๊อบส์ดีบี พบว่าการอัปเดตโปรไฟล์อย่างสม่ำเสมอ ทำให้ 80% ของผู้หางานได้รับการติดต่อเสนองานและ 74% ได้งานทำภายใน 1 เดือนหลังจากสมัครงานด้วย (สำรวจเมื่อมกราคม 2017 ที่ผ่านมา จากกลุ่มผู้ใช้งาน 1,500 คน)