Site icon Thumbsup

ทำไมจีนจึงไม่สามารถสร้างนวัตกรรมได้ใน 20 ปีจากนี้ไป? (อ่านแล้วอย่าลืมมองย้อนดูไทย)

สวัสดีเมษายน 55 ครับ วันนี้ผมมีโอกาสอ่านบทความที่ชื่อว่า “ทำไมจีนจะไม่มีทางเป็นประเทศแห่งนวัตกรรมได้อย่างน้อยก็ 20ปี?” (Why China won?t be innovative for at least 20 more years) จาก VentureBeat อ่านแล้วผมนึกถึงเมืองไทยจริงๆ ครับเพราะมันมีปัจจัยคล้ายๆ กับเมืองไทย เอาเป็นว่าอ่านกันแล้วอยากให้แชร์ความเห็นหน่อยครับว่าคุณมองว่าเหมือนกันไหม และทำอย่างไรเราจะทำให้เมืองไทยก้าวหน้าไปได้มากกว่านี้

ในบทความที่ผมอ่าน เขากล่าวถึงผู้ชายที่ชื่อว่า Xu Xiaoping นักลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีคนดังของจีน เวลาที่เขาพูดอะไร มันก็มักจะเป็นสิ่งที่คนสนใจ และวันนี้เขาก็ออกมาบอกว่าเขาไม่คิดว่าจีนจะสร้างบุคลากรชั้นยอดอย่าง Steve Jobs หรือ Bill Gates ได้ในยุคนี้

Xu Xiaoping? กล่าวว่าเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมาบริษัทเงินทุนของเขาที่ชื่อว่า Zhenfund ได้เป็นพันธมิตรร่วมกับ Sequoia Capital China (บริษัท VC ชื่อดังในอเมริกาที่ลงทุนในจีน ที่อเมริกา Sequoia ลงทุนกับบริษัทอินเทอร์เน็ตดังๆ เยอะมากครับ Google, Yahoo! ล้วนแล้วแต่ผ่านมือบริษัทนี้มาหมด – ผู้แปล) โดยตั้งใจที่จะสร้างการลงทุนด้านเทคโนโลยีในจีนให้มีขนาดที่ใหญ่มากขึ้น แต่เขาก็ยอมรับว่าปัญหาอย่างหนึ่งของจีนตอนนี้ก็คือ จีนนั้นขาดนวัตกรรม เพราะอะไรเขาถึงคิดว่าจีนขาดนวัตกรรม? มาดูเหตุผล 3 ข้อของเขาครับ

 

1. ประเทศจีนเป็นประเทศที่อะไรๆ ก็เอาการศึกษาขึ้นมาก่อน โดยไม่สนใจว่าความทะยานอยากของคนจะเป็นอะไร

เป็นที่รู้กันว่าพ่อแม่ชาวเอเชียส่วนใหญ่มักจะเข้มงวดกับการศึกษาของลูกๆ? พวกเขาจะเคี่ยวเข็ญให้ลูกๆ เรียนให้หนักที่สุดเพื่อที่จะเข้าโรงเรียนที่ดีที่สุด ต่อไปก็จะได้เข้ามหาวิทยาลัยดีๆ และท้ายสุดก็จะได้งานดีๆ ทำ ที่เมืองจีนจะเรียกการกระทำนี้ว่า “Gao Kao” ซึ่ง Xu มองว่าเป็นการฆ่าความทะยานอยากและทำลายจินตนาการของเด็ก

Xu ยกตัวอย่างให้ฟังว่ามีเรื่องของเด็กสองคน คนแรกเป็นเด็กจีนที่โตในแคนาดา มีความใฝ่ฝันและความทะยานอยากด้านโปรแกรมมิ่ง และได้รับการสนับสนุนจากพ่อแม่ที่จะลองเรียนรู้ด้านการเขียนโปรแกรม เด็กคนนี้ทำได้ยอดเยี่ยม และสร้างบริษัทเทคโนโลยีที่มีคุณค่าขึ้นในเวลาต่อมา

เด็กคนที่สองอยู่ในเมืองจีน เขามีความใฝ่ฝัน ความทะยานอยากด้านโปรแกรมมิ่งเช่นเดียวกัน และได้ประดิษฐ์เทคโนโลยีชั้นเยี่ยมที่บริษัทอย่าง Apple สามารถเอาไปใช้ได้เลย แต่พ่อแม่กลับบอกให้เขาเลิกประดิษฐ์และหันไปมุ่งหน้าเรียนหนังสือตามแบบฉบับ Gao Kao หลายปีต่อมา ความใฝ่ฝันและความทะยานอยากของเด็กคนนี้หมดลง และสุดท้ายเขาก็กลายเป็นแค่พนักงานในบริษัทใหญ่คนหนึ่ง

ด้วยตัวอย่างนี้ Xu จึงเชื่อว่านี่เป็นรูปแบบความคิดของจีนโบราณ ที่จะต้อง “สู้เพื่อให้ได้รับการยอมรับ” มากกว่าการ “ให้กำลังใจและส่งเสริมคนที่มีความสนใจใคร่รู้ในเรื่องนั้นๆ” ซึ่งทำให้จีนพบกับความลำบากในการพัฒนาตัวเองได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ Xu ยังคิดว่าระบบการศึกษาของจีนล้าหลังกว่าสหรัฐอเมริกามาก นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมคนจีนถึงต้องออกไปเรียนเมืองนอกเพื่อเปิดโลกกัน แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังรุ่งอย่างนี้ เทรนด์ “Gao Kao” จึงเริ่มช้าลง และมีสิทธิ์ที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลง

ในงานนี้มีคนสัมภาษณ์ Xu Xiaoping ว่า ?แล้วเมืองจีนจะต้องส่งนักเรียนออกไปเมืองนอกอีกนานเท่าไหร่เพื่อที่จะมีความคิดสร้างสรรค์และมีนวัตกรรม?”? ซึ่ง Xu ตอบว่า “อย่างน้อย 20 ปี”

 

2. ผลิตภัณฑ์และบริการของจีนต้องมี “วิญญาณ”

Xu รู้สึกว่าบริษัทเทคโนโลยีของจีนนั้นไม่มีวิญญาณ อย่างเช่น Steve Jobs มีความเป็นศิลปินมากกว่าวิศวกร เขาเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ของเขาต้องมีบุคลิกและเรียกปลุกอารมณ์จากผู้ใช้ได้ Xu กล่าวว่าแนวคิดแบบนี้ยังขาดในสังคมจีน? และมันเป็นเหตุผลพื้นฐานว่าทำไมจีนจะไม่มีทางสร้างคนแบบ Steve Jobs ในยุคนี้ได้เลย

มีคนบอกว่า แล้วคนดังในเทคโนโลยีจีนอย่าง Lei Jun ผู้ก่อตั้ง Xiaomi Tech ที่มีคนเอาไปเทียบกับ Steve Jobs ล่ะ ไม่ใช่คนที่มีนวัตกรรมในตัวมากพอหรือ?? Xu ก็บอกว่า Lei Jun ยังไม่ใช่คนที่จะไปเทียบได้ เพราะ Lei Jun เป็นวิศวกร แต่ตอนนี้บริษัท Xiaomi กำลังมองหา CEO ที่ทำอะไรได้อย่างศิลปินมากกว่านี้ แต่จะหาคนอย่างนั้นในเมืองจีนได้ยากเต็มที? แถมในเมืองจีนยังเต็มไปด้วยผลิตภัณฑ์ที่ลอกเลียนแบบเมืองนอกมามากมาย บริษัท startup ส่วนใหญ่ของจีนก็ไม่ได้ตั้งโดยนักออกแบบหรือศิลปิน แต่ถูกสร้างโดยวิศวกรที่ไม่ได้มีแนวความคิดใหม่ๆ หรือดีไซน์ใหม่ๆ? ในตอนนี้โมเดลการสร้างบริษัทด้วยการลอกเลียนแบบนั้นเวิร์คเพราะมันจะเกิดได้เร็วเท่านั้นเอง

 

3. นักสร้างนวัตกรรมถูกบั่นทอนกำลังใจด้วยบริษัทใหญ่ที่จ้องจะตะครุบพวกเขา

ในอเมริกา ตรงแถบ Silicon Valley นั้นมีวัฒนธรรมประเภท สร้างบริษัท startup ขึ้นมาเพื่อขายให้บริษัทใหญ่อย่าง Facebook, Google, Apple, หรือ Microsoft เต็มไปหมด บางทีบริษัทพวกนี้อาจต้องการผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือเพียงต้องการดึงตัวคนที่เก่งๆ? เท่านั้นเอง แต่ในเมืองจีน บริษัทอินเทอร์เน็ตใหญ่ๆ อย่าง Baidu, Sina, และ Tencent นั้นสามารถจ้างทีมใหญ่ๆ มาทำผลิตภัณฑ์แข่งกับบริษัทเล็กๆ ได้ทันที มันถูกกว่าการซื้อบริษัท startup (น่าจะเป็นเรื่องของโครงสร้างค่าแรง และค่าเงินของจีนที่แตกต่างกับอเมริกาด้วย-ผู้แปล) บ่อยครั้งที่เราจะเห็นว่าบริษัทใหญ่เห็นบริษัท startup จีนทำอะไรเจ๋งๆ แล้วก็เลียนแบบบริษัทเล็ก แล้วทำให้ดังกว่า นี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้จีนไม่ค่อยมีนวัตกรรม

แต่อย่างไรก็ตาม Xu ให้ความเห็นว่าอะไรๆ ก็กำลังจะเปลี่ยนไป บริษัทอย่าง Tencent กำลังพยายามจะยุติธรรมมากขึ้น อย่างตอนนี้ Tencent สร้างแพลตฟอร์มเกมและทำงานกับนักพัฒนาจำนวนมาก แต่ Tencent ก็แบ่งเงินกับนักพัฒนาแค่ 10-20% แต่ต่อไปพวกเขาก็จะเริ่มแบ่งมากขึ้นเป็น 70%

ท้ายสุดก็มีคำถามถึง Xu อีกว่า ?แล้ววิธีไหนจะดีกว่ากันระหว่าง ให้รัฐบาลจีนช่วยเหลือ หรือเริ่มจากด้านล่างขึ้นมาโดยให้คนจีนที่อยู่นอกเมืองจีนกลับเข้ามาอีกที?”? Xu ตอบว่ามันจะเป็นได้ทั้งสองอย่าง เพราะการเปลี่ยนแปลงด้านวัฒนธรรมเกิดขึ้นได้ยากมาก และจะเปลี่ยนได้ก็ต้องมาจากเบื้องบนด้วย ถ้าหากจีนไม่โปรโมทความคิดสร้างสรรค์และความคิดเสรีมากกว่านี้? นวัตกรรมต่างๆ ก็จะมาจากที่อื่นมากกว่าคนในเมืองจีน

และกล่าวว่าที่ผ่านมาจีนได้สร้างอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเอาชนะปัญหาความยากจนได้ภายใน 30 ปี ดังนั้นการสร้างให้จีนเป็นประเทศที่มีนวัตกรรมเพิ่มขึ้นภายใน 20 ปีจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้

อ่านข่าวนี้แล้วสะท้อนอะไรกับไทย? ผมจะยังไม่ออกความเห็นอะไร แต่อยากทราบความเห็นของ thumbsuper ทุกคนก่อน แล้วจะรวบรวมความเห็นของคุณมารวมไว้แล้วโพสต์ต่ออีกครั้งครับ ร่วมออกความเห็นไปกับเราครับ

ที่มา: VentureBeat
ภาพ: Textually , F Paper