Site icon Thumbsup

ประมวลเหตุการณ์ Social Media ถูกบล็อก บอกอะไรนักการตลาด

แม้จะมีหลายแพลตฟอร์ม Social Media ที่ประกาศตัวเลขผู้ใช้งานระดับพันล้านคน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในการให้บริการจริงแล้ว บางครั้งแพลตฟอร์มเหล่านั้นก็เสี่ยงต่อการถูกแบนในหลาย ๆ ประเทศด้วยเหตุผลต่าง ๆ กัน ซึ่งวันนี้เราได้รวบรวมกรณีการถูกแบนที่น่าสนใจและสัญญาณเตือนต้องระวังสำหรับนักการตลาดมาฝากกัน 

WeChat VS รัสเซีย

เป็นข่าวใหญ่ในช่วงนี้สำหรับกรณีของ WeChat แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ของจีนที่มีผู้ใช้งาน 927 ล้านคน ผลงานการพัฒนาของ Tencent ที่ถูกบล็อกการใช้งานในรัสเซียแล้วอย่างเป็นทางการ ทั้ง ๆ ที่ในหลายประเทศ เริ่มมีการเปิดรับ WeChat กันอย่างกว้างขวาง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจีนให้จับจ่ายใช้สอยได้อย่างสะดวกใจ

อย่างไรก็ดี ไม่มีการให้เหตุผลจากรัฐบาลรัสเซียว่าบล็อก WeChat ด้วยสาเหตุใด แต่รายงานข่าวจาก Marketing-Interactive ระบุว่าไม่ใช่ปัญหาเดียวกับที่เคยบล็อก LinkedIn แน่นอน

WiKipedia VS ตุรกี

ก่อนหน้าเหตุการณ์ของ WeChat กับรัสเซียไม่นานก็มีเหตุการณ์ของ Wikipedia ที่ถูกรัฐบาลตุรกีบล็อกการให้บริการเช่นกัน โดยไม่มีการให้เหตุผลใด ๆ แต่คาดว่ามาจากการที่นักเขียนรายหนึ่งได้ใส่ข้อมูลบน Wikipeia กล่าวอ้างว่าตุรกีให้การสนับสนุนผู้ก่อการร้าย และรัฐบาลตุรกีขอให้ LinkedIn แก้ไขข้อมูลดังกล่าว แต่ไม่มีการตอบกลับ จึงทำให้เกิดการแบนดังกล่าวขึ้น

ทั้งนี้ที่ผ่านมารัฐบาลตุรกีได้เคยบล็อกการทำงานของ Social Media อย่าง Facebook และ Twitter มาแล้ว แต่เป็นการบล็อกแค่ชั่วคราว ในกรณีที่ประเทศมีเหตุการณ์ความไม่สงบ หรือการประท้วงทางการเมือง

Facebook, WhatsApp และอีก 20 แอปพลิเคชันยักษ์ใหญ่ VS แคว้นแคชเมียร์ อินเดีย

ใกล้ ๆ กับเหตุการณ์ของ Wikipedia กับตุรกี ในแคว้นแคชเมียร์ ประเทศอินเดียก็มีการบล็อกการใช้งานแอปพลิเคชัน Social Media ล็อตใหญ่ถึง 22 ยี่ห้อพร้อม ๆ กัน (Facebook, Twitter, YouTube, WeChat, Google+, Skype, Line, Snapchat, Pinterest, tumblr, Snapchat, flickr, Vine, QQ, baidu ฯลฯ) โดยให้เหตุผลว่า Social Media เหล่านั้นละเมิดต่อความสงบสุข ขณะที่สื่ออย่าง GlobalVoice เผยว่า การบล็อกนั้นเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ความไม่สงบในเมืองดังกล่าวที่เริ่มต้นโดยทหาร หน่วยงานภาครัฐจึงมีการปิดการเข้าถึง Social Media เพื่อไม่ให้ภาพของเหตุการณ์ความไม่สงบได้รับการเผยแพร่ในวงกว้าง

แอปพลิเคชันที่ให้บริการ VoIP VS อียิปต์

ในช่วงเดียวกันกับสองกรณีข้างต้น รัฐบาลอียิปต์ก็ประกาศบล็อกการให้บริการโทรศัพท์แบบ VoIP กับผู้ให้บริการอย่าง FaceTime ของ Apple, Viber, Skype, Facebook Messenger  และ WhatsApp ด้วยเช่นกัน โดยมาพร้อมเหตุผลว่า ผู้ให้บริการโทรคมนาคของอียิปต์ไม่พอใจที่บริการเหล่านี้ทำให้รายได้ของพวกเขาลดลง

Dating App VS อินโดนีเซีย

อินโดนีเซียก็มีการบล็อกการใช้งานแอปพลิเคชันหาคู่เช่น Grindr, BoyAhoy, Wapa ฯลฯ ซึ่งโดยมากแล้วแอปพลิเคชันเหล่านี้ถูกใช้โดยกลุ่ม LGBT ขึ้นอยู่กับว่ากลุ่มไหนนิยมใช้แอปพลิเคชันใดมากกว่ากัน ก็จะมีการสร้างคอมมูนิตี้ย่อย ๆ ของกลุ่มนั้น ๆ อยู่บนแพลตฟอร์ม เช่น Grindr ก็เป็นของกลุ่มชาวเกย์เป็นหลัก หรือ Wapa ก็มีกลุ่มเลสเบี้ยนใช้งานสูงนั่นเอง

Telegram VS อิหร่าน

ช่วงกลางเดือนเมษายนมีรายงานว่าแอปพลิเคชันด้านการติดต่อสื่อสารอย่าง Telegram ที่มีผู้ใช้งานในอิหร่านถึง 40 ล้านแอคเคาน์ก็ถูกบล็อกผู้ให้บริการโทรคมนาคม ซึ่งไม่มีเหตุผลแน่ชัดว่าบล็อกเพราะเหตุผลทางการเมืองที่เริ่มมีการใช้งาน Telegram รายงานข่าวสาร หรือเพราะว่าแอปพลิเคชัน Telegram ไปขัดผลประโยชน์ของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมท้องถิ่น

LinkedIn VS รัสเซีย

LinkedIn บริการ Social Media จาก Microsoft ก็ถูกห้ามให้บริการในรัสเซียเช่นกัน โดยกรณีของ LinkedIn นั้น รัฐบาลรัสเซียเผยว่าทำผิดกฎหมายของรัสเซีย ที่กำหนดให้ผู้ให้บริการต้องเก็บข้อมูลของการใช้งานในรัสเซียเอาไว้ที่เซิร์ฟเวอร์ในประเทศเท่านั้น

Zello VS รัสเซีย ตุรกี ฮ่องกง เวเนซุเอลา ประเทศในตะวันออกกลาง

แอปพลิเคชัน Zello เป็นแอปพลิเคชันด้านการสื่อสาร ทำงานคล้ายกับวอล์กกี้ – ทอล์กกี้ จึงมักมีการใช้งานโดยกลุ่มผู้ประท้วง ทำให้แอปพลิเคชันนี้มักถูกแบนจากหลายประเทศ

Uber VS อิตาลี, สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, อิตาลี, เดนมาร์ก, บัลแกเรีย, ไต้หวัน

แม้ว่าแอปพลิเคชันอย่าง Uber จะได้รับความนิยมในหมู่ผู้ใช้งาน แต่ Uber ก็เป็นอีกหนึ่งแอปพลิเคชันที่ถูกต่อต้านอย่างหนัก จากผู้ประกอบการแท็กซี่ในหลายๆ ประเทศ เช่นในบัลแกเรียที่หยุดให้บริการไปแล้ว หรือในอิตาลีที่ Uber จะให้บริการได้จนถึงวันที่ศาลตัดสิน

Facebook, Twitter, Instagram, Flickr ฯลฯ VS จีน

ที่ผ่านมา จีนเป็นประเทศที่มีการบล็อกการใช้งานเทคโนโลยีจากต่างประเทศหลายต่อหลายครั้ง   ซึ่งข้อดีก็คือทำให้เทคโนโลยีในประเทศได้ “เกิด” และเติบโต อย่างไรก็ดี ในวันนี้ที่บริษัทเทคโนโลยีจากจีนพร้อมจะก้าวออกสู่ตลาดโลก การจะถูกบล็อกจากประเทศอื่นบ้างก็เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับให้ได้เช่นกัน

จากเหตุการณ์การบล็อก Social Media ของประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่า การกีดกันทางการค้าเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไป หากแอปพลิเคชันยักษ์ใหญ่เข้าไปล้วงคองูเห่าประจำถิ่น นอกจากนั้น หากสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศอยู่ในภาวะที่ไม่ปกติ ก็อาจถูกบล็อกการใช้งาน Social Media ได้เช่นกัน

ที่มา:
Independent
Yahoo Tech
Defenceone
Marketing-Interactive