Site icon Thumbsup

#ชาวเน็ตเป็นคนใส่ใจ Wisesight สรุปเทรนด์โซเชียล 2019 พบคนใช้งานโกงอายุกันมากกว่าประชากรจริง

กลับมาอีกปีสำหรับ Thailand Zocial Award 2019 รางวัลสำหรับแบรนด์และอินฟลูเอนเซอร์ที่ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียในการสื่อสารได้ดีที่สุดในรอบปี โดยในปีนี้ ทางบริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) ผู้นำเทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูลด้านโซเชียลมีเดีย ประกาศชัดว่าผู้ที่ได้รับรางวัลทุกท่าน ทุกแบรนด์ มาจากเสียงของประชาชนที่ใช้งานโซเชียลมีเดียและมีการพูดถึงแบบไม่ได้โฆษณา ทำให้ผู้ที่ได้รับรางวัลหลายคนเป็นคนที่โดนใจกระแสสังคมและเชื่อถือได้

กล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การใช้งานโซเชียลมีเดียในยุคนี้ สามารถใช้งานได้หลายรูปแบบ ทั้งการแชท แชร์หรือเชิงธุรกิจ ดังนั้น โซเซียลมีเดียจึงเปรียบเสมือนศูนย์กลางในการสื่อสารที่สะดวกและรวดเร็วที่สุด

เจาะลึกเทรนด์ออนไลน์ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม เทรนด์โซเชียลในปีนี้ ปริมาณของเนื้อหายังคงเข้มข้นขึ้นด้วยกระแสการเมือง คนในโซเชียลยังคงเป็นคนรุ่นใหม่ที่อาจจะไม่ได้ใส่กรอบเรื่องของ demographic ให้ชัดเจนได้แล้วว่า คนใช้งานส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นหนีพ่อแม่มาเล่นหรือไม่ แต่จากสิ่งที่พวกเขาโพสต์ นอกจากศิลปินเกาหลี ก็จะเป็นเรื่องของวงการศึกษา มหาวิทยาลัย การสอบ ชีวิตความรัก ซึ่งเห็นชัดจากบริบทของแต่ละช่วงชีวิต

นอกจากนี้ คนกลุ่มนี้อาจเรียกได้ว่ามีสิทธิ์ในการเลือกตั้งครั้งแรก ทำให้มีการค้นหาข้อมูลและศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ดั้งเดิมว่ามีความเป็นมาอย่างไร ผูกโยงกับกระแสของยุคสมัย ทำให้ยากที่จะฟันธงว่าช่วงอายุที่แน่ชัดอยู่ที่เท่าไหร่ เพราะบางยูสเซอร์ไม่ได้กรอกข้อมูลด้านอายุจริง แต่ภาพรวมของอายุคนเล่นโซเชียลมีเดีย ยังคงเป็นช่วงอายุเดิมคือ 24-35 ปี

ทั้งนี้ ผู้บริโภคในแต่ละปีมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ทำให้การทำคอนเทนต์ที่เหมาะสมในแต่ละโซเชียลอาจจะแตกต่างกัน บางประเทศอาจใช้งานทั้ง Facebook Twitter Instagram ในการเข้าถึงลูกค้า แต่บางประเทศอาจเจาะเฉพาะช่องทางใดช่องทางหนึ่งที่มองว่าเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการมากกว่า

ดังนั้น สิ่งที่แบรนด์หรือธุรกิจควรโฟกัสให้ถูกจุดคือ ช่องทางไหนที่เหมาะสม เพราะการทำงานของแต่ละโซเชียลจะมีเสน่ห์ที่ต่างกัน ต้องมีทีมงานเข้ามาช่วยปรับใช้ให้เหมาะกับธุรกิจที่กำลังบริหารอยู่

นอกจากนี้ เทรนด์ที่เห็นชัดจากการที่หลายแบรนด์สามารถเชื่อมโยงความเป็นออนไลน์กับออฟไลน์เข้าด้วยกัน เห็นได้จาก กระแสออเจ้า ที่ช่วยปลุกกระแสการท่องเที่ยวในประเทศไทยให้ดีขึ้น หรืออย่าง ถ้ำหลวง ที่เรื่องราวเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของคนในโลกออนไลน์ในไทยส่งต่อข้อมูลกัน จนสามารถมีคนจากทั่วทุกมุมโลกที่ทราบข่าวเข้ามาช่วยเหลือน้องๆ ทั้ง 13 คน ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าเสียงของคนบนโลกออนไลน์เริ่มมีความสำคัญมากขึ้น

ทางด้านของวงการการเมืองนั้น พลังโซเชียลจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงประเทศหรือพลิกโอกาสบางอย่างได้หรือไม่นั้น หากเป็นในเมืองไทยยังไม่สามารถวัดผลได้ ต้องรอดูหลังการเลือกตั้ง แต่ในสหรัฐอเมริกาหรืออีกหลายประเทศนั้น เรียกได้ว่า ช่วยเปลี่ยนมืออย่างมาก เพราะโซเชียลมีเดียเข้ามาช่วยโน้มน้าวได้อย่างตรงจุด

บางอย่างหลายคนไม่สามารถพูดได้ในชีวิตประจำวัน ทำให้พวกเขาต้องแชร์หรือบอกต่อสิ่งที่อยากจะพูดผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียและบางครั้งคำพูดเหล่านั้น อาจกระแทกใจคนที่คิดตรงกัน หรือสร้างข้อมูลใหม่ให้เกิดการถกเถียงจนเกิดข้อมูลที่น่าสนใจในแง่มุมที่ไม่เคยรู้มาก่อนก็เป็นได้

สิ่งที่นักการตลาดควรตามเทรนด์การใช้งานหรือพฤติกรรมของคนโซเชียลให้ทันคือ ใช้ความไม่เหมือนกันของคน มาเจาะความต้องการของลูกค้า และนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยคิด วิเคราะห์ข้อมูล เพราะหนึ่งคนมีหนึ่งสมอง แต่เทคโนโลยีอย่าง AI สามารถวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณมากๆ ได้ ช่วยลดภาระในการวิเคราะห์ให้สั้นลง และนำไปต่อยอดได้ดีกว่าเดิม

เสียงของคนโซเชียล

จากการเก็บข้อมูลในปีที่ผ่านมาพบว่า จำนวนผู้ใช้โซเชียลมีเดียมีการเติบโตเพิ่มขึ้น ทำให้จำนวนข้อความที่มีการโพสต์และส่งต่อกันสูงถึง 5,300 ล้านข้อความ เฉลี่ยอยู่ที่ 10,000 ข้อความ/นาที เติบโตขึ้นถึง 47% และแบ่งเป็นส่วนของการโพสต์ภาพถึง 230 ล้านภาพ

เครื่องมือใหม่ที่น่าสนใจ

โดยทาง Wisesight ได้เพิ่มความสามารถของระบบ AI ในการตรวจจับโลโก้ในภาพ หรือแบรนด์ที่ปรากฏขึ้นตามช่องทางต่างๆ เพื่อให้เห็นว่าแบรนด์หรือลูกค้าที่คุณดูแลอยู่ มีทิศทางของการรับรู้จากคนในโลกออนไลน์ไปในรูปแบบใด

ทั้งนี้ ระบบใหม่ของบริษัทที่ชื่อว่า Social Seeing คือนอกจากรับฟังผ่านเครื่องมือที่ชื่อว่า Social Listening แล้ว ยังสามารถมองเห็นผ่านภาพได้อีกด้วย

ยกตัวอย่างเช่น งาน Money Expo 2019 ที่ผ่านมา บริษัทได้ทำการตรวจจับโลโก้ของแบรนด์ต่างๆ ผ่านรูปภาพบรรยากาศของการจัดงานและเซเลบริตี้ ที่เข้าร่วมงาน พบว่า ภาพที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ 82% มาจากคนดังที่เข้าร่วมงาน 11% มาจากการส่งข่าวประชาสัมพันธ์ และที่เหลืออีก 4% มาจากกิจกรรมภายในบูท หากแบรนด์หรือผู้จัดงานท่านใด สามารถเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมก็จะกลายเป็นช่องทางการโฆษณาที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการทำข่าวหรือโฆษณาแบบเดิม

นอกจากนี้ ด้วยเทรนด์ที่ทางบริษัทพบในโลกออนไลน์และสรุปความเห็นในรอบปีที่ผ่านมาได้ว่า #ชาวเน็ตเป็นคนใส่ใจ ไม่ว่าเทรนด์หรือเรื่องฮิตในวันนี้คืออะไร กระแสบนโซเชียลไปเร็ว บางครั้งในหนึ่งวันมีหลายเทรนด์เกิดขึ้น เราก็เลยพัฒนาเครื่องมือเพื่อนับ engagement แบบเรียลไทม์ทำให้ได้เห็นโพสต์ ไลค์ แชร์ คอมเม้น สูงมาก ในแต่ละช่องทางไม่ว่าจะเป็น เฟสบุค ทิวตเตอร์ ไอจี พันทิพ และยังเปิดให้เข้าไปเช็คกระแสได้ฟรีแบบยังไม่มีกำหนดและไม่ได้คิดแพคเกจค่าบริการด้วย

หากเปรียบเทียบกับ Google ซึ่งเป็นเครื่องมือในการจับคู่การค้นหาจากสิ่งที่คนต้องการ trend ของไวซ์ไซท์ คือการสรุปสิ่งที่คนต้องการมาไว้ให้ในมือคุณ

ดังนั้น คนที่สนใจอยากทดลองเช็คกระแสเทรนด์ยอดนิยมก็เข้าไปใช้งานได้ฟรีที่ trends.wisesight.com