Site icon Thumbsup

[ลือ] “วงใน” กำลังเจรจาเพิ่มเงินลงทุนกว่า 15-20 ล้านบาทกับกลุ่มทุนญี่ปุ่น

ถ้าพูดถึงแอพพลิเคชั่นทางด้านการหาของอร่อยกินในประเทศไทย “วงใน” น่าจะเป็นชื่อแรกๆ ที่คนในธุรกิจอินเทอร์เน็ตจะพูดถึง วันนี้ thumbsup มีข่าว “วงใน” มานำเสนอว่า ขณะนี้แหล่งข่าวของเราเผยว่าทางบริษัท “วงใน มีเดีย” ผู้ผลิตเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นชื่อเดียวกับบริษัท “วงใน” กำลังอยู่ในตอนการเจรจาพูดคุยเพื่อหาเงินร่วมลงทุนกับกลุ่มทุนญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง โดยมีรายละเอียดดังนี้

“ตอนนี้ บริษัท วงใน มีเดีย กำลังพูดคุยกับแหล่งเงินทุนจากประเทศญี่ปุ่น ที่สนใจมาลงทุนกับวงใน แบบ series A ซึ่งถือเป็นเงินก้อนแรกที่จะได้ ซึ่งถ้าหากว่าดีลนี้สำเร็จ ก็จะทำให้วงในมีกำลังเงินมาจ้างคนและหันมาทุ่มเทกับการสร้างผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้นได้ เท่าที่ได้ยินมาการลงทุนครั้งนี้จะอยู่ที่หลัก 15 – 20 ล้านบาท” แหล่งข่าววงในกล่าว

เราได้สอบถามเพิ่มเติมว่า กลุ่มทุนญี่ปุ่นดังกล่าวเป็นกลุ่มทุนใด และมีเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจไปทางไหน แหล่งข่าวของเราปฎิเสธที่จะตอบในเรื่องนี้ แต่ทิ้งท้ายไว้ว่า วงในมีการพูดคุยกันกับกลุ่มทุนนี้มาสักพักแล้วแบบเงียบๆ โดยดีลนี้มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นการร่วมลงทุนส่วนหนึ่ง แต่ทางวงในยังคงมีอิสระในการดำเนินงานอยู่เช่นเดิม เพราะจะยังคงถือหุ้นเกินกว่า 50% ของบริษัทอยู่ โดยมีขนาดการลงทุนอยู่ที่หลักสิบล้านกลางๆ ซึ่งประมาณได้ว่าอยู่ที่ 15 – 20 ล้านบาท

สำหรับวงใน เป็นบริการที่จะช่วยค้นหาร้านอาหาร ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและรีวิวที่มาจากผู้ที่ไปกินอาหารมาจริง รวมทั้งติดตามความเคลื่อนไหวของเพื่อนภายในเว็บไซต์ได้แบบ real time ปัจจุบัน วงใน ทำหน้าที่เป็น digital media โดยเปิดให้ผู้ใช้ใช้งานผ่านได้ทั้ง desktop, smartphone, tablet อย่างที่เราเคยแนะนำไปแล้ว

เราจะติดตามข่าวนี้มาแจ้งกับ thumbsuper อีกครั้งว่า “ลือ” จะกลายเป็นจริงได้หรือไม่

ข่าวนี้มีความหมายอย่างไรกับ startup ไทย?
ทันที่เราทราบข่าวนี้ ถึงขนาดการลงทุนจะไม่ได้สูงมาก แต่ก็ทำให้เราคิดต่อได้ว่า ยุคนี้คือยุคของคนกล้าที่จะนำเสนอไอเดียของตัวเองและผลักดันมันให้เป็นความจริง อย่าง “วงใน” ในความเห็นส่วนตัวของผม ตัวบริการยังไม่น่าจะสร้างรายได้อะไรมากนัก แต่สิ่งที่ทีมงานกำลังทำอยู่คือการสั่งสมยอดผู้ใช้ รวมถึงการดึงให้ผู้ใช้มามีส่วนร่วมในการรีวิวอาหาร ในแบบที่คล้ายกับ Yelp.com ทำในอเมริกา การทำรายได้ของวงใน ตลอดจน exit strategy จึงเป็นไปได้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมลงทุนแบบที่แหล่งข่าวกล่าวมา รวมถึงการถูกเข้าซื้อกิจการ แต่สัญญาณการลงทุนแบบนี้ เป็นสิ่งที่ชี้ให้เราเห็นได้ชัดแล้วว่า การทำธุรกิจ startup นั้นถ้าหากเรามุ่งมั่นทำจริงจัง และมี Business model ที่ชัดเจน (ในที่นี้คือโฆษณาและการเป็น digital media ที่ทำการตลาดร่วมกับแบรนด์) ตลอดจนความพยายามในการสั่งสมยอดผู้ใช้ตลอดเวลา ก็สามารถทำให้ฝันของ startup ไทยเป็นจริงได้ไม่ยาก หรือคุณคิดต่างไป? อย่างไร แชร์กับเราได้