Site icon Thumbsup

ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทยแนะสัมปทานดิวตี้ฟรีต้องแฟร์ ระบุไม่มีที่ไหนมองพื้นที่ขายสินค้าแยกกับสนามบิน

ประเด็นสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรี (Duty Free) ยังเป็นประเด็นร้อนแรงพอสมควร เพราะถือเป็นเรื่องผลประโยชน์สาธารณะ และน่าจับว่าเอกชนรายใดจะเป็นผู้ได้พื้นที่ในสนามบินไปเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ ซึ่งสนามการแข่งขันครั้งนี้ยังฝุ่นตลบและฟาดฟันกันรุนแรงอย่างต่อเนื่อง

ลำดับการแก้ไขสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรี

20 กุมภาพันธ์ 2562 – คณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือบอร์ด ทอท. มีมติแยกสัมปทานในท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทอท.ออกเป็น 3 สัญญา คือ

นอกจากนี้ที่ประชุมบอร์ด ทอท.ยังมีมติเห็นชอบหลักการคัดเลือกผู้รับสัมปทานดิวตี้ฟรี และสัมปทานบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ด้วย แต่ไม่มีรายละเอียดของสัมปทานจุดส่งมอบสินค้าปลอดภาษีออกมาแต่อย่างใด

26 มีนาคม 2562 – บอร์ด ทอท. มีมติเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2562 ให้แยกโครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ออกเป็น 2 สัญญา หลังถูกกดดัน คือ

รวมถึงปรับกรอบการประมูลให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพ โดยผลตอบแทนของทั้ง 2 สัญญาต้องไม่ต่ำกว่าที่ ทอท. เคยได้ในปัจจุบัน

19 เมษายน 2562 – ‘นิตินัย ศิริสมรรถการ’ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ก็เผยรายชื่อ 5 ผู้ประกอบการรายใหญ่ ก็ยื่นซองประมูล หลังการปิดขายซองเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2562 เวลา 16.00 น. มีผู้ซื้อซองดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิ 5 ราย ได้แก่

  1. บจก.สรรพสินค้าเซ็นทรัล (Central)
  2. บจก. คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี (King Power)
  3. บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINOR)
  4. บมจ.การบินกรุงเทพ (Bangkok Airways)
  5. บมจ.รอยัลออคิด เชอราตัน (ประเทศไทย) (Royal Orchid Sheraton)

ส่วนพื้นที่เชิงพาณิชย์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีผู้ซื้อซอง 4 ราย ได้แก่

  1. บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (Central)
  2. บจก.คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ (King Power)
  3. บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINOR)
  4. บจก.เดอะมอลล์กรุ๊ป (The Mall)

ผู้ที่จะยื่นซองจะต้องบอกรายชื่อ Joint Venture ที่จะร่วมประมูลกับ ทอท. ก่อนกำหนดวันยื่นซอง (22 พฤษภาคม 2562) และไม่น้อยกว่า 7 วันทำการ (8 พฤษภาคม 2562) โดย ทอท. ได้เชิญ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าร่วมสังเกตการณ์อีกด้วย

คุยกับ “ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย” เรื่องสัมปทานดิวตี้ฟรี

แม้ ‘วรวุฒิ อุ่นใจ’ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย จะเคยแถลงข่าวเพื่อแสดงจุดยืนในการประมูลสัมปทนาดิวตี้ฟรีแบบแยกตามหมวดหมู่สินค้า ด้วยการคัดค้านการเปิดสัมปทานดิวตี้ฟรีใน 4 สนามบินให้แก่ผู้ประกอบการรายเดียว

แต่เมื่อสัญญามีการเปลี่ยนไปมากขึ้น thumbsup จึงถามความเห็นเพิ่มเติมต่อเรื่องนี้ว่าคิดเห็นอย่างไรบ้าง

โดยวรวุฒิมองว่าสัญญาสัมปทานหรือ TOR ที่ออกมาล่าสุดยังมีปัญหาอยู่ด้วยกัน 3 จุด คือ

1. ยังให้คะแนนผลตอบแทนที่ ทอท. จะได้รับอยู่ที่ 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ให้คะแนนการพิจารณาแผนธุรกิจสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่าธุรกิจไหนให้ผลตอบแทนสูงๆ อาจจะมีสิทธิ์ชนะได้มากกว่า เพราะการให้คะแนนขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการ โดยเฉพาะคะแนนแผนธุรกิจที่ให้มากถึง 80 เปอร์เซ็นต์

2. ข้อมูล TOR ที่ให้กับผู้เข้าประมูลน้อยเกินไป โดยตัวเอกสารมีเพียงแค่ 40 หน้า โดยขายอยู่ที่ 2.5 ล้านบาท ไม่ได้มีการพูดถึงรายละเอียดต่างๆ เช่น นักท่องเที่ยวชาติไหนมาซื้อสินค้าอะไร เท่าไหร่ อย่างไร หมวดไหน ซื้อเยอะในหมวดไหน ซึ่งเป็นข้อมูลที่จำเป็นต่อการทำแผนเสนอ

เช่น ถ้ามีนักท่องเที่ยวยุโรปเข้ามาเยอะ การทำดิวตี้ฟรีอาจจะไม่คุ้ม เพราะชาวยุโรปมีต้นทุนเรื่องภาษีน้อยอยู่แล้ว แต่ท่ามีนักท่องเที่ยวจีนก็จะคุ้มค่ากว่า เป็นต้น

ผมมองว่าแผนที่ออกมาที่น้อยเกินไป ทำให้ผู้ประกอบการรายเก่าที่ทำอยู่เดิมจะได้เปรียบสุดๆ เพราะมีรายละเอียดข้อมูลต่างๆ อยู่ในมือ แต่รายใหม่นี่ไม่มีใครทราบเลย พอไม่มีแผนให้รับทราบ พอทำแผนออกมาก็สู้รายเก่าไม่ได้

หากไปดูสนามบินในฮ่องกง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ทุกรายทั้งเก่า-ใหม่จะได้ข้อมูลครบถ้วน ซึ่งทำให้การประมูลมีความยุติธรรมหรือแฟร์

3. การให้เวลาในการทำแผนสั้นมากเพียง 30 วัน ซึ่งมาตรฐานสากลส่วนใหญ่ให้เวลาทำแผนถึง 60-90 วัน ทำให้หลายรายถอดใจไป เพราะมองว่าทำไปก็เสียเวลาเปล่า

ยิ่งเมื่อร่วมทุนกับหุ้นส่วนต่างประเทศซึ่งระบุว่าต้องเป็นสัญชาติไทยเท่านั้น จะเป็นดิวตี้ฟรีระดับโลกก็ต้องมาหุ้นกับคนไทย ปัญหาคือการประสานข้อมูลประสานระหว่างไทยกับต่างประเทศที่มีเวลาทำข้อมูลแค่ 30 วันก็ถือว่ามันสั้นมาก

ทำให้ TOR ไม่มีความโปร่งใส เสี่ยงทำให้ดิวตี้ฟรีรายเดิมอาจเกิดความได้เปรียบ ทั้งที่มีอีก 10 กว่ารายที่มีศักยภาพศูนย์เสียโอกาสตรงนี้ไป

ตั้งข้อสังเกตว่ารัฐได้ผลตอบแทนจากดิวตี้ฟรีน้อยกว่าปกติ

วรวุฒิเล่าว่าต่างประเทศเก็บผลตอบแทนดิวตี้ฟรีเข้ารัฐได้ประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ แต่ไทยเก็บแค่ 15 เปอร์เซ็นต์ และ TOR ใหม่ขอแค่เก็บให้ได้มากกว่าเดิมเท่านั้น ซึ่งจริงอยู่ที่การเก็บได้ 20 เปอร์เซ็นต์ก็มากกว่าเดิมแต่ยังน้อยกว่าที่ระดับสากลเก็บกันถึงครึ่งหนึ่ง เป็นเหตุทำให้ผลตอบแทนที่ไทยควรได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น

เพราะว่าพอคุณมี(ดิวตี้ฟรี)รายเดียว ขีดความสามารถในการให้บริการมันก็จะต่ำ ดูจากอันดับของสนามบินไทยได้เลย ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันอยู่ที่อันดับ 46 ของโลก แต่ถ้าไปดู Top 5 ของสนามบินระดับโลกส่วนใหญ่จะแบ่งดิวตี้ฟรีตามหมวดหมู่และมีผู้ขายหลายราย

การได้ดิวตี้ฟรีรายเดียวไม่ดีตรงที่แบรนด์และสินค้าจะไม่ครบ แล้วเราไม่ได้ผู้ขายที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้านของสินค้านั้นๆ มาทำ

วรวุฒิเล่าต่อว่า การมีผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีรายเดียว เมื่อเอากำไรขั้นต้น หรือ Gross Profit (GP) มาคิดรวม โอกาสที่จะได้ผลตอบแทนต่ำมันจะสูง

ยกตัวอย่างเช่น หากเราขายดิวตี้ฟรีตามหมวดหมู่ เช่น เครื่องสำอาง น้ำหอม คนเข้าประมูลอาจให้ GP ได้ 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะเป็นตัวที่มี GP สูง จึงมีทำกำไรได้สูง แต่เครื่องใช้ไฟฟ้าอาจให้ GP รัฐได้แค่ 20 เปอร์เซ็นต์ เพราะเป็นตัวที่มี GP ต่ำ

แต่พอเราเหมารวม กลายเป็นว่าคนที่จะเข้าประมูลจะเอา GP ที่เซฟไว้ก่อน ก็จะเอา โอกาสที่ผู้เข้าประมูลจะให้ GP สูงๆ ก็มีโอกาสน้อยลงไป ทำให้ประเทศชาติเสียประโยชน์

“ถ้าเงื่อนไขของ TOR มันไม่แฟร์ซะแล้ว หรือเสรีซะแล้ว มันมีโอกาสที่รายเดียวรายเดิมชนะทั้งหมดอีกอยู่ดี การแตกสัญญาก็แค่เป็นการลดแรงกดดัน แต่ถ้ามีปรับ(สัญญา)ให้แบ่งตามหมวดหมู่ด้วย ตามท้องที่ของสนามบินด้วย อย่างนี้อาจจะเห็นความจริงใจของภาครัฐมากกว่า” วรวุฒิ กล่าว

แนะอายุของสัมปทานควรอยู่ที่ 5 ปี

วรวุฒิเรียบเรียงข้อเรียกร้องตัวเองออกมาสั้นๆ เป็นสามข้อ คือ หนึ่งให้มีหลายราย สองให้มีผลตอบต่อประเทศชาติในอัตราที่สูง สามให้มีอายุสัมปทานที่สั้น โดยยืนยันว่าเอื้อเอกชนรายใดรายหนึ่งเลย

แม้จะมีหลายตำแหน่งทั้งใน OfficeMate, Central Online และสมาคมผู้ค้าปลีกไทยก็ตาม แต่วรวุฒิก็ยืนยันว่า “กำลังต่อสู้เพื่อให้ประเทศชาติได้ประโยชน์สูงสุด”

รัฐบอกว่าสัมปทานดิวตี้ฟรีควรจะมีอายุ 10 ปี วรวุฒิก็ยืนยันว่าเขาไม่เคยเห็นด้วยเลย ผมคิดว่า 5 ปีกำลังสวย ซึ่งรัฐก็ให้เหตุผลว่าที่ให้อายุสัมปทานยาวก็เพราะกลัวไม่คุ้มทุน

แต่อย่าลืมว่าธุรกิจดิวตี้ฟรีนั้น ไม่ต้องสร้างห้าง ไม่ต้องสร้างอาคาร ไม่ต้องทำแผนมาร์เก็ตติ้งหาลูกค้า เพราะว่าประเทศหามาให้เลยทั้งอาคารและลูกค้า ปกติแล้วห้างสรรพสินค้าต้องสร้างอาคาร หาลูกค้า ทำแผนมาร์เก็ตติ้ง มีจุดคุ้มทุนอยู่ที่ 5-7 ปี แต่ดิวตี้ฟรี 3 ปีก็ถึงจุดคุ้มทุนแล้ว ผมมองว่า 5 ปีกำลังดี แต่แปลกใจทำไมประเทศไทยใจดี

วรวุฒิระบุชัดเจนว่ารัฐกีดกันไม่ให้ผู้ประกอบการรายอื่น เข้ามาทำธุรกิจนี้ และมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ทั้งที่ควรจะให้คนอื่นเข้ามาพิจารณาว่าคุณทำทุกอย่างถูกต้องและโปร่งใส

ล่าสุดก็พยายามตีความจาก พ.ร.บ.ร่วมทุนฉบับใหม่ว่าดิวตี้ฟรีไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของท่าอากาศยาน ซึ่งเป็นการตีความที่ไม่เคยมีที่ไหนในโลก

ถ้าคุณจะบอกว่าดิวตี้ฟรีนี้ไม่เป็นส่วนหนึ่งของท่าอากาศยาน เพราะไม่เกี่ยวกับการขึ้นลงของเครื่องบิน ร้านอาหารก็ไม่เกี่ยวกับเครื่องบินเลย แต่มันมีไหมที่ร้านอาหารที่ไม่ขายเครื่องดื่ม

“คุณเห็นสนามบินนานาชาติไม่มีธุรกิจดิวตี้ฟรี ไม่มีร้านค้า แล้วเปิดให้บริการได้ มันมีไหม มันเหมือนคุณกำลังจะบอกว่าร้านอาหารไม่จำเป็นต้องขายเครื่องดื่ม คุณเคยเห็นไหมร้านอาหารไหมไม่ขายเครื่องดื่มแล้วเปิดร้านอาหารได้ไหม ท่าอากาศยานก็เหมือนกันแหละครับ” วรวุฒิตั้งคำถามชวนคิดทิ้งท้าย

นี่เป็นจุดเริ่มต้นของสัมปทานดิวตี้ฟรียกแรกเท่านั้น ยังมีอีกหลายยกที่ประชาชนและหลายภาคส่วนต้องคอยติดตามกันต่อไป