Site icon Thumbsup

โลกธุรกิจที่เปลี่ยนไป ด้วยเทรนด์เศรษฐกิจแบ่งปัน

sipa-2-sharing-economy

กระแสเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) กำลังมาแรงในขณะนี้ เห็นได้จากการเปิดตัวของแอปพลิเคชันต่าง ๆ และซอฟต์แวร์ใหม่ ๆ นั้นมีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันเป็นอย่างมาก เช่น Airbnb ที่ให้บริการเช่าที่พักถูกกว่าโรงแรม, Uber ที่สามารถเอารถส่วนตัวมาหารายได้ และ Grab แอปฯ เรียกแท็กซี่อัจฉริยะ เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในยุค Sharing Economy และแน่นอนประเทศไทยคงวิ่งหนีเทรนด์นี้ไม่ได้

โครงสร้างธุรกิจแบบ Sharing Economy เป็นการทำธุรกิจในรูปแบบ Next Generation ซึ่งช่วยให้บุคคลหรือองค์กรสามารถสร้างรายได้จากสิ่งของหรือทรัพย์สินที่ตนมีมากเกินความจำเป็น (Excess Capacity) โดยให้บริการบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ตโฟน หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ เพื่อเชื่อมต่อระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการในการเข้าถึงสินค้าหรือบริการ โดยผู้รับบริการจะใช้ข้อมูลบนเครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นพื้นฐานที่ช่วยในการตัดสินใจ ตั้งแต่รถยนต์ ห้องพัก ไปจนถึงเสื้อผ้า ของมือสอง และกระเป๋าแบรนด์เนม ฯลฯ

บริษัท PwC Consulting เปิดเผยถึงผลสำรวจ The Sharing Economy โดยได้ทำการสำรวจผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกา จำนวน 1,000 รายว่า ปัจจุบันกระแสเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) กำลังถูกพูดถึงในวงกว้าง และมีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัลเป็นอย่างยิ่ง และคาดการณ์ว่าในปี 2568 กลุ่มอุตสาหกรรมที่นำแนวคิดเศรษฐกิจแบ่งปันมาปรับใช้กับธุรกิจคือ กลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (Travel) ธุรกิจให้บริการโดยสารทางรถยนต์ รถเช่า และแบ่งปันรถยนต์กันใช้ (Car Sharing) ธุรกิจการเงิน (Finance) ธุรกิจจัดหาบุคคลเข้าทำงาน (Staffing) และธุรกิจบริการเพลงหรือวิดีโอแบบสตรีมมิ่ง (Music and Video Streaming) จะช่วยผลักดันให้มูลค่าของตลาด Sharing Economy เติบโตถึง 11 ล้านล้านบาท (3.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) จากปัจจุบันประมาณ 5 แสนล้านบาท

ตัวอย่างของธุรกิจยอดฮิตแบบ Sharing Economy ที่กำลังเป็นกระแสในสังคมออนไลน์ทั่วโลก ได้แก่ บริษัท Airbnb ตลาดชุมชนที่ผู้เข้าพักสามารถจองที่พักจากเจ้าของที่พัก โดยเน้นการนำเสนอประสบการณ์ของผู้เข้าพักและเจ้าของที่พัก และเชื่อมโยงคนที่มีที่พักว่างกับคนที่กำลังมองหาที่พักเข้าหากัน ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการโดยเฉลี่ยกว่า 425,000 รายต่อคืน และมีเครือข่ายการให้บริการใน 190 ประเทศทั่วโลก ถือเป็นหนึ่งในบริษัท Startup ที่เติบโตและประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วที่สุดบริษัทหนึ่งในตลาดนี้

ในขณะที่ Spotify ผู้ให้บริการเพลงแบบสตรีมมิ่งมีผู้ใช้งานทั่วโลกกว่า 40 ล้านราย และ Uber ยังถือเป็นบริษัทผู้ให้บริการรถแท็กซี่ในรูปแบบรถลีมูซีนรายใหญ่ของโลก ที่ใช้การเรียกบริการผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน และมีบทบาทสำคัญในการพลิกโฉมการดำเนินธุรกิจในรูปแบบ Sharing Economy และแม้ว่า Uber จะถูกตรวจสอบจากสาธารณชน เกิดการประท้วง คดีความ และข้อโต้แย้งทางกฎหมายต่าง ๆ ในหลาย ๆ ประเทศในช่วงที่ผ่านมา แต่แท็กซี่หรู Uber ก็ยังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคและสามารถขยายกิจการไป 250 ประเทศทั่วโลกได้ในเวลาเพียง 5 ปี และมีมูลค่าบริษัทกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่ามาร์เก็ตแคปของสายการบินอเมริกันบางรายเสียอีก

ในประเทศไทยเอง Sharing Economy อาจจะยังไม่เติบโตเท่าไหร่ แต่ลึก ๆ แล้วก็กำลังขับเคลื่อนอย่างมีนัยสำคัญ เพราะจำนวนผู้แชร์ที่พักกำลังมีจำนวนเพิ่มและใช้บริการที่พักผ่านแอปฯ มากขึ้น หรือแม้แต่การใช้บริการแท็กซี่ผ่านแอปฯ ก็มีมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการให้เลือกอยู่หลายรายด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น Easy Taxi, Grab Taxi, Uber หรือ All Thai Taxi ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นในวงการแท็กซี่ไทย

เราเห็นได้ชัดว่าการทำธุรกิจในปัจจุบันได้เปลี่ยนรูปแบบไปอย่างสิ้นเชิง เราไม่จำเป็นต้องลงทุนมากมาย แต่เพียงแค่เอาสิ่งที่มีอยู่แล้วมาทำให้เกิดตัวเงิน โดยการใช้แอปพลิเคชัน ซึ่งนั่นทำให้เกิดธุรกิจที่แตกแขนงออกมาหลายรูปแบบเรียกว่า Tech Startup ปัจจุบันการส่งเสริม Tech Startup เป็นหนึ่งในเทรนด์ที่หลายหน่วยงานทั้งเอกชนและรัฐให้ความสำคัญ ดังจะเห็นว่าองค์กรหลาย ๆ องค์กรได้เข้ามามีส่วนในการสนับสนุนกับ Startup หน้าใหม่ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และสามารถนำไปต่อยอดได้ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA หนึ่งในผู้สนับสนุนหลัก ได้ให้การส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ทางด้านดิจิทัล (Tech Startup) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศผ่านทางผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสร้างกำลังคนทางด้านดิจิทัลจำนวนมาก

ปัจจุบัน SIPA ได้ผลักดัน Tech Startup ผ่านโครงการหลากหลายเพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ เช่น การบ่มเพาะ อบรม และการประกวดผลงานนวัตกรรม การพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์บนพื้นฐานของนวัตกรรมธุรกิจ และการเร่งพัฒนาศักยภาพสู่ระดับสากล ตลอดจนถึงการสร้างโอกาสทางการตลาด การขยายตลาด และการผลักดันการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเกิดขึ้นของ Tech Startup

แนวโน้มของ Sharing Economy จะผลักดันให้เกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ ซึ่งมีพร้อมทั้งบริการที่เข้าถึงผู้บริโภค และการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ผ่านซอฟต์แวร์ และแอปพลิเคชัน นั่นจึงเป็นความท้าทายที่ภาคธุรกิจและเอสเอ็มอีต้องปรับตัวเพื่อรับกับโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ และต้องคำนึงถึงกฎหมายของประเทศนั้น ๆ ด้วย ซึ่งปัจจุบัน ธุรกิจอย่าง Uber ก็ยังมีปัญหาอยู่ในบางประเทศและถูกเรียกร้องให้เลิกบริการ และอีกไม่นาน เราจะเห็นธุรกิจไทยเป็นแบบ Sharing Economy มากยิ่งขึ้น โดยภาคส่วนต่าง ๆ จะเชื่อมเข้าหากัน และภาคธุรกิจจะแบ่งปันหรือใช้ทรัพยากรร่วมกันเพิ่มมากขึ้น

บทความนี้เป็น Advertorial