Site icon Thumbsup

สรุปย่อทิศทางเทคโนโลยี Apple หลังงาน WWDC

ผ่านไปเรียบร้อยแล้วสำหรับงาน Worldwide Developers Conference (WWDC) กับ Keynote ที่คนทั่วโลกรอคอย Apple ออกมาประกาศเปลี่ยนแปลงวงการเทคโนโลยีอีกครั้งด้วยการประกาศศักดาของการอัพเกรดระบบปฎิบัติการ OS X Lion บนเครื่อง Mac, ระบบปฎิบัติการ iOS 5 บน iPhone ที่มาพร้อมกับความสามารถใหม่ๆ อาทิ ระบบ iMessage ที่จะมาฆ่า BBM? ของ BlackBerry, น่าสนใจกว่าระบบ SMS? ปัจจุบันที่ค่ายมือถือทั่วโลกต้องจับตามอง? และที่สำคัญที่สุดคือระบบ iCloud และระบบซื้อเพลง iTunes Match ในราคาปีละ 24.99 เหรียญ เรียกได้ว่ารายชื่อในการอัพเดตมีเพียบจริงๆ มาไล่ดูกัน รายละเอียดเยอะมาก ผมขอสรุปรวมจากทั้งแหล่งของฝรั่งคือ TechCrunch, Engadget ส่วนของไทยคือ Blognone และสืบเพิ่มเติมเรียบเรียงเองนะครับ

 

OS X Lion – จากแฟน Mac 54 ล้านเครื่องทั่วโลก เติบโต 28% จากปีที่ผ่านมาในขณะที่ตลาด PC ยอดตกลง 1% แม้จะยังไม่ได้แสดงตัวเลขของ smartphone และ Tablet แต่ทาง Apple ก็เป็นผู้ผลักดันสองอย่างนี้มาตลอด? และยังออกมากล่าวอีกว่า 72% ของคอมพิวเตอร์ที่ขายได้เป็นโน้ตบุ๊ค นอกจากนั้นก็จะเป็น iMac และระบบปฎิบัติการคอมพิวเตอร์ที่เป็นหัวใจของ Apple มาตลอดก็ได้เวลาอัพเกรด จากที่ผ่านมาตัวล่าสุดคือ Snow Leopard ตอนนี้อัพเดตใหม่เป็น Lion ที่นักพัฒนาทั่วโลกทดสอบกันมาหลายเดือนแล้ว พร้อมวางจำหน่ายในเดือนกรกฏาคมในราคา 29.99 เหรียญ ผ่านทาง Mac App Store ไฟล์ใหญ่ราว 4GB

ความสามารถใหม่ๆ ของเจ้า OS X Lion มีมากกว่า 250 อย่าง ซึ่งก็คือ การสนับสนุนการใช้งานแอพพลิเคชั่นแบบเต็มจอ (Fullscreen Apps),??AirDrop ฟังก์ชั่นคล้ายๆ กับ Dropbox ให้คุณทำงานได้ระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ได้หลายเครื่อง,?เซฟสกุลไฟล์ของเอกสารอัตโนมัติระหว่างทำงาน, Autosave งานของคุณโดยไม่ต้องทำอะไรมาก, ระบบการ Launch แอพพลิเคชั่นที่เรียกว่า Resume, Mac Mail Version 5 และ Multitouch Gesture ที่เปิดให้คุณควบคุมสิ่งต่างๆ ด้วยทัชแพดมากขึ้น โดยสามารถสลับไปมาระหว่างแอพลิเคชั่น หรือกลับไปที่หน้า Mission Control ได้จากทัชแพดเพียงอย่างเดียว ดูรายละเอียดทั้งหมดได้ที่นี่ รวมๆ แล้วที่น่าสังเกตคือมีความคล้ายกับ iOS มากขึ้นเยอะทีเดียว

iOS 5 – สาวก iPhone ทั่วโลก ที่จะรอ iPhone 5 คงหลับตาฝันกันเคลิ้มทีเดียวเมื่อพบว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของระบบปฎิบัติการบน iPhone รุ่นที่ 5 นี้มีความสามารถเพียบพร้อมหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น
ระบบ Notification ที่ปรับปรุงหน้าจอแจ้งเตือนกันใหม่ ดูกันได้ตั้งแต่หน้าแรกว่ามีการแจ้งเตือนอะไรบ้าง มีการลากลงมาดูจากด้านบนของหน้าจอได้คล้าย Android? ที่น่าสนใจคือมันมารวมอยู่ที่เดียวแล้วเรียกดูได้ง่ายกว่าเดิม จากนั้นเป็นระบบ Newsstand: คราวนี้มีหน้ารวมสำหรับคนที่ชอบการซื้อเนื้อหาอย่างอีบุ๊คส์ต่างๆ คราวนี้เน้นเนื้อหาแบบอ่านสั้นๆ มากขึ้น นั่นก็คือนิตยสาร และหนังสือพิมพ์ออนไลน์ …. และอันนี้ชอบมาก! Twitter… ใครที่ใช้งาน Twitter บ่อยๆ ต่อไปนี้ Twitter จะทำงานร่วมกับ iPhone อย่างใกล้ชิดมากขึ้น เพราะระบบแอพพลิเคชั่นมาตรฐานของ iPhone อย่าง Camera, บราวเซอร์ Safari, Maps, และ YouTube จะสามารถส่งทวีตได้ทันที ตรงนี้น่าสนใจว่า Twitter จะทำแบบนี้กับ Android ด้วยหรือเปล่า

โดยรวมต้องบอกว่า “ประสบการณ์ของผู้ใช้” หรือ user experience เกือบทั้งหมดจะพลิกโฉมอีกครั้ง เพราะมันจะมีการเปลี่ยนแปลงหมด ไม่ว่าจะเป็นตัว Camera/iPhoto, Safari, Wi-Fi Sync, AirPlay, Mirror, Multitasking Gestures, Game Center, Mail และ Calendar? ถ้าอยากรู้เร็วๆ ไม่ต้องอ่านมาก แนะนำให้ดูวิดีโอของ Apple ที่นี่เลยครับ จะเห็นภาพรวมของ User Interface ที่เปลี่ยนไปเกือบทั้งหมด รวมทั้งเทคโนโลยีที่น่าสนใจหลายๆ ตัว และที่น่าสนใจมากๆ อีกอย่างก็คือฟีเจอร์? iMessage ที่จะเปิดให้ผู้ใช้ iPhone สามารถส่งวิดีโอ ตัวอักษร ภาพ Group message บริการตัวนี้จะทำงานผ่าน WiFi และ 3G และ Push message ข้ามเครื่อง iOS ทั้งหมด งานนี้ต้องรอ RIM ผู้สร้าง BlackBerry ว่าจะตอบโต้และรักษาตลาดของตัวเองอย่างไรต่อไป

iCloud – ในรอบหลายปีที่ผ่านมาระบบ Cloud Computing เข้ามามีส่วนสำคัญในแวดวงเทคโนโลยีอย่างมหาศาล นี่เป็นความเคลื่อนไหวที่สำคัญอีกครั้ง เมื่อ Apple? จัดทำระบบ Server สำหรับ Sync ข้อทูลทุกประเภทตั้งแต่ เอกสาร, ภาพ, เพลง, และแอพพลิเคชั่นที่เรามี แต่มีข้อจำกัดว่า
– เมล, ปฎิทิน, และเอกสารจะเก็บได้ไม่เกิน 5GB ต่อคน
– รูปภาพจะเก็บเฉพาะ 1000 ภาพล่าสุด และเก็บไว้ 30 วันเท่านั้น
– แอพพลิเคชั่นจาก App Store สามารถดึงไปยังเครื่องที่ผู้ใช้เดียวกันได้ทันที
– เพลงก็เช่นเดียวกับแอพลิเคชั่น ไม่มีจำกัดขนาดแต่ลงได้ไม่เดิน 10 เครื่องพร้อมกัน

ในฐานะผู้ใช้คนหนึ่ง ผมไม่ค่อยอยากลงรายละเอียดเท่าไหร่ใน Cloud Computing ว่ามันทำงานลึกๆ อย่างไร แต่ที่ผมสนใจมากที่สุดก็คือ บริการ iTunes Match แม้จะเป็นเพียงส่วนเสริมของ iCloud แต่มันมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรม Content พอตัว เพราะบริการ iTunes Match เป็นบริการซื้อเพลง โดยระบบจะตรวจดูว่ามีเพลงอะไรในเครื่อง iOS ของเรา และเทียบกับฐานข้อมูลของ Apple ว่าซ้ำกันหรือไม่ หากไม่ซ้ำก็จะสามารถ Sync เอาเพลงเหล่านั้นผ่านระบบ iCloud มาลงเครื่องของเราได้ โดยคิดค่าบริการปีละ 24.99 เหรียญ และเครื่องที่ Sync จะได้ไฟล์ ACC แบบ 256 kbps แบบไม่มี DRM? ตอนนี้มีให้บริการเฉพาะในสหรัฐฯ เท่านั้น

บริการ iTunes Match จึงเป็นบริการซื้อเพลง (ที่มีอยู่บนฐานข้อมูลของ Apple กว่า 18 ล้านเพลง) คุณภาพสูง, ใส่ข้อมูลเพลงให้อย่างถูกต้อง, แถมภาพสแกนปกซีดี, และสามารถ Sync ได้ทุกเครื่องไม่ว่าจะเป็น iPad, iPhone, Mac และ PC ก็น่าจะทำให้คนจำนวนไม่น้อยใช้บริการนี้ แม้จะมีข้อจำกัดของบริการนี้อยู่บ้างคือ หากเพลงที่เราต้องการจะ Sync นั้นไม่มีบนฐานข้อมูลของ iTunes ก็จะใช้ไม่ได้ เงินที่จ่ายเกือบ 25 เหรียญค่า Sync เพลงนี้อาจไม่คุ้มเท่าไหร่

แต่เท่าที่สืบมาเพิ่มเติมได้ สิ่งที่น่าสนใจอีกประการก็คือ Apple ก็เซ็นสัญญากับค่ายเพลงยักษ์ใหญ่อย่าง Universal Music นำเสนอเพลงที่คุณอาจจะไม่เคยมีอยู่ใน iTunes ก็ได้ พูดง่ายๆ ในเชิงธุรกิจก็คือ Apple เป็นตัวกลางระหว่างค่ายเพลงและศิลปิน กับผู้ฟัง ใครที่มีเพลงๆ นั้นอยู่ใน iTunes แล้วก็ไม่ต้อง Sync แต่ถ้าอยากได้เพลงใหม่ๆ ก็เลือกซื้อใหม่ก็ได้เช่นกัน นึกภาพว่าเราอยากได้เพลงใหม่ของ Lady Gaga, U2 ก็ทำได้ไม่ยากเลย Apple ทำตารางเทียบกับคู่แข่งมาให้ดูกันจะจะเลย

โดยภาพรวมทั้งหมดนี้ Apple ได้ปรับให้อุปกรณ์ของตัวเองทำงานร่วมกันมากขึ้น จะสังเกตได้ว่าระบบปฎิบัติการ Lion ทำให้ Mac ทำงานด้านแอพพลิเคชั่นได้มากขึ้น ใช้ระบบ iCloud Sync กันกับ ระบบปฎิบัติการ iOS 5 ที่จะรันผ่านเครื่อง iPad, iPhone, iPod ได้อย่างแนบแน่น ตอกย้ำการเป็นผู้ให้บริการระบบ distribution ของเนื้อหาต่างๆ ในโลกนี้สู่ผู้เสพเนื้อหาและแอพพลิเคชั่นต่างๆ และการเปลี่ยนแปลงอะไรที่อยู่บนอุปกรณ์เหล่านี้ของ Apple จะส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิมหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น SMS ของค่ายมือถือ (ที่ก็โดน Twitter และ WhatsApp แย่งไปแล้วก่อนหน้านี้) หรือจะเป็นการซื้อเพลงผ่านช่องทางใหม่ๆ สำหรับเมืองไทย เท่าที่ผมดู เขาไม่ค่อยมีนโยบายมาเปิดบริการในบ้านเราสักเท่าไหร่ อาจจะเป็นเพราะขนาดของตลาดที่เล็ก และเรื่องกฏหมายไลเซนส์เนื้อหาต่างๆ สิ่งที่ทำได้ตอนนี้ก็คือขายเครื่องไป และยังคงไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรมากมายนัก เพราะส่วนหนึ่งการที่ Content purchasing จะเวิร์คได้ ก็ต้องมีระบบการจัดการเรื่องลิขสิทธิ์ทางปัญญาที่ชัดเจนเสียก่อน บ้านเรายังไกลจุดนั้นอีกมาก

หรือคุณคิดเป็นอย่างอื่น? แชร์กับเรานะครับ