เอไอเอสชี้ การแข่งขันในยุคดิจิทัล ไทยยังมีโอกาส แต่โอกาสของยุคนี้ไม่ใช่การแข่งขันแบบกินรวบอีกต่อไป แต่อาจเป็นการสร้าง Ecosystem ร่วมกับพาร์ทเนอร์ให้ได้ พร้อมมองว่าการมาถึงของดิจิทัลจะสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นใน 10 – 20 ปีนับจากนี้อีกมหาศาล และบางธุรกิจอาจไม่ต้องลงทุนด้านกายภาพใด ๆ เลยก็ได้หากมีการวางแผนสร้างแพลตฟอร์มที่ดี ส่งผลต่อการแถลงวิสัยทัศน์ของเอไอเอสในปีนี้ ที่มุ่งสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในสามด้านหลัก ๆ นั่นคือ การมุ่งสู่แพลตฟอร์ม IoT, VDO และ Virtual Reality
ภาพรวมไทยพร้อมก้าวสู่ดิจิทัล?
โดยข้อมูลที่เอไอเอสนำมาแสดงบนเวทีนั้นเป็นตัวเลขประชากรโลกที่ปัจจุบันอยู่ที่ 7.512 พันล้านคน ในจำนวนนี้ ครึ่งหนึ่ง (3.773 พันล้านคน) สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้แล้ว แต่หากนับเป็นจำนวน Mobile Users แล้ว จะพบว่าอยู่ที่ 65% หรือหากมองมาที่ประเทศไทย ที่มีประชากร 68 ล้านคน ประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตมีประมาณ 50% แต่เรามี Mobile Users แล้วที่ 47.9 ล้านคน หรือคิดเป็น 70% ของจำนวนประชากร นอกจากนี้ยังพบว่าเป็นผู้ใช้งาน Social Media มากกว่า 46 ล้านคนด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น ปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตของกลุ่ม Mobile User ชาวไทยก็ยังเพิ่มขึ้นถึง 80% จากเดิมที่ใช้อยู่ที่ 3.8 GB ต่อคนต่อเดือนในปี 2016 เพิ่มเป็น 7.3 GB ในปี 2017 ส่วนปี 2018 คาดการณ์ว่าจะเกิน 10GB ต่อคนต่อเดือนด้วย และเวลาที่ใช้ Social Network ยังเพิ่มขึ้น 60% จาก 3 ชั่วโมงต่อคนต่อวันในปี 2016 เป็น 4.8 ชั่วโมงในปี 2017 ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีการผลิตและบริโภคคอนเทนต์บน Social Media สูงที่สุดในโลกไปโดยปริยาย
เอไอเอสยังพบว่า คนไทยสนใจคอนเทนต์สตรีมมิ่งเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 41 ล้านคน ขณะที่ตัวเลขผู้ชมทีวีปกตินั้นอยู่ที่ 67 ล้านคน และ 80% ของคอนเทนต์ที่รับชมเป็นคอนเทนต์จากคนไทยกันเอง ส่วนในภาคธุรกิจ เอไอเอสมองว่าการใช้งานคลาวด์ได้กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว โดยพิจารณาจากตัวเลขการเติบโตของธุรกิจ AIS Business Cloud ที่ปัจจุบันมีลูกค้า 1.2 ล้านราย ทั้งหมดนี้น่าจะแสดงถึงความพร้อมและความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีดิจิทัลในระดับหนึ่งของประเทศไทยได้ดี
แต่สิ่งที่เอไอเอสมองเห็นอีกข้อก็คือ ในการบริโภคคอนเทนต์ดิจิทัลของคนไทยนั้น ส่วนใหญ่ยังอิงอยู่กับแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ ซึ่งในจุดนี้จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้โอกาสในการแข่งขันของบ้านเราลดลงด้วย เพราะคนไทยจะไม่สามารถออกกฎควบคุมใด ๆ กับแพลตฟอร์มจากต่างชาติได้
คุณสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า ไทยเหลือโอกาสอีก 3 ปีกับการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการไหลบ่าของยุคดิจิทัล กับการมาถึงของยุค IoT ที่มนุษย์หนึ่งคนอาจพกพาอุปกรณ์ IoT เฉลี่ย 7 ชิ้น ในมุมมองของเอไอเอส มองว่า นี่คือโอกาสของประเทศไทย แต่เราจะต้องฉวยโอกาสนี้ให้ได้ด้วยการพัฒนาบุคลากรของบ้านเราให้สามารถแข่งขันได้ และสองคือการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับคนไทย เพื่อลดการพึ่งพาต่างชาติ
โดยแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ทางเอไอเอสจะพัฒนานั้นประกอบด้วย 3 แพลตฟอร์ม ดังนี้
1. AIS IoT Alliance Program – AIAP
โครงการความร่วมมือของสมาชิก 70 รายจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี IoT ไม่ว่าจะเป็นองค์กรหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ มหาวิทยาลัย ผู้ผลิตเทคโนโลยี นักพัฒนาอุปกรณ์และซอฟท์แวร์ ทั้งในและต่างประเทศ ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความรู้ความสามารถ, Product, Service หรือ Solution เพื่อให้เกิดการพัฒนา IoT Solution/Business Model ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม ขยายประโยชน์สู่ภาคประชาชน เสริมการบริหารจัดการในทุกภาคส่วน
2. The Play 365
Local VDO Platform ที่เปิดโอกาสให้ศิลปิน สื่อมวลชน นักสร้างสรรค์ Content ทุกวงการสามารถนำเสนอผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้น สร้างโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคชาวไทยทุกคน พร้อมโครงสร้างรายได้และโมเดลที่เหมาะสม สอดคล้องกับตัวเลขผู้ชมที่แท้จริง
3. AIS IMAX VR
VR Content Platform ที่เปิดโอกาสให้นักพัฒนา VR Content สามารถเรียนรู้จากผู้ผลิต VR อันดับหนึ่งของโลกอย่าง IMAX พร้อมโครงการ VR Content Creator Program ที่เอไอเอสได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นเวทีของการสร้าง Content VR ให้กับอุตสาหกรรม
ไทยต้องลุยด้านวิจัยและพัฒนา
ด้านคุณกานต์ ตระกูลฮุน หัวหน้าทีมภาคเอกชนการยกระดับนวัตกรรมและ Digitalization คณะกรรมการสานพลังประชารัฐและประธานกรรมการเอไอเอสกล่าวว่า ภาพรวมด้านความสามารถในการแข่งขันของไทยนั้น จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาในเรื่องการสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ
โดยที่ผ่านมา งบประมาณจากภาครัฐและภาคเอกชนที่ใช้ในการวิจัยและพัฒนานั้นถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก (ไม่ถึง 1% ของจีดีพี) แต่ในปี 2018 นี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจนอยู่ที่ 1% และเติบโตจนเป็น 1.5% ต่อจีดีพีภายในปี 2021 ซึ่งคุณกานต์เชื่อว่า การเพิ่มขึ้นของตัวเลขดังกล่าวจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศไทยอย่างมหาศาล เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รัสเซีย จีน สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย อังกฤษ เยอรมนี และอีกหลายประเทศทั่วโลก
แต่การจะไปให้ถึงเป้าหมายดังกล่าว ไทยยังต้องเพิ่มบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาให้อยู่ในสัดส่วน 25 คนต่อประชากร 10,000 คนด้วย
จากข้อมูลของ Bloomberg 2018 Innovation Index ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดด้านนวัตกรรม พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 45 จากทั้งหมด 50 อันดับ ขณะที่ 10 อันดับแรกของตารางนั้นมีเพียงประเทศสิงคโปร์ (อันดับสาม) ที่มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทั้งนี้ เอไอเอสย้ำในตอนท้ายด้วยว่า บริษัทมีความเชื่อมั่นว่าเหล่านี้คือหนทางสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน และจะสามารถสนับสนุนเป้าหมายของภาครัฐในการนำพาประเทศไทยสู่ Thailand 4.0 ที่มีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือได้อย่างยั่งยืนด้วย