Site icon Thumbsup

Baidu แนะ เมื่อแบรนด์เจอปัญหาเชิงลบควรแก้อย่างไร

ท่านผู้อ่านเคยรับชมคลิปสาวไทยที่มอบพวงมาลัยให้นักท่องเที่ยวจีนที่กำลังเป็นกระแสดังในช่วงนี้ไหมคะ วันนี้ทาง thumbsup มีคำแนะนำจากไป่ตู้ แอคเซส เกี่ยวกับปัญหานี้มาแชร์กันค่ะ

ลองชมคลิปที่กำลังเป็นกระแสกันก่อนนะคะ (ต้องขอขอบคุณคลิปจาก มติชนทีวีด้วยนะคะ) โดยเนื้อหาภายในคลิปเป็นการแอบถ่ายสาวคนหนึ่งที่กำลังคล้องพวงมาลัยให้กับนักท่องเที่ยวแบบสีหน้าบูดบึ้ง แต่พอถ่ายรูปก็ยิ้มหวาน และชาวจีนที่ได้เห็นคลิปนี้ก็นำไปล้อเลียนทำนองว่า สาวคนนี้จะยิ้มแย้มกว่านี้ หากนักท่องเที่ยวที่ได้รับพวงมาลัย มอบเงินเป็นค่าตอบแทนสักหน่อย

ซึ่งกระแสดังกล่าว กลายเป็นข่าวดังในสื่อออนไลน์และออฟไลน์เลยทีเดียวนะคะ หากนำเรื่องราวดังกล่าวมาเป็นกรณีศึกษาเปรียบเทียบสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ถ้าแบรนด์ให้บริการหรือดูแลลูกค้าไม่ดี ควรแก้ไขปัญหานี้อย่างไร ซึ่งทาง thumbsup ได้รับคำแนะนำที่ดีจาก คุณพัชรพร สิริทรัพย์วงศ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด และประชาสัมพันธ์ ไป่ตู้ แอคเซส ประเทศไทย ที่ปรึกษาด้านการทำโฆษณาและสื่อประชาสัมพันธ์ออนไลน์จีน เล่าให้ฟังว่า ประชากรจีนมีจำนวนมากที่สุดในโลก และคนเหล่านี้เข้าถึงโลกออนไลน์ได้เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 50% ของประชากรทั้งหมด ดังนั้นพวกเขาจะเชื่อการบอกต่อหรือบอกเล่าทั้งจาก Influencer หรือ Micro Influencer มาก เพราะมองว่าคนกลุ่มนี้ได้ใช้งานจริงและเจอปัญหาจริง

ทางด้านของการโฆษณาแบบเดิมก็ยังใช้งานได้แต่อาจไม่ได้มีผลตอบรับจากลูกค้ามากนัก เมื่อเทียบกับการสื่อสารแบบ KOL (Key Opinion Leader) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนรุ่นใหม่มั่นใจว่าพวกเขามีมาตรฐานและหลักการที่ชัดเจนในการให้ข้อมูลด้านสินค้า รวมทั้งมีธีมที่ชัดเจนไปเลยว่าจะรับรีวิวสินค้าประเภทไหน เช่น Beauty, Family, Sport, Travel ซึ่งแบรนด์ควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับประเภทสินค้าของคุณ

ดังนั้น ข้อควรระวังที่ทางไป่ตู้ จะแนะนำและชี้แจงให้แบรนด์ทราบ เกี่ยวกับข้อห้ามในการรีวิวที่ประเทศจีนนั้น ประกอบไปด้วย

  1. ทำโปรโมชั่นแบบสร้างการ engagement แบบทันทีนั้น ไม่สามารถทำได้ เช่น การแลกรับสินค้าแบบทันท่วงทีเมื่อนำภาพใน Page มาแสดงที่หน้าเคาน์เตอร์เพื่อรับสินค้าหรือสิทธิพิเศษเพิ่มเติม แต่สิ่งที่ทำได้คือการโฆษณาสินค้าหรือโปรโมชั่นที่มีอยู่แล้ว ส่วนสาเหตุที่การโฆษณาแบบแรกทำไม่ได้นั้น เพื่อควบคุมการทุจริตและนำมาใช้ซ้ำของลูกค้า และต้องเข้าใจด้วยว่าประชากรจีนมีเยอะมาก หากมีคนมาใช้สิทธิ์พร้อมกันอาจจะเจอผลกระทบกับแบรนด์ได้ 
  2. โฆษณาเชิงสรรพคุณไม่ได้ การใช้คำโฆษณาว่าใช้สินค้าชิ้นนี้แล้วขาว ผอม สวยนั้น ทำไม่ได้ เพราะเป็นการอวดอ้างเกินจริง หรือคำโฆษณาที่บอกว่าใช้สินค้านี้แล้ว จะช่วยให้สุขภาพดีขึ้น หายป่วยในทันที หรือคุณลักษณะของผู้ใช้งานจะเปลี่ยนได้ทันที ถือว่าเป็นใช้คำพูดลักษณะนี้คือการชวนเชื่อหลอกลวงและกล่าวอ้างเกินจริง
  3. การรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลที่จะแนะนำว่าใครดีกว่าใครนั้น ก็ทำไม่ได้ เช่น การโฆษณาที่บอกว่ามีตัวยาหรือคุณหมอ A มีฝีมือดีกว่าหมอคนอื่นในโรงพยาบาล แต่สามารถให้ข้อมูลประชาสัมพันธ์โรงพยาบาลเชิงภาพลักษณ์ได้ เช่น ได้รับมาตรฐานจากหน่วยงานใดบ้าง หรือมีเครื่องมือทันสมัย ความสะอาด ความปลอดภัยแบบทั่วไปจะทำได้เพราะไม่ได้เป็นการโฆษณาสรรพคุณ 

ส่วนคำแนะนำ หากว่าเจอผลกระทบในเชิงลบนั้น สิ่งที่แบรนด์ควรทำคือการไม่ป่าวประกาศแบบ Official จะไม่ส่งผลร้ายมากนักและคนฟังอาจเข้าใจว่าเป็นเรื่องกระทบกระทั่งระหว่างบุคคล เพราะถ้าแบรนด์เป็นคนออกประกาศไปเอง สิ่งที่จะย้อนกลับมาคือภาพลักษณ์ที่แย่และสร้างความไม่พอใจได้ เช่น กรณีของประเทศเกาหลีใต้ ที่มีช่วงหนึ่งกำลังได้รับความนิยมในการเดินทางไปเที่ยวจากนักท่องเที่ยวจีน แต่เมื่อมีการประกาศห้ามนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้าประเทศ เพราะสร้างความเสียหาย กลายเป็นว่าตอนนี้ชาวจีนแอนตี้และไม่ไปท่องเที่ยวจนส่งผลกระทบด้านรายได้ ทำให้ตอนนี้ทางเกาหลีต้องเร่งสร้างภาพลักษณ์ที่ดีเพื่อดึงชาวจีนกลับมาอีกครั้ง

การทำโฆษณาให้ชาวจีนที่มีประชากรมากที่สุดในโลกนั้น อาจไม่ได้เจอแต่เรื่องดีทั้งหมด เพราะคนเราอาจมีเรื่องกระทบกระทั่งกันได้ สิ่งที่ควรระวังคืออย่าสร้างความขัดแย้งให้เป็นเรื่องใหญ่เพราะจะสร้างผลกระทบในวงกว้างมากกว่า อีกทั้งภาพลักษณ์ของคนไทยในสายตาชาวจีนคือเป็นคนใจดี อัธยาศัยดี อาหารอร่อย ผู้คนเป็นมิตร จึงควรรักษาความมีเสน่ห์เหล่านี้ไว้ดีกว่านคะ