Site icon Thumbsup

เบียร์ Beck’s โชว์ “โปสเตอร์โฆษณาเล่นเพลงได้”

beck1

หลายครั้งที่เราเห็นสื่อไฮเทคถูกนำมาประยุกต์ใช้กับแคมเปญโฆษณาได้อย่างเก๋ไก๋ สำหรับครั้งนี้ Beck’s Beer สามารถทำให้โลกจดจำได้ด้วยการโชว์ตัวโปสเตอร์โฆษณาที่ Beck’s อ้างว่าเป็นชุดแรกในโลกที่สามารถเล่นเพลงได้ แถมยังสร้างความประทับใจให้ผู้สัญจรไปมาที่ได้ร่วมเล่นและสัมผัสกับโปสเตอร์ไฮเทคนี้อย่างไม่รู้ลืม

เบียร์ดังแดนตะวันตก Beck’s เรียกสื่อโฆษณาล่าสุดของตัวเองว่า playable posters หรือโปสเตอร์โฆษณาที่เล่นเพลงได้ โดย Beck’s นำโปสเตอร์นี้มาติดไว้ที่เมือง Auckland ในนิวซีแลนด์ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งคาดว่าจะมีการวนเวียนนำโปสเตอร์นี้ไปจัดกิจกรรมที่เมืองอื่นตลอดปีเพื่อจุดกระแสว่า “Beck’s เปลี่ยนเบียร์ให้เป็นศิลปะตั้งแต่ 140 ปีที่แล้ว” ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ความสามารถของโปสเตอร์นี้คือผู้ใช้สามารถจรดนิ้วบนโปสเตอร์ เพื่อฟังเสียงเพลงหลากทำนองจากลำโพงที่ฝังอยู่ในโปสเตอร์แต่ละแผ่น โดยเบื้องหลังที่ทำให้โปสเตอร์เหล่านี้เปล่งเสียงได้คือหมึกนำไฟฟ้าหรือ conductive ink ซึ่งจะทำงานร่วมกับเซ็นเซอร์จับความเคลื่อนไหว นี่เองที่ทำให้โปสเตอร์เปล่งเสียงหลากหลายตามตำแหน่งที่ผู้ใช้จรดนิ้วลงบนโปสเตอร์

โปสเตอร์นี้ไม่เพียงสามารถส่งเสียงหลากหลาย แต่ Beck’s สร้างสรรค์ให้ผู้ใช้สามารถผสมเสียงหรือมิกซ์เสียงออกมาเป็นเพลงใหม่ของตัวเองได้อย่างเสรี จุดนี้ทำให้ผู้ร่วมสนุกสามารถบันทึกวิดีโอเพื่อเก็บผลงานไว้ฟังหรืออัปโหลดเสียงเพื่อโชว์เพื่อนในเครือข่ายสังคมได้

สิ่งที่ Beck’s ทำร่วมไปกับการโชว์โปสเตอร์นี้ คือการชวนชาวเมือง Auckland มาร่วมแข่งขันสร้างเสียงเพลงด้วยโปสเตอร์ไฮเทค เพื่อชิงตั๋วร่วมงาน The Phoenix Foundation จำนวน 2 ใบ ซึ่งเป็นงานคอนเสิร์ตช่วงวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมาและ Beck’s เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนหลัก โดย Beck’s กำหนดให้ผู้ร่วมสนุกใช้แฮชแทค #playableposter ในการถ่ายภาพหรือวิดีโอแล้วอัปโหลดเสียงสู่เพจ Facebook ของ Beck’s และทุกคนสามารถติดตามได้ที่ https://www.facebook.com/BecksNZ

แม้ Beck’s จะอ้างว่าเป็นโปสเตอร์ชุดแรกของโลกที่สามารถเล่นเพลงได้ แต่โลกเคยได้เห็นโปสเตอร์ “playable sonic poster” ที่ใช้หมึกนำไฟฟ้าพร้อมติดตั้งลำโพงไว้ภายในมาก่อน อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า Beck’s คือรายแรกที่นำสื่อไฮเทคนี้มาทำแคมเปญใหญ่จนทำให้สื่อชนิดนี้เป็นที่รู้จักในวงกว้างยิ่งขึ้น ซึ่งไม่แน่ เราอาจได้เห็นสื่อไฮเทคลักษณะนี้อีกมากมายตลอดปีนี้

ที่มา : DigitalBuzzBlog