Site icon Thumbsup

กลยุทธ์การสร้าง Resilience ภายในองค์กร ให้พร้อมรับมือความไม่แน่นอนในอนาคต

นับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 คำว่า ‘Resilience’ หรือความยืดหยุ่น กลายเป็นคำที่ถูกพูดถึงอย่างมาก เนื่องจากเป็นคุณสมบัติที่สำคัญอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ไม่มีความแน่นอนแบบนี้ แต่เราจะทำอย่างไรให้ทีมหรือองค์กรของเรามีความยืดหยุ่น บทความนี้จะพาไปหาคำตอบกันครับ

ความยืดหยุ่นในที่นี้สามารถตีความได้หลายแง่มุม ในแง่ของธุรกิจหมายถึงความสามารถในการเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบโจทย์กับความต้องการต่างๆ ตามสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ในแง่ของพนักงานหมายถึงการรับมือกับความกดดัน มีความมั่นใจ และทัศนคติที่เป็นบวก

พื้นที่ปลอดภัย

ทีมที่มีความยืดหยุ่นคือทีมที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างตรงไปตรงมา เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาที่กำลังเผชิญได้ แต่สิ่งที่หลายคนกังวลคือหากพูดออกไปแล้วอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในทีมได้ ‘พื้นที่ปลอดภัย’ หรือพื้นที่ที่ทุกคนในทีมสามารถแชร์ข้อเสนอแนะได้เต็มที่ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างความยืดหยุ่นในทีม

เพิ่มเวลาส่วนตัว

การเพิ่มเวลาส่วนตัว หรือเวลาพักผ่อนให้คนในทีมเป็นวิธีสร้างพลังงานที่ดี เพื่มเวลาทานอาหารกลางวัน การเลิกงานตรงเวลา มีเวลาให้ผ่อนคลาย ทำงานอดิเรก พบปะเพื่อนฝูง ใช้เวลากับครอบครัว เมื่อจิตใจของทีมได้รับการฟื้นฟูก็จะสามารถสร้างภาวะยืดหยุ่นภายในจิตใจและกลับมาสู่สภาวะที่จะเตรียมพร้อมพัฒนาต่อไปข้างหน้าได้นั่นเอง

สื่อสารกับทีมอยู่เสมอ

นอกจากการสื่อสารเกี่ยวกับงานแล้ว ก่อนเริ่มต้นประชุมควรมีช่วงเวลาให้ทีมได้แลกเปลี่ยนและระบายความเครียดจากงานด้วย คนในทีมบางคนอาจมีความเครียดแต่ไม่ได้บอกใคร การใช้เวลาสักครู่เพื่อพูดคุยและรับฟังก็ช่วยคลายความเครียดไปได้มาก นอกเหนือจากนี้ก็สามารถอัปเดตชีวิตประจำวัน อาทิ กีฬาที่เล่น ร้านอาหารร้านใหม่ที่เจอ รวมถึงแชร์เรื่องพบเจอ เพื่อรักษาความสัมพันธ์และสุขภาพจิตที่ดีภายในทีม

การอบรมและพัฒนาบุคลากร

การส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรมีความรู้ ตลอดจนมีทักษะเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดความก้าวหน้าในอาชีพการงาน นอกจากเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานให้ดียิ่งขึ้นแล้ว ยังช่วยสร้างทัศนคติที่ดีต่อองค์กร เห็นว่าองค์กรใส่ใจและพร้อมส่งเสริมพนักงานอีกด้วย

เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรร่วมกัน

การทำให้คนในทีมรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ตลอดจนเป็นเจ้าของร่วมกัน ในแง่ของการทำงานเราต้องทำให้พนักงานเข้าใจปัญหาหรือสภาพธุรกิจขององค์กรนั้นๆ อย่างแท้จริง
การสื่อสารที่ตรงไปตรงมาย่อมสร้างแรงจูงใจในการทำงาน ทำให้มีความทุ่มเทและพัฒนาองค์กรให้ประสบความสำเร็จร่วมกัน

สร้างความยืดหยุ่นให้กันและกัน

สุดท้ายการสร้างทีมที่ยืดหยุ่นไม่สามารถทำได้ด้วยคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องทำร่วมกัน มีความคาดหวังเดียวกัน พร้อมสนับสนุนกันและกัน เต็มใจที่จะช่วยแก้ไขปัญหาที่ทีมกำลังเผชิญ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ทีมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต

ที่มา

HBR

enterprisersproject