Site icon Thumbsup

Cisco ระบุว่าจะมีอุปกรณ์พกพาบนโลกกว่า 8 พันล้านเครื่องภายในปี 2016

Cisco ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมไอทีของโลกได้ออกมาระบุในรายงานการคาดการณ์ตลาดไอทีโลกว่าในปี 2016 น่าจะมีจำนวนอุปกรณ์พกพาที่ถูกใช้งานอยู่มากกว่า 8 พันล้านเครื่องทีเดียว

รายงานฉบับนี้มีการระบุด้วยว่าในปี 2016 จะมีการเชื่อมตรงระหว่างอุปกรณ์หนึ่งไปยังอุปกรณ์หนึ่งมากกว่า 2 พันล้านคู่ ซึ่งการเชื่อมต่อที่ว่านี้รวมถึงการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ GPS และอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ ด้วย ซึ่งการเชื่อมต่อและจำนวนอุปกรณ์มหาศาลดังกล่าวนี้ส่งผลให้การบริโภคข้อมูลเพิ่มขึ้นสูงถึ 18 เท่าตัว หรือคิดเป็น 10.8 เอกซะไบต์ต่อเดือน หรือ 130 เอกซะไบต์ต่อปี ซึ่งถ้าเทียบเป็นการเก็บข้อมูลในแผ่นดีวีดีที่เราคุ้นเคยกันก็จะต้องใช้แผ่นมากถึง 33,000 ล้านแผ่นทีเดียว

ในปัจจุบัน ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์มือถือต่างก็กำลังดิ้นรนอย่างหนักเพื่อรองรับความต้องการอันมหาศาลนี้ที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งหากการคาดการณ์ของ Cisco เป็นจริง ค่ายต่างๆ ก็จะต้องเตรียมงบลงทุนพัฒนาโครงข่ายอีกเป็นจำนวนมหาศาลทีเดียว

ผู้บริหารของ Cisco ยังได้ระบุเพิ่มเติมในรายงานด้วยว่า ภายในปี 2016 ผู้ใช้อุปกรณ์พกพากว่า 60 เปอร์เซนต์หรือราว 3 พันล้านคนทั่วโลกจะมีการใช้ข้อมูลเฉลี่ยมากกว่า 1 กิกะไบต์ต่อเดือน ซึ่งเมื่อเทียบกับปัจจุบันมีสัดส่วนผู้ใช้งานระดับดังกล่าวเพียง 0.5 เปอร์เซนต์เท่านั้น

ที่มา:?CNET

เราได้อะไรจากข่าวนี้: ในส่วนท้ายของข่าวต้นฉบับ ผู้เขียนได้ระบุว่าที่ผ่านมาการคาดการณ์ของ Cisco ถือว่าค่อนข้างแม่นยำ เช่น กรณีที่ปีที่ผ่านมา Cisco ได้คาดการณ์ล่วงหน้าว่าการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือจะมีการเติบโต 131 เปอร์เซนต์ ซึ่งผลลัพธ์สิ้นปีตัวเลขจริงคือ 133 เปอร์เซนต์ ซึ่งหากการคาดการณ์ของ Cisco ในปีนี้แม่นยำ เราจะเห็นว่าตัวเลขอุปกรณ์พกพาในปี 2016 จะแซงหน้าจำนวนประชากรทั้งโลกที่มีกว่า 7 พันล้านคน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่มหาศาลมากๆ

สิ่งที่น่าติดตามคือเมื่ออัตราการเข้าถึงอุปกรณ์พกพามีจำนวนสูงขนาดนี้ พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของคนทั่วโลกน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะและแน่นอนว่านั่นจะส่งผลต่อรูปแบบธุรกิจเดิมๆ อย่างที่มีนัยยะด้วยเช่นกัน ซึ่งตัวอย่างที่เราเริ่มเห็นกันแล้วก็คือ อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ อุตสาหกรรมการศึกษา ซึ่งจากเดิมที่เคยใช้วัตถุดิบตัวกลางที่เป็นกระดาษก็เริ่มถูกผู้ผลิตหันเหความสนใจมาสู่เนื้อหาบนรูปแบบดิจิตอลแล้ว 4 ปีหลังจากนี้การหันเหดังกล่าวน่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะอาจจะถึงจุดที่หนังสือกระดาษกลายเป็นส่วนน้อยของอุตสาหกรรมไปในที่สุด ซึ่งเมื่อเวลานั้นมาถึง ผลกระทบที่จะมีต่อผู้ที่อยู่ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งหมดก็จะเริ่มส่งผลในระดับที่ทำให้ธุรกิจเหล่านี้ต้องมองหาทางออกใหม่ เช่น ผู้ผลิตกระดาษป้อนอุตสาหกรรมส่ิงพิมพ์และการศึกษาจะหันไปสู่อุตสาหกรรมใดต่อ ผู้ที่ทำหน้าที่ขนส่งหนังสือเหล่านี้จะปรับตัวอย่างไร ร้านขายหนังสือ ร้านเช่าหนังสือเองก็ย่อมจะได้รับผลกระทบด้วย สถานการณ์เหล่านี้หากมองว่ามีเวลาในการวางแผนล่วงหน้า 4-5 ปีก็ถือว่าน่าจะเพียงพอ แต่หากพิจารณาว่าอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์และอุตสาหกรรมการศึกษาผูกติดกับรูปแบบของกระดาษมาเป็นร้อยๆ ปี เวลา 4-5 ปีดังกล่าวถือว่ารวดเร็วมากๆ

นี่เรายกตัวอย่างกันแค่ 2 อุตสาหกรรมเองนะครับ เรายังไม่นับอุตสาหกรรมบันเทิง ดนตรี การสื่อสาร การซื้อขายสินค้า ฯลฯ ที่แต่ละอุตสาหกรรมก็มีห่วงโซ่ของมันอยู่ ช่วงเวลา 4-5 ?ปีต่อจากนี้น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ธุรกิจต่างๆ ต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่กันอีกมากมายให้เราได้เห็น เราน่าจะได้เห็นธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นและธุรกิจใหญ่โตเดิมๆ ต้องเจอช่วงเวลาที่ลำบาก สิ่งเหล่านี้ thumbsup จะนำมาเสนออย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจสถานการณ์และรับมือได้อย่างทันท่วงทีครับ 🙂