Site icon Thumbsup

รวมบทเรียนควรรู้ ด้านการทำ Digital Tranformation จาก Coca-Cola

หันมองรอบตัวผู้เขียน หลายครั้งที่ต้องยอมรับว่าจะเจอคนที่ชอบดื่มน้ำอัดลมอย่างน้อย 1 คนปรากฏอยู่เสมอ ซึ่งหากเอ่ยชื่อบริษัทผู้ผลิตน้ำอัดลม-เครื่องดื่มก็คงหนีไม่พ้นชื่อที่หลายคนคุ้นเคยกันดีอย่าง “Coca-Cola” แต่ความน่าสนใจของ Coca-Cola ในตอนนี้ก็คือการก้าวขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่มีการทำ Digital Transformation ด้วยการนำ AI และ Big Data เข้ามาใช้งานในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ข้อมูลที่บริษัทเก็บมาได้นั้นทำประโยชน์ให้กับบริษัทได้สูงสุด

โดยสาเหตุที่ทำให้ Coca-Cola ก้าวสู่โลกของเทคโนโลยีทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่บริษัทเทคโนโลยีอาจเป็นผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ และตัวแบรนด์ของ Coca-Cola เองที่มีมากกว่า 500 แบรนด์กระจายอยู่ในกว่า 200 ประเทศทั่วโลก และในแต่ละวัน มีการบริโภคเครื่องดื่มของ Coca-Cola ในปริมาณที่สูงมาก จากความใหญ่โตนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ “ข้อมูลจำนวนมหาศาล” ตั้งแต่ข้อมูลจากฝ่ายผลิต, ฝ่ายจัดส่งสินค้า, ฝ่ายขาย ไปจนถึงฟีดแบ็กจากลูกค้าที่บริษัทต้องจัดเก็บ

 

ประกอบกับการที่ Coca-Cola เองก็เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ผู้บริหารระดับสูงมีวิสัยทัศน์ และมองเห็นว่าสิ่งต่าง ๆ รอบตัวอย่าง Social Media, e-Commerce, Cloud-Computing, Mobile Application นั้นล้วนแต่เป็นเครื่องมือชั้นดีที่จะทำให้บริษัทสามารถใช้สิ่งที่เรียกว่าเทคโนโลยีได้อย่างคุ้มค่า ซึ่งเบื้องหลังของเทคโนโลยีด้านบนที่กล่าวมา ก็มี AI และ Big Data คอยควบคุมอยู่อีกที

หนึ่งในผลผลิตจากการใช้ AI และ Big Data ของ Coca-Cola ก็คือการเปิดตัวเครื่องดื่ม Cherry Sprite เมื่อช่วงต้นปี ซึ่งรสชาติของเครื่องดื่มนี้ได้มาจากการมอนิเตอร์ข้อมูลที่เก็บจากผู้บริโภค และนำไปสู่การพัฒนาตู้ผลิตน้ำอัดลมกระป๋องที่ผู้บริโภคสามารถผสมรสชาติที่ต้องการขึ้นได้เอง

ไม่เพียงเท่านั้น Coca-Cola ยังมีแผนพัฒนาบ็อทอย่าง Alexa หรือ Siri ขึ้นมาด้วย โดยติดตั้งบ็อทเหล่านั้นลงในตู้เครื่องดื่มสำหรับช่วยผู้บริโภคในการผลิตเครื่องดื่มที่พวกเขาชื่นชอบ รวมถึงใช้ AI เหล่านั้นปรับเปลี่ยนคุณสมบัติของเครื่องดื่มที่มันผลิตไปตามสถานที่ที่มันตั้งอยู่ เช่น ถ้าตั้งในห้างสรรพสินค้าหรือ Entertainment Complex ก็อาจเป็นตู้ที่ผลิตเครื่องดื่มมันส์ ๆ จับสายเฮ แต่ถ้าเป็นโรงพยาบาลก็อาจไว้ผลิตเครื่องดื่ม Functional Drink แทน

Coca-Cola ยังมีการนำ AI และ Big Data ไปช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพเช่น น้ำส้ม ที่บริษัทมีการจำหน่ายภายใต้แบรนด์ต่าง ๆ เช่น Minute Maid หรือ Simply Orange ด้วย โดยใช้ข้อมูลสภาพอากาศ ภาพถ่ายดาวเทียมของสวนส้ม ระดับของความเปรี้ยว – หวาน มาประเมินว่าส้มในสวนนั้นได้รับการดูแลที่เหมาะสมหรือไม่ และเพื่อให้บริษัทแน่ใจได้ว่าจะสามารถนำมาผลิตให้ได้รสชาติที่คงที่ตามที่ต้องการ

จากนั้น อัลกอริธึมจะเป็นตัวกำหนดว่า ส่วนผสมแบบใดที่จะทำให้เกิดรสชาติที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละประเทศจากประเทศที่ Coca-Cola วางจำหน่ายทั้งหมดกว่า 200 ประเทศทั่วโลก

Michael Terrell พนักงาน Coca-Cola ขณะสวมแว่น AR ภายในโรงงาน 

หรือในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา Coca-Cola ก็ได้นำเทคโนโลยี Augmented Reality หรือ AR เข้ามาช่วยพนักงานในโรงงานที่ Cleveland โดยเป็นการจับมือกับบริษัทสตาร์ทอัป pristine ในออสติน รัฐเท็กซัส ให้พัฒนาให้แว่น AR ที่พนักงานสวมนั้นสามารถสตรีมข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ ในกรณีที่เครื่องจักรเกิดปัญหา เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญที่อาจนั่งอยู่ที่ไหนสักแห่งบนโลกนี้ได้เข้ามาตรวจสอบ รวมไปถึงการออกแบบให้พนักงานสามารถเห็นคำสั่ง ขั้นตอนการทำงานปรากฏขึ้นมาบนแว่น เพื่อให้พนักงานทำงานกับเครื่องจักรได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น

Coca-Cola ยังมีแฟน ๆ อยู่บน Facebook กว่า 105 ล้านคน และบน Twitter อีก 35 ล้านคน ซึ่งในปี 2015 มีการเก็บตัวเลขพบว่า มีการกล่าวถึงโปรดักซ์ของ Coca-Cola หนึ่งครั้งในทุก ๆ 2 วินาทีจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งข้อมูลนี้ทำให้ Coca-Cola สามารถรู้ได้ว่า ใครคือลูกค้าของบริษัทบ้าง นอกจากนั้น บริษัทยังมีการใช้เทคโนโลยี Image Recognition ในการค้นหาภาพสินค้าของบริษัท และของคู่แข่งที่ถูกโพสต์ลงบนอินเทอร์เน็ตด้วย เพื่อหาทางนำเสนอโฆษณาที่เหมาะสมกับลูกค้าเหล่านั้น ซึ่งในอนาคต Coca-Cola กำลังสนใจใช้ AI ในการสร้างโฆษณาด้วยเช่นกัน

และนี่อาจเป็นตัวอย่างที่ดีของธุรกิจระดับโลกในการทำ Digital Transformation ที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์เอาไว้ได้อย่างครบถ้วน

ที่มา:
Forbes
Coca-Cola Company