Site icon Thumbsup

ภาพรวมการศึกษาไทย นักเรียน-ผู้ปกครอง เหนื่อยไม่แพ้ครู!

“แต่ถ้าสมมุติว่า ต้องมองในมุมคนที่ใช้ระบบผู้ปกครองหรือเด็กเนี่ย พี่ว่า…เครียด เครียดขึ้น สังเกตว่าในบอร์ดเว็บเด็กดีหรือใน Twitter @lataedekd ที่น้องมาปรึกษา แรกๆ ตอนที่พี่ทำงานเว็บเด็กดีตอนแรกๆ ยังไม่ขนาดนี้นะ ทุกวันนี้รู้สึกว่า ทุกคนมานี้ ดราม่าเลย พี่นึกว่าตัวเองเป็น พี่อ้อย พี่ฉอดนะ” ฟังความคิดเห็นของ คุณมนัส อ่อนสังข์ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ พี่ลาเต้ เด็กดี ได้เล่าถึงวงการศึกษาในแง่มุมของเด็กๆ ที่ผ่านมาเกี่ยวกับการศึกษาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

การศึกษาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ?

คุณมนัส เล่าว่า จริงๆ ถ้าแบ่ง 2 พาร์ท พาร์ทเรื่องระบบการศึกษาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามันมีความเปลี่ยนแปลง 10 ปีเราเปลี่ยนไป 3 ระบบ ตัวระบบพี่มองว่าวัตถุประสงค์ในการเปลี่ยนเป็นวัตถุประสงค์ที่ดีนะ แต่บางครั้งอาจจะเปลี่ยน โดยที่ไม่ได้ทดลองมันเลยทำให้เกิดปัญหา พอเกิดปัญหา ก็กลับไปใช้แบบเดิม แต่ถ้าสมมุติว่า ต้องมองในมุมคนที่ใช้ระบบผู้ปกครองหรือเด็กเนี่ย พี่ว่า…เครียด เครียดขึ้น สังเกตว่าในบอร์ดเว็บเด็กดีหรือใน Twitter @lataedekd ที่น้องมาปรึกษา แรกๆ ตอนที่พี่ทำงานเว็บเด็กดีตอนแรกๆ ยังไม่ขนาดนี้นะทุกวันนี้รู้สึกว่า ทุกคนมานี้ ดราม่าเลย พี่นึกว่าตัวเองเป็น พี่อ้อย พี่ฉอดนะ มาปรึกษาแบบเยอะมากเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องเครียด หาทางออกไม่ได้เกี่ยวกับการเรียน-เข้ามหาวิทยาลัย อะไรแบบนี้

แล้วก็ อีกสิ่งหนึ่งที่พี่รู้สึกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เด็กไทยยังเจอไม่เปลี่ยนแปลงเลยก็คือ เรายังไม่สามารถช่วยให้เด็กไทยค้นหาตัวเองได้เลย เด็กไทยจบ ม.6 พรุ่งนี้จะสมัครเข้ามหาวิทยาลัยอยู่แล้ว ยังนั่งคุกกี้เสี่ยงทายอยู่เลยว่า จะเข้าไปเรียนคณะไหนดี ซึ่ง 10 ปีที่แล้วยังเป็นแบบไหน 10 ปีนี้ก็ยังเป็นแบบนี้อยู่

คุณมนัส เล่าเสริมว่า สมมุติใน 1 ปีก็จะแบ่งละ เริ่มเปิดเทอมใหม่ๆ ก็จะเริ่มแบบ “พี่ผมเรียนอะไรดี?” พี่ผมขึ้น ม.6 มา บรรยากาศมันไม่เหมือนเดิมแล้ว เพื่อนจะไม่ได้คุยเรื่องกีฬาสีแล้ว คุยเข้าคณะไหนกัน น้องก็จะเริ่มรู้สึกกลัวแล้วเพื่อนมีคณะที่จะเข้าแล้ว แต่เรายังไม่มี อะไรประมาณนี้

น้องก็จะมาปรึกษา ซึ่งพอเราถามว่า เรียนอะไรดี มีข้อมูลอะไรมาให้พี่ช่วยตัดช้อยส์ไหม ก็คือไม่มีบางคนแบบ อันนี้ชอบวิชาอะไร.. ชอบหมด แล้วไม่ชอบวิชาอะไร.. ก็หนูได้หมดอ่ะพี่ คือแบบ เอ๊า! กลายเป็นน้องเทียบเท่ากันหมด คือมันไม่ได้อ่ะครับ ไม่งั้นเราจะไม่รู้เลยว่า อันไหนคือจุดที่ส่องสว่างที่สุด

อีกส่วนหนึ่งก็คือ คุณพ่อ-คุณแม่หลายครอบครัวยังมีเป้าหมายคนละเป้า หลายครั้งซึ่งเป็นตัวกลางให้ ต้องแนะนำว่า ลองเล่าเรื่องนี้ให้พ่อ-แม่ฟัง เดี๋ยววันหลังให้คุณแม่โทรมาคุยกับพี่ดูและทุกครั้งที่เป็นตัวกลาง เราจะรู้เลยว่าพ่อแม่กับเด็กไม่คุยกัน พอแม่ได้รู้ว่าที่ลูกอยากเรียนคณะนี้เพราะอะไรหรือลูกได้รู้ว่าพ่อ-แม่อยากให้เรียนคณะนี้เพราะอะไร คือทุกอย่างคลายหมดเลย

แล้วช่วงที่พีคที่สุดของการปรึกษา จะอยู่ในช่วงการรับสมัคร ด้วยความที่สมัยก่อน ระบบเข้ามหาวิทยาลัยเราก็จะ manual นิดนึงก็ต้องถือใบสมัครเอาไปยื่น แต่ทุกวันนี้ ทุกอย่างมันผ่านเว็บหมด ต้องเข้าไปลงทะเบียน มันก็จะค่อนข้างซับซ้อนนิดนึง เอาง่ายๆ TCAS อย่างนี้ ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมี 5 รอบ ซึ่ง 5 รอบ สมัครกัน ไม่เหมือนกันนะในแต่ละรอบ รอบ 1 มีเกณฑ์ 1 2 3 รอบ 2 มีเกณฑ์ 1 2 3 แต่ละรอบก็จะไม่เหมือนกัน อะไรยังไง พองงเสร็จ ก็เผลอทำผิด เราเองก็จะมีหน้าที่ช่วยตรงนั้น

การเรียนกวดวิชาเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหนในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ?

แต่ก่อนเราจะกวดวิชา ก็ต่อเมื่อมันจำเป็นต้องใช้เรียนเพิ่มเกรด เรียนเพื่ออุดจุดอ่อน เรียนเพื่อต้องใช้รู้สึกว่าคนที่ไปเรียนกวดวิชา อายุจะน้อยลงเหมือนเราเรียนกวดวิชาตั้งแต่เด็ก แต่ก่อนนะ รุ่นพี่อ่ะ เรียนส่วนใหญ่เริ่มจาก ม.ปลาย หมด ถ้าเรียนกวดวิชานะ แต่ทุกวันนี้พี่รู้สึกว่า ม.ต้น ก็เริ่มเอาแล้ว

คุณมนัส กล่าวเสริมว่า หนึ่งสิ่งที่เราเห็นเลยนะ คือว่า เรากวดวิชาตั้งแต่เด็กอาจจะด้วยความที่ต้องการปูพื้นฐาน และสองที่เห็นว่าคนเรียนกวดวิชาน้อยลงอาจจะเพราะว่า เขาเรียนอยู่บ้าน เรียนผ่าน YouTube เรียนผ่านกลุ่มอะไรของเขา อีกกลุ่มหนึ่งพี่รู้สึกว่ากำลังมาในเทรนด์กวดวิชาคือเรียนแบบตัวต่อตัว พี่รู้สึกว่ามีน้องสนใจเยอะนะ 

โดยเฉพาะน้องที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยแล้วมาสอนแอบเห็นเขาโพสต์ใน Instagram ที่พี่ติดตามอยู่ เห้ย มีลูกศิษย์มาเรียนกันแบบตัวต่อตัว หรือเรียน 3 คนต่อรุ่นพี่ 1 คน เทรนด์แบบนี้กำลังมา

อันนี้พี่เคยถามเขาเหมือนกันว่า ทำไมอยากเรียนแบบนี้เขาบอกว่า หนึ่งคือชอบตัวของคนสอนที่รู้สึกว่าเราตามเขามาตั้งแต่เขาอยู่ ม.6 แล้วรู้สึกแบบ โห คะแนนที่ออกมา พี่คนนี้คือเทพมาก คือได้คะแนนเยอะแล้วมีเทคนิคมาบอกบ่อยๆ 

“เราก็เลยรู้สึกอยากเรียนกับเขา อีกอย่างหนึ่งคือ น้องๆ เขาสามารถเลือกได้ว่า เออพี่คนนี้ ไลฟ์สไตล์เป็นเหมือนเรา กินเก่ง ไม่ได้เรียนแบบเครียดๆ ไปเรียนกับพี่เขาดีกว่าที่สำคัญคือ ด้วยความที่ระบบในปัจจุบันมันเปลี่ยน” คุณมนัส กล่าว

อย่างเข้ามหาวิทยาลัยอย่างนี้ ข้อสอบ GAT อย่างนี้ เพิ่งมาคนที่จะเข้าใจข้อสอบ GAT ได้มากก็คือพี่ๆ กลุ่มนี้แหละอาจารย์กวดวิชาก็คือเขาเข้าใจนะ แต่ว่าพี่คนนี้เป็นรุ่นที่เข้าไปสอบเองเลย เป็นคนที่อ่านหนังสือแบบบุกเบิกกับข้อสอบ GAT ข้อสอบ PAT มาเอง

ดังนั้น เรียนกับพี่คนนี้น่าจะเก็ทกว่า และอีกอันนึงที่รู้สึกว่า น้องใช้เหตุผลนี้ในการเรียนพิเศษนั่นคือเรียนน้อย มันทำให้กล้าถาม บางทีเรานั่งกันแบบหลายๆ คนในห้อง สงสัยก็ไม่กล้าถามแล้วเรียนกันตัวต่อตัว มันมี contact ไปติดต่อหลังไมค์ได้ ตรงนี้ไม่เข้าใจก็ถามต่อ

ต้องยอมรับว่าเด็กสมัยนี้สร้างคอนเทนต์เก่ง เอาง่ายๆ หนังสือที่เขาให้อ่านเวลาเข้ามหาวิทยาลัย ไปเรียนพิเศษมาก็ short note ตัว short note เด็กชอบมากเพราะรู้สึกแบบ นี่มันคือคัมภีร์ที่พี่เขาคัดมาแล้วว่าตรงไหนออกแชร์ใน Twitter คน retweet เยอะมากก็กลายเป็นสิ่งที่เขา short note มา มันออกตรงเป๊ะเลยอะไรแบบนี้ ก็จะยิ่งสร้างผู้ติดตาม/Followers 

คุณมนัส กล่าวว่า ทุกวันนี้บอกเลยว่า น้องๆ หลายๆ คน คือที่รู้จักนะ เข้าไปเรียนมหาวิทยาลัย สอนพิเศษหมดคือไม่สอนกันเล่นๆ นะ สอนกันจริงจังคือกลางวันเรียน เย็นๆ น้องๆ ม.ปลายเลิกเรียนก็มานั่งสอนกันใต้ต้นไม้ ใต้ตึกเรียน ก็ถือว่าเขาก็ได้ฝึกหารายได้แล้วน้องๆ ก็ได้ประโยชน์จากตรงนี้ด้วย

แก้ปัญหาการศึกษา ควรเริ่มจากตรงไหน?

ถ้าสมมติจะให้แก้ พี่อยากให้มันครบองค์คือมันเป็นระบบที่มีหลายองค์ ก็ให้มันครบองค์ ให้มาคุยกันระบบหรืออะไรที่เกี่ยวกับการศึกษา เด็กคือคนที่ลงสนามแข่งขัน แต่ไม่เคยเรียกเด็กไปคุย ในโต๊ะประชุม ไม่เคยมีเด็ก ทั้งๆ ที่กฎกติกาเนี่ย ออกมาเพื่อเด็ก แต่ผู้ใหญ่จะมองเองว่า แบบนี้แหละดี เข้าใจว่าเด็กคิดว่าแบบนี้ดี ไม่ได้ถามเด็กจริงๆ แล้วถามเด็กมันจะลึกไปอีกนะ 

คุณไปถามโรงเรียนไหนโรงเรียนที่ปล่อยเกรด คุณก็จะได้อีกระบบนึง ถ้าคุณไปถามโรเงรียนที่กดเกรดโรงเรียนที่เทคโนโลยีเข้าไม่ถึง คุณก็จะได้อีกระบบนึง มันเลยรู้สึกว่ามันต้องมาให้ครบองค์