การปรับดีไซน์นั้นถือเป็นสิ่งจำเป็นที่นักการตลาดรู้ดีว่ามีความสำคัญต่อความรู้สึกสดใหม่ของผู้ใช้มากเพียงไร แต่สำหรับเว็บไซต์สารานุกรมออนไลน์อย่าง Wikipedia ที่ไม่เคยปรับดีไซน์เลยตลอด 10 ปีที่ผ่านมาอาจจะเป็นอีกกรณีศึกษาที่สะท้อนว่าการเปลี่ยนดีไซน์ครั้งแรกในรอบทศวรรษก็สามารถเรียกความสนใจจากผู้ใช้ได้ไม่แพ้กัน โดยล่าสุดต้นแบบ Wikipedia โฉมใหม่ที่ศิลปินอิสระ George Kvasnikov นำเสนอมานานหลายเดือนกลายเป็นที่สนใจขึ้นมาอีกครั้ง และถูกนำเสนอผ่านหลายเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ชื่อดังหลายค่าย
ศิลปินอิสระ George Kvasnikov นั้นเปิดเว็บไซต์เผยแพร่แนวคิดต้นแบบเว็บไซต์สารานุกรมออนไลน์ Wikipedia โฉมใหม่ของตัวเองตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ในเวลานั้น ต้นแบบดีไซน์เหล่านี้ไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าใดนัก เพราะต้นแบบเหล่านี้ไม่ได้ถูกกำหนดให้มีการนำไปใช้งานจริง จนกระทั่งสำนักข่าว PSFK นำมาขยายความ ก่อนที่สำนัก The Next Web จะร่วมเผยแพร่ในวันนี้
สื่อต่างประเทศตีข่าวการนำเสนอต้นแบบดีไซน์ Wikipedia โฉมใหม่ครั้งนี้ว่าเป็นสิ่งสะท้อนว่า Wikipedia จะสามารถปรับปรุงให้สวยงามทันสมัยและสะดวกสบายเพียงไร เพราะความน่าสนใจของต้นแบบดีไซน์ที่ Kvasnikov เสนอ คือศิลปินฟรีแลนซ์รายนี้ยกเอาข้อมูลวิจัยที่สะท้อนความเห็นผู้บริโภคว่าต้องการอะไรจาก Wikipedia รวมถึงรูปแบบการใช้งานที่ชาวออนไลน์คุ้นเคยกับ Wikipedia
ข้อมูลเหล่านี้ถูกนำมาออกแบบเพื่อสร้างเป็นระบบเปิดชมข้อมูลหรือ navigate บน Wikipedia โฉมใหม่ที่ศิลปินรายนี้การันตีว่าง่ายที่สุด ถือเป็นการยกระดับประสบการณ์ผู้ใช้ให้สามารถอ่านบทความที่หลากหลายได้ง่ายกว่าเดิมบน Wikipedia จุดนี้มีการออกแบบให้กองทัพบทความบน Wikipedia แสดงผลในรูปกระดาษซ้อนกัน ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการจัดการ การค้นหา และการเลือกอ่านระหว่างบทความ
นอกจากระบบ navigate สิ่งที่ Kvasnikov เสนอในต้นแบบ Wikipedia โฉมใหม่ของตัวเองคือการปรับให้บทความบน Wikipedia อ่านง่ายขึ้น ทั้งรูปแบบตัวอักษรใหม่ และตารางแสดงผลครอบจักรวาลที่สามารถรองรับทั้งข้อความ ภาพ รวมถึงสูตรคณิตศาสตร์ และอื่นๆ แถมยังมีการเพิ่มตัวควบคุมขนาดตัวอักษรไว้ที่ท้ายบทความด้วย
ข้อมูลที่ปรากฎบริเวณท้ายบทความไม่ได้มีเพียงขนาดตัวอักษร แต่บอกความยาวของบทความ รวมถึงเวลาประเมินที่คาดว่าผู้ใช้จะอ่านเสร็จ
ประเด็นการเปิดเสรีให้ผู้อ่านได้มีส่วนร่วมกันแก้ไขบทความ Kvasnikov มองว่า Wikipedia ควรใช้ระบบ cloud เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเลือกแก้ไขบทความได้จากทุกที่ทุกเวลา ขณะเดียวกันก็สามารถคลิกเผยแพร่ได้ทันทีที่แก้ไขบทความเสร็จ จุดนี้สะท้อนว่า Wikipedia ควรออกแบบใหม่ให้รองรับการแสดงผลบนอุปกรณ์ทุกรูปแบบ
สิ่งที่เราได้จากบทความนี้ไม่ได้มีเพียงการทราบแนวโน้มพัฒนาการของสารานุกรมออนไลน์ Wikipedia แต่ยังมีรูปแบบการเสนองานที่ครบถ้วนและน่าสนใจด้วย ถือเป็นอีกผลพลอยได้จากการติดตามข่าวนี้ที่คุณสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง
ที่มา : The Next Web