Site icon Thumbsup

EMPATHY ทักษะทางสังคมที่วัยทำงานต้องรู้

Empathy หรือความเห็นอกเห็นใจกัน กลายเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญในยุคของการทำงาน สิ่งที่กำลังพูดถึงไม่ได้หมายความถึงการเห็นอกเห็นใจในเชิงเรื่องส่วนตัว แต่เป็นความใส่ใจกันในแง่ของการทำงาน เพราะวัยทำงานยุคใหม่นี้มีความกดดันทั้งเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อมจนส่งผลให้เกิดความเครียด จนไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้าได้ง่ายๆ

ดังนั้นหากมีเพื่อนร่วมงานหรือคนในที่ทำงานใกล้ตัวสักคนต้องเจอปัญหานี้ เราควรจะทำตัวอย่างไรเพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บปวดของเพื่อน ให้ฝ่าฟันปัญหานี้ไปได้

Empathy คือความใส่ใจ การรับรู้เข้าใจ มีการเชื่อมโยงทางอารมณ์และถ่ายทอดออกมาทางสายตาของผู้ที่เจอปัญหา

ส่วน Sympathy คือความเห็นใจ ที่ผู้มองเข้าใจและมีอารมณ์ร่วมแต่มักจะมองในมุมของตัวเราเอง

หากคุณอยู่ในตำแหน่งเจ้านาย แล้วต้องบริหารลูกน้อง แน่นอนว่าเป้าหมายของหน้าที่คุณ คือ ต้องทำงานให้เสร็จตามเป้าหมายแต่ระหว่างทางนั้น คุณอาจจะต้องเจอปัญหาที่ลูกน้องสร้างขึ้นจนกว่าจะไปถึงจุดหมายอย่างที่คุณคาดหวังอย่างทุลักทุเลก็เป็นได้

สิ่งที่เจ้านายควรเป็นคือ เข้าใจทั้งในแง่ของอารมณ์และมุมมอง ไม่ใช่ความสงสารหรือคล้อยตามความรู้สึกของลูกน้อง หรืออาจจะผสมผสานทั้งสองส่วนเข้าด้วยกัน เพื่อให้ลูกน้องเข้าใจถึง “เป้าหมาย” ที่เราจะไปให้ถึงตามกรอบงานที่กำหนด ไม่ใช่ว่าใช้ความสงสารในการทำงานไม่เสร็จตามเป้าหมายมาเป็นข้ออ้างในการเลื่อนงานหรือปิดจ๊อบไม่ได้ตามคำสั่ง

ดังนั้น ในมุมของเจ้านายที่ต้องทำคือ

  1. ทำตัวให้ว่าง : เพื่อสละเวลาบางส่วนมารับฟังลูกน้องหรือคนในทีมของคุณ
  2. การฟังก่อนพูด : ต้องเผลอระวังไม่ให้เข้าสู่การสั่งสอนหรือพูดแทรก แต่ควรฟังให้จบ เพื่อให้ลูกน้องได้เล่าเรื่องราวและทบทวนความคิดและคำตอบ ซึ่งจะช่วยสร้างคุณค่าให้กับตัวเขาเอง มากกว่าการใช้คำสั่ง
  3. มีส่วนร่วมในงานบ้าง : การเข้ามารับฟังปัญหาและเรื่องราวขณะปฏิบัติงาน ตรวสอบและช่วยแก้ไขปัญหาบางส่วนร่วมกัน เปิดรับฟังไอเดียซึ่งกันและกัน

นอกจากนี้ ในมุมของเพื่อนร่วมงานหรือคนธรรมดาควรที่จะวางตัวอย่างมีสติ เพราะหลายคนเราแสดงท่าทีแบบเห็นอกเห็นใจคนที่มีปัญหาด้านสุขภาพ เช่น โรคซึมเศร้า โรคฮิตของวัยทำงาน สิ่งที่เราต้องทำคือไม่ต้องแสดงท่าทีว่าเราเข้าใจเพราะเคยประสบมาก่อน หรือคำพูดปลอบใจที่ไม่มีจริง

สิ่งที่ต้องทำคือ เอาตาไว้ใช้สังเกตอาการ เอาหูไว้ฟังสิ่งที่เขาพูดและเอาใจไว้รับความรู้สึก สมองไม่ต้องคิดแทนแค่ใช้ใจฟังสิ่งที่เขาต้องการบอกกับเราก็พอ

ในมุมของการที่คุณเป็นผู้เขียนคอนเทนต์ สิ่งที่เราจะสื่อสารสำหรับคนที่ต้องการเขียนงานแบบ empathy คือต้องทราบก่อนว่าคนอ่านอยากอ่านอะไรหรือได้ยินเสียงเราแบบไหน เลือกน้ำเสียงที่จะใช้ให้เหมาะ (ภาษาเขียนก็มีน้ำเสียงนะคะ เราต้องเขียนบรรยายให้เหมาะสมเช่นกัน)

สื่อสารกับใคร? แม้เราจะไม่ทราบว่าปลายทางหรือคนรับสารของเรากำลังอยู่ในช่วงเวลาหรือสถานการณ์แบบไหน สิ่งที่เราควรทำคือรู้กลุ่มเป้าหมายของเราก่อน เข้าใจว่าเขามีนิสัยใจคออย่างไร และใช้คำพูดกับคนๆ นั้นให้เหมาะสม รวมทั้งสื่อสารอย่างไร ถึงจะลดปัญหาเรื่องแรงเสียดทานที่อาจจะเกิดขึ้นได้แบบคาดไม่ถึง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แบรนด์หรือคนทำคอนเทนต์ต้องรู้คือ “รับฟังเสียงของผู้คนให้มากขึ้น” ว่าลูกค้าของเรามีความกังวลด้านไหน ต้องการอะไร สื่อสารให้ตรงประเด็น รวมทั้งจังหวะในการสื่อสารก็ต้องเหมาะสมด้วย