Site icon Thumbsup

มาแล้ว! Google คลอด Video Intelligence API ช่วย video เสิร์ชง่ายขึ้น

Google เจ้าพ่อเสิร์ชเอนจินเปิดตัวชุดพัฒนาแอปพลิเคชันใหม่ Video Intelligence API ที่งานประชุม Cloud Next เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา จากการประเมินเบื้องต้นเชื่อว่านักการตลาด สื่อ และนักพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับงานสร้างวิดีโอเป็นหลักจะยินดีกับ API นี้เพราะคู่แข่งของ Google ยังไม่มีใครสร้าง API ที่เน้นเทความอัจฉริยะให้วิดีโอได้เทียบเท่า

รายงานระบุว่าคุณสมบัติใน API นี้จัดเต็มทั้งการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ machine learning technology ในการติดป้าย Tag หรือติดธง รวมถึงการเก็บข้อมูลวัตถุหรือการกระทำ (action) ที่ปรากฏในวิดีโอ เพื่อให้ข้อมูลเหล่านี้สามารถค้นหาพบบนเสิร์ชเอนจินได้ง่าย โดยขณะนี้ API ใหม่ยังอยู่ในช่วงทดสอบเท่านั้น

จุดสำคัญของ API นี้คือการช่วยให้ทุกคนสามารถค้นหาวิดีโอที่ต้องการได้ง่ายกว่าปัจจุบันที่ผู้อัปโหลดวิดีโอต้องเป็นผู้บรรยาย หรือติด Tag ข้อมูลด้วยตัวเองว่าวิดีโอนั้นเกี่ยวข้องกับอะไร การทำงานแบบแมนนวลด้วยมือมนุษย์อาจทำให้เกิดช่องว่างเรื่องการ Tag ไม่ครบถ้วน ซึ่งทำให้การค้นหาวิดีโอในบริษัทสื่อยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร

จุดนี้สำนักข่าว VentureBeat ตั้งข้อสังเกตว่าคู่แข่งแพลตฟอร์มคลาวด์รายสำคัญของ Google เช่น Amazon Web Services (AWS) และ Microsoft Azure ต่างไม่มีให้บริการ API ในลักษณะนี้ แม้ว่าจะมีให้บริการเทคโนโลยีวิเคราะห์ภาพและเสียงแล้ว สมกับที่ Google เคลมว่า Video Intelligence API ของตัวเองนั้นเป็นรายแรกในตลาด

ประเด็นนี้ Fei-Fei Li หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ด้าน AI และ machine learning ของ Google Cloud เล่าบน blog post ว่า Google นั้นประสานงานกับบริษัทสื่อรายใหญ่ของโลกมาต่อเนื่องยาวนานเพื่อช่วยให้บริษัทเหล่านี้สามารถสร้างรายได้หรือเพิ่มคุณค่าจากข้อมูลที่ไม่ได้ถูกจัดโครงสร้างอย่างวิดีโอ (unstructured data) ดังนั้น API นี้จึงถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้องค์กรสื่อใหญ่และบริษัทเทคโนโลยีสำหรับผู้บริโภคทั่วไปที่ต้องการสร้าง media catalog ของตัวเอง ที่จะทำให้การจัดการเนื้อหาประเภท crowd-sourced content ทำได้ง่ายขึ้น

สรุปคือแม้ว่า API นี้มีโอกาสถูกนำไปต่อยอดด้านการแสดงวิดีโอโฆษณาตามการเสิร์ชของลูกค้าที่ดีกว่า แต่อีกบทบาทสำคัญของ API นี้คือการช่วยให้การค้นหาวิดีโอที่ผู้ใช้เป็นผู้สร้าง user-generated video นั้นทำได้ง่ายขึ้นด้วย ซึ่งถือเป็นประโยชน์โดยตรงกับผู้ใช้ทั่วไป ทั้งที่เส้นทางนี้อาจมีปลายทางอุโมงค์ที่ให้ผลเรื่อง marketing เช่นเดียวกัน

ที่มา: MarketingDive