Site icon Thumbsup

เจาะธุรกิจโรงเรียนนานาชาติ นาทีนี้ต้องขาย “ความสุข”?

เป็นธุรกิจที่ไม่ง่าย กับการเปิดตัว “โรงเรียนนานาชาติ” ในยุคนี้สมัยนี้ โดยเฉพาะกับพื้นที่เมืองหลวงอย่าง “กรุงเทพมหานคร” ที่เต็มไปด้วยโรงเรียนนานาชาติมากมายสำหรับตอบสนองความต้องการของพ่อแม่ที่มีรายได้ระดับบนในการส่งเสริมให้ลูกได้ภาษาที่สองแบบที่หาไม่ได้จากโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนรัฐบาลทั่วไป  รวมถึงจับกลุ่มชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยเยอะมากขึ้น การทำตลาดของโรงเรียนนานาชาติในยุคนี้จึงเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะการเปิดตัวโรงเรียนใหม่ของ Denla British School ในย่านราชพฤกษ์บนเนื้อที่ 45 ไร่ 

โดยทีมกรรมการบริหารโรงเรียนนานาชาติ Denla British School พบว่า หนึ่งในความต้องการของครอบครัวไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะครอบครัวที่มีรายได้ระดับบนกับระบบการศึกษานั้น นอกจากจะต้องการให้เด็กมีความรู้ทางวิชาการแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องการเพิ่มเข้ามาก็คือต้องการให้ลูกมีความสุขกับการมาโรงเรียนด้วย และเมื่อเจาะลึกลงไปพบว่า ความสุขที่ผู้ปกครองคาดหวังว่าลูก ๆ ของตนเองจะได้รับนั้น คือการที่เด็ก ๆ ได้มีโอกาสวิ่งเล่นอย่างอิสระ ได้เล่นกีฬา ได้เรียนดนตรี ได้ทำงานศิลปะ รวมถึงมีอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการรับประทาน ซึ่งแน่นอนว่าหากเรียนในโรงเรียนรัฐบาล หรือโรงเรียนเอกชนทั่วไป โอกาสที่จะได้รับสิทธิ์ระดับนี้แทบเป็นไปไม่ได้เลย

นั่นจึงนำไปสู่การลงทุนบนงบประมาณ 2,600 ล้านบาท ในระยะเวลา 3 – 5 ปีกับการสร้างโรงเรียนนานาชาติ Denla British School (DBS) บนพื้นที่ 45 ไร่ย่านถนนราชพฤกษ์ พร้อมดึงตัวผู้บริหารโรงเรียนอย่าง Mark William McVeigh จากโรงเรียน Marlborough College เข้ามาสร้างความเชื่อมั่นให้กับพ่อแม่ในไทย

จุดขายข้อสองคือการเปลี่ยนแนวความคิดของผู้ปกครองไทยกลุ่มหนึ่งที่มองว่าถ้าอยากเรียนสบายให้ไปเรียนโรงเรียนนานาชาติ กับการออกมาบอกว่า DBS จะเป็นโรงเรียนนานาชาติที่เน้น “วิชาการ” ไม่ใช่โรงเรียนนานาชาติที่เลิก 14.00 น. เหมือนโรงเรียนนานาชาติอื่น ๆ ซึ่งในจุดนี้ ผศ.ดร.ต่อยศ ปาลเดชพงศ์ กรรมการบริหารโรงเรียนนานาชาติ DBS เผยว่า ในความเป็นจริงแล้ว การเรียนโรงเรียนนานาชาติที่เด็กและพ่อแม่มีเป้าหมายปลายทางร่วมกันว่าต้องการส่งลูกไปเรียนต่อในต่างประเทศนั้น ก็หนีไม่พ้นการติว การจัดการเรียนการสอนของ DBS จึงเน้นวิชาการเสียตั้งแต่แรก โดยคาบเรียนสุดท้ายของเด็ก ๆ อาจเลิกประมาณ 16.50 น. ซึ่ง DBS มองว่าจะช่วยลดโอกาสของเด็ก ๆ ที่จะต้องไปเรียนติวเพิ่มได้

จุดเด่นข้อต่อไปเป็นเรื่องการเลือกพื้นที่ ที่หลายคนคงทราบกันดีว่าในบริเวณรัศมี 5 กิโลเมตรของที่ตั้งโรงเรียนนั้นคือโซนที่ตั้งของหมู่บ้านระดับบน ซึ่งมีกำลังจ่ายค่าเทอมระดับ 480,000  – 720,000 บาทต่อปีขึ้นไป ไม่รวมค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ได้อย่างสบาย แต่นั่นต้องเกิดขึ้นภายใต้การสร้างสภาพแวดล้อมที่ตอบโจทย์ความต้องการระดับอินไซต์ของพ่อแม่ระดับบนให้ได้ ซึ่งทางโรงเรียนพบว่า ลึก  ๆ แล้ว พ่อแม่ไทยกังวลไม่น้อยว่าถ้าส่งลูกเข้าโรงเรียนนานาชาติแล้วลูกจะก๋ากั่น ไม่มีความเป็นไทย จึงมีการชูจุดเด่นด้านการรักษาความเป็นไทยเอาไว้ในวัฒนธรรมองค์กรด้วยอีกทางหนึ่ง รวมถึงการเลือกครูจากอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรม และธรรมเนียมปฏิบัติหลายด้านไม่ต่างจากประเทศไทยมากนักมาเป็นครูผู้สอน

ทีมผู้บริหารโรงเรียน (ซ้ายไปขวา) ผศ.ดร.ต่อยศ ปาลเดชพงษ์, Mark William McVeigh และภรรยา และดร.เติมยศ ปาลเดชพงศ์

ชูจุดขายด้าน Entrepreneurship รับ Digital Transformation

การเจอกับคำถามใหญ่อย่างกระแส Digital Transformation เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะชี้ว่า โรงเรียนใดมีผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์มากกว่ากัน โดยทาง DBS เลือกที่จะมองไปที่การสร้างนิสัยของการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) ที่ ดร.เต็มยศ ปาลเดชพงศ์ กรรมการบริหารโรงเรียน บอกว่า ทักษะนี้ตอบโจทย์การทำงานในอนาคตของเด็ก ๆ เนื่องจากอนาคต โลกจะเต็มไปด้วยอาชีพใหม่ ๆ ที่คนในยุคนี้อาจจินตนาการไปไม่ถึง ดังนั้น เด็กจึงต้องมีทักษะในการแก้ปัญหา มีความกล้าในการตัดสินใจ และมีความคิดสร้างสรรค์ให้มากที่สุดสำหรับรับมือกับอนาคตเหล่านั้น นอกเหนือจากเรื่องการคิดอย่างเป็นระบบ ผ่านการสอนเขียนโค้ดโปรแกรมและการต่อหุ่นยนต์ที่ DBS มองว่าสามารถช่วยได้เช่นกัน

แต่ที่สำคัญที่สุดคือ การศึกษาในโลกยุคต่อไป ไม่ใช่การศึกษาที่จะขายตัวเองได้เพียงแค่นำคำว่า 4.0 หรือ 5.0 ไปต่อท้าย หากแต่ต้องเป็นการศึกษาที่เน้นความจริงใจว่าโรงเรียนมีความตั้งใจที่จะพัฒนาผู้เรียนให้มีศักยภาพอย่างแท้จริง ซึ่งการวัดกัน ณ จุดนี้ คนที่เป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ที่ดีที่สุดของโรงเรียนจะไม่ใช่ทีมมาร์เก็ตติ้ง หรือทีมประชาสัมพันธ์อีกต่อไป หากแต่จะเป็น “พ่อแม่ผู้ปครอง” ที่ส่งลูกมาเรียนเองเป็นผู้ประเมินให้ว่า โรงเรียนใดควรได้รับความไว้วางใจและโรงเรียนใดไม่ควรได้สิทธินั้น