Site icon Thumbsup

อยากเริ่มโครงการเกี่ยวกับ Big Data ในองค์กรต้องทำอย่างไร

Big Data เป็นเรื่องที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนหลายๆ แผนกในองค์กร  คนที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงอาจจะเป็นฝ่าย IT หรือการตลาดที่รู้อยู่แล้วว่า Big Data มีประโยชน์ต่อธุรกิจอย่างไร แต่เนื่องจากมันเป็นเรื่องที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องและขอความร่วมมือจากอีกหลายๆ ฝ่าย ยิ่งองค์กรมีขนาดใหญ่มากแค่ไหน การจัดการเพื่อให้เกิดการยอมรับนวัตกรรมก็ยิ่งมีความซับซ้อนมากขึ้นเท่านั้น ทีมหรือแผนกที่อยากจะนำ Big Data เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรจึงต้องมีกลยุทธ์ในการจัดการเพื่อความเปลี่ยนแปลง หรือ Change Management อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บทความนี้มีคำแนะนำทั้งในเชิงเทคนิคและการจัดการวัฒนธรรมองค์กรเพื่อให้การยอมรับ Big Data เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรทำได้ง่ายขึ้นค่ะ 

โดยทั่วไปแล้วเมื่อจะนำโครงการหรือวิธีทำงานใหม่ๆ เข้าไปเริ่มใช้ในองค์กร สิ่งที่เกิดขึ้นก็จะหนีไม่พ้นปัญหาอย่างเช่น มีหลายอย่างให้ทำ และพยายามจะลงมือทำทั้งหมด แต่ไม่สามารถทำได้ครบทุกอย่าง ทำให้ความเชื่อมั่นที่มีต่อโครงการนั้นหดหาย หรือผู้บริหารหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่เชื่อว่ามันจะสร้างประโยชน์ให้ธุรกิจที่เป็นเม็ดเงินได้จริง ทีมก็เลยไม่ได้ไฟเขียวให้ทำ รวมทั้งคนส่วนมากอาจจะเห็นว่ามันเป็นโปรเจคต์ที่ต้องใช้เวลานานเกินไป เป็นต้น เพื่อให้เราเริ่มโปรเจคต์กันได้ง่ายขึ้น สิ่งที่เราควรจะทำในระยะเริ่มต้น มีดังนี้ค่ะ

ขายไอเดียก่อน อย่าเพิ่งขายเครื่องมือ

การนำเสนอโปรเจคต์ Big Data ในองค์กร ควรเริ่มจากการขายวิธีแก้ปัญหาหรือขายวิสัยทัศน์  โดยที่ยังไม่ต้องพูดถึงงบประมาณที่ต้องใช้ ทีมงานหรือการขอแบ่งคนจากแผนกที่เกี่ยวข้อง หรือเทคโนโลยีที่ต้องใช้ในโครงการ Big Data

คนที่ไม่ได้ทำงานในสาย IT หรือการตลาด อาจจะไม่เคยได้ยินคำว่า Big Data มาก่อนด้วยซ้ำ ดังนั้น การพยายามบอกพวกเขาว่าองค์กรต้องการโปรเจคต์ Big Data มากแค่ไหนก็อาจจะไม่เกิดประโยชน์ เพราะมันฟังดูไม่เหมือนเรื่องใกล้ตัวพวกเขาเลยสักนิด ควรจะเริ่มจากปัญหาหรือโจทย์ที่บริษัทต้องการมากกว่า เพราะสำหรับคนอื่นๆ ในองค์กรมันฟังดูจับต้องได้มากกว่า

ในความเป็นจริงแล้ว โครงการ Big data จะสำเร็จได้หรือไม่ วัฒนธรรมองค์กรมีส่วนสำคัญมาก สิ่งแรกๆ ที่ควรทำคือสร้างการยอมรับจากภายในองค์กรให้ได้ (Buy-in internal) รวมทั้งต้องทำให้องค์กรมีลักษณะเป็น Data-driven culture คนในองค์กรต้องเชื่อเหมือนๆ กันว่า Data จะทำให้เกิดความเข้าใจในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของตนเองได้ดี ส่งผลให้เกิดวิถีปฏิบัติ (action) ที่ถูกต้อง

ตามหาหน่วยกล้าตาย

สมมุติว่าคุณขายไอเดียเรื่อง Big Data ผ่าน ผู้บริหารเห็นด้วยว่า Big Data คือสิ่งที่จะมากอบกู้สถานการณ์ของบริษัทได้ ขั้นตอนต่อมาคือต้องตามหาทีมงานที่จะมาเริ่มโปรเจคต์นี้ด้วยกัน อย่างที่เรารู้กันดีว่า Big Data เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย ดังนั้น ก็จะต้องมีการระบุตัวเจ้าของโปรเจคต์ (ในบางที่มีตำแหน่ง CDO หรือ Chief Data Officer เป็นเจ้าภาพ) และตัวแทนจากหลายๆ ฝ่ายที่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจในงาน จำนวนของทีมงานนี้ไม่ควรเกิน 12 คน เพื่อความคล่องตัวในการตัดสินใจ

เราจะเรียกคนเหล่านี้ว่า Data Champions ก็ได้ คุณสมบัติของคนเหล่านี้ คือยินดีที่จะเรียนรู้จากการลองผิดลองถูก เรียนรู้จากความผิดพลาดล้มเหลวได้ เพราะพวกเขาจะต้องเป็นคนลงมือทำ และช่วยกันประเมินผลโครงการต้นแบบ (Prototype)

ทีมงานเหล่านี้ควรจะได้รับการสนับสนุนจากผู้นำขององค์กรตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าการนำ Big Data มาใช้ในองค์กรนั้นมีส่วนสำคัญต่อโครงสร้างในการตัดสินใจทางธุรกิจขององค์กรจริงๆ

ระดมสมอง สร้าง Quick win

ทีมงานจะต้องระดมสมองและเลือกประเด็นปัญหาที่สามารถนำ Big Data มาแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว หรือจะเรียกว่าเป็นการเริ่มจาก MVP (Minimally Variable Product) เป็นโปรเจคต์เล็กๆ หรือผลิตภัณฑ์ชิ้นที่เล็กที่สุด ที่ผลิตด้วยทรัพยากรน้อยที่สุด ทั้งจำนวนคนและงบประมาณ แต่สามารถใช้งานได้จริง  และตอบโจทย์เป้าหมายระยะสั้นได้อย่างรวดเร็ว (Quick Win)

ยกตัวอย่างเช่น เป้าหมายในระยะยาวขององค์กรคือการนำเสนอผลิตภัณฑ์ได้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก ทีมงานอาจจะเริ่มจากการทำโปรเจคต์ Big Data เพื่อให้เกิดการแบ่งกลุ่มลูกค้าแบบ Micro segmentation เพราะการแบ่งลูกค้าออกเป็น 4-5 กลุ่มตามเพศ อายุ ศาสนา ฯลฯ อาจจะเป็นเรื่องเก่าไปแล้ว ถ้าดูจากธุรกิจแบบ eBay ที่แบ่งลูกค้าออกเป็น 15,000 กลุ่ม แบ่งตาม Data ที่เก็บมาได้จากพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้ใช้งาน

หรืออาจจะเริ่มจากการนำ Data ที่เก็บจากพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์มาทำเครื่องมือสำหรับ Real time Marketing เพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าได้เร็วขึ้น เป็นต้น

การสร้างโปรเจคต์ Quick win จะช่วยให้คนอื่นๆ ในองค์กรมองเห็นภาพว่า Big Data เป็นอย่างไร และช่วยองค์กรได้อย่างไร ทำให้เกิดการยอมรับภายในองค์กรได้ง่ายขึ้น

ความสำเร็จในระยะยาวของโครงการ Big Data

ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในระยะยาวของการนำ Big Data มาใช้ในองค์กรจะประกอบไปด้วย 5 ประเด็นหลักๆ คือ

1). เป้าหมายทางธุรกิจต้องชัดเจน องค์กรต้องรู้ว่าตัวเองกำลังมองหาอะไร เป็นส่วนที่สำคัญมาก เพราะจะทำให้เห็นภาพว่าข้อมูลแบบไหนเป็นที่ต้องการ และต้องไปเก็บข้อมูลเหล่านั้นมาจากไหน ใช้เครื่องมืออะไร วิเคราะห์อย่างไร

2). วัฒนธรรมองค์กร

3). การสนับสนุนจากผู้บริหาร

4). ออกไปร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ เพื่อให้เกิดการแบ่งปันความรู้และ Best practice ของแต่ละที่ และสร้าง ecosystem ที่ทุกคนมาร่วมมือกัน

——————————————————————————————————————————————————-

บทความนี้สรุปมาจากการบรรยายในงาน Big Data Business Insight 2014 จัดโดยบริษัทคอมพิวเตอร์โลจี จำกัด