Site icon Thumbsup

เขียน Blog อย่างไรให้ได้เงิน [ตอนที่ 3]

Blogger

เมื่อเดือนที่แล้วผมแปลและเรียบเรียงบทความ “เขียน Blog อย่างไรให้ได้เงิน” [ตอนที่ 1], [ตอนที่ 2] ออกมา แต่ก็เป็นแค่การแปล คราวนี้เลยถึงตาที่ผมจะต้องเขียนบทความแชร์ประสบการณ์ตรงของตัวเองเสียที ตอนนี้ตอนที่ 3 เป็นตอนสุดท้ายครับ

1. สร้างความแตกต่างที่จับต้องได้ง่าย – ในตำราธุรกิจทุกๆ เล่มมักจะแนะนำไว้ว่าคุณต้องสร้างความแตกต่างถึงจะเติบโตและโดดเด่น แต่คำถามต่อมาก็คือ แล้วเราจะสร้างความแตกต่างที่ว่าได้อย่างไร จากประสบการณ์ที่ผมเจอมาก็คือ ตอนแรกผมเขียน thumbsup กับเพื่อนร่วมงาน ก็ตั้งใจให้มันเป็นข่าวธุรกิจดิจิตอล ตอนแรกก็เงียบๆ ไม่ค่อยมีเสียงตอบรับอะไร จนกระทั่งวันหนึ่งผมคิดว่ารูปแบบการทำงานของ Blog มันก็คล้ายกับธุรกิจสื่อในทางหนึ่ง ก็เลยคิดถึงผลงานของสถานีโทรทัศน์ข่าวไอทีวีที่คุณสุทธิชัย หยุ่น แห่งกลุ่มเนชั่นเคยสร้างไว้เมื่อนานมาแล้ว นั่นก็คือการทำข่าวเชิงสกู๊ปที่จับต้องได้ง่าย อย่างการเปิดตัวด้วยข่าว “ส่วยตำรวจจราจร” ที่เราเจอกันบ่อยๆ ตามท้องถนนแต่ไม่เคยมีสื่อเจ้าไหนเอาเรื่องแบบนี้มานำเสนอ กองบก. thumbsup ทุกคนเลยคิดว่ามันเป็นจุดที่สามารถสร้างความแตกต่างจาก Blog ไอทีอื่นๆ ก็เลยลองเอาสูตรการทำงานของไอทีวีมาปรับใช้ ช่วงนั้น thumbsup เลยมีคนติดตามมากขึ้นจากการทำ breaking news ที่เป็นข่าวไทยที่เราเขียนเอง จนสำนักข่าวของสื่อกระแสหลักเอาข่าวของเราไปลง

2. รู้จักวิธีขาย Profile กับแบรนด์ และเอเยนซี่ – การเขียน Blog ให้ได้เงินไม่ใช่เรื่องยากอะไร แต่วิธีง่ายที่สุดคือรายได้จากโฆษณา เพราะมีแบรนด์ และเอเยนซี่โฆษณาที่ต้องการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการอยู่มากมาย ประเด็นคือ Blogger หลายคนไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร ที่จริงก็เริ่มต้นจากสังเกตว่า Blog ของคุณนั้นเหมาะกับสินค้าอะไร ก็ลองไล่เขียนรายชื่อมันออกมาสัก 20 แบรนด์ที่น่าจะมาเป็นผู้สนับสนุนคุณได้ จากนั้นก็เข้าไปดูจากพวกเว็บที่คนโฆษณาชอบเอาคลิปไปปล่อยกันอย่างพวก adintrend ในนั้นมักจะมีชื่อของเอเยนซี่ที่เอาคลิปของลูกค้ามาปล่อย คุณก็ติดต่อเขากลับไปว่า Blog ของคุณเป็น Blog เกี่ยวกับอะไร มีคนติดตามอ่านมากแค่ไหน บ่อยแค่ไหน และมันทำให้แบรนด์ที่เอเยนซี่กลุ่มนี้ถืออยู่ได้รับประโยชน์อย่างไร

สิ่งที่เอเยนซี่อยากได้ยินก็คือ Profile ของ Blog คุณเป็นอย่างไร Unique Visitor รายวัน รายเดือน และ Return Visitor อยู่ที่เท่าไหร่ และ traffic ของคุณมีคุณภาพแค่ไหน และผู้ชมเป็นกลุ่มไหนผู้ชายผู้หญิงกี่ % อาชีพ อายุเท่าไหร่ ซึ่งคุณก็สามารถหาได้จากการติดตัว tracking ต่างๆ เช่น Google Analytics, truehits, Effective Measure หรือจะเดินไปหาดิจิตอล เอเยนซี่ที่เป็นแนว Media หน่อยก็ได้ครับ เพราะเขาจะเน้นขายสื่อ เช่น mInteraction, Carat, Starcom IP ฯลฯ ถ้าไม่รู้จะนัดเจอยังไงก็แว๊บไปพวกงานอย่าง Web Wednesday กับ Digital Matters เดี๋ยวก็เจอเอง หรือถ้าหากว่าไม่ชอบทำงานกับคนเยอะมากนัก จะลงเป็นแนว Affiliate ก็ได้ครับ เมืองไทยมีแนะนำ Google Adsense และ Nuffnang

3. หาสูตรสำเร็จการทำรายได้ของ Blog ตัวเองให้ได้ – อย่างที่ผมแปลไว้แล้วว่ามันมีวิธีหาเงินมากมาย แต่วิธีที่เหมาะกับ Blog ของคุณคุณจะต้องหาเอง อย่างที่ผมเจอมาเอง เวลาทำ thumbsup รายได้ไม่ได้มาจากโฆษณาอันดับ 1 นะครับ แต่มันเป็นรายได้ทางอ้อมมาจาก sponsorship ใน event, รายการโทรทัศน์ Thailand Can Do, Training ที่เราได้รับความไว้วางใจจาก Econsultancy สำหรับ thumbsup ซึ่งเราออกตัวมาตลอดว่า traffic บน Blog มันไม่ได้มหาศาลแบบ Portal หรือ Social Platform ต่างๆ ถ้ามัวแต่จะทำรายได้จากโฆษณามันไม่ scale แน่นอน แต่สิ่งที่เราทำก่อนคือเนื้อหาของเราต้องมีประโยชน์กับชุมชนคนทำงานดิจิตอลอย่างชัดเจน จึงทำให้เรามีสูตรสำเร็จของตัวเองว่าสร้างประโยชน์ก่อนแล้วค่อยหารายได้ทางอ้อมจากแพลตฟอร์มอื่นๆ แต่หลักๆ คุณต้องทำตัวเองให้มีประโยชน์กับคนที่ติดตามคุณก่อน จากนั้นค่อยมาตัดสินว่าสูตรสำเร็จไหนที่เหมาะกับคุณ ของแบบนี้มันลองถูกลองผิดกันได้ครับ

4. แคร์คนอ่านให้มากพอ – อันนี้เป็นเรื่องความสัมพันธ์ของคุณกับคนอ่าน ตลอดจนความน่าเชื่อถือครับ ถ้าหากว่าคุณไม่นำเสนออย่างสม่ำเสมอ เขียนบ้างไม่เขียนบ้าง คนอ่านถามอะไรก็ไม่ตอบ คนอ่านก็จะไม่รู้ว่าจะคาดหวังอะไรจากคุณได้ อย่างที่เราทำมา ก็คือเราบอกเลยว่าเราอัพเดตทุกวัน ไม่มีเบี้ยวแน่นอน จะเหนื่อยแทบตายจะดีจะร้ายอย่างไรอัพเดตแน่นอน แต่ถ้าเรามีทัศนคติว่า “ช่างมันเถอะ ใครจะมาแคร์” ก็แสดงว่าคุณยังไม่ได้แคร์คนอ่านมากพอ และเมื่อคุณไม่แคร์เขา เขาก็ไม่แคร์คุณเช่นกัน

5. แบ่งเวลาให้กับการ moderate บทสนทนา – บางคนที่ผมเคยคุยมาบอกว่างานเขียน Blog มันต้องทั้งอึดทั้งทน แต่การก้มหน้าก้มตาอัพเดตโดยไม่ดูฟ้าดูตะวัน มันก็คือการขยันแบบไม่ฉลาดสักเท่าไหร่ เวลาคุณเขียน Blog ซึ่งมันเป็นสื่อสองทาง ให้คุณแน่ใจว่าเวลาส่วนหนึ่งอุทิศไปกับบทความคุณภาพดี และเวลาอีกส่วนคือการทำให้คนอ่านสัมผัสตัวตนของคุณได้ผ่านทางการ moderate หรือการถามตอบ ซึ่งจะทำให้สิ่งที่คุณเขียนมีความหมายยิ่งขึ้นไปอีก Blog ที่ผมชอบการ moderate มากๆ เลยก็คือ Blog ด้านมือถืออย่าง Appdisqus? ครับ สังเกตได้เลยว่าทีมงานนอกจากจะพยายามเขียนบทความกันอย่างดีแล้ว ยังแบ่งเวลามาตอบคำถามกันดีมากๆ ทำให้บทสนทนาของผู้อ่านและทีม Blogger เข้มข้นน่าสนใจดีทีเดียวครับ

ส่วนตัวผมมีแชร์ 5 ข้อแค่นี้ก่อนครับ ใครมีคำถามอะไรก็โพสต์ไว้ด้านล่างได้

ท้ายสุดนี้ใครที่ชอบ series เขียน Blog อย่างไรให้ได้เงินลองไปอ่าน Blog ดีๆ ดังนี้ได้เลยนะครับ ยังมีให้อ่านอีกหลายชิ้นเลยทีเดียว
1. @Pinnynoy ที่เขียนบทความในชื่อเดียวกัน 2 ตอน [ตอนที่ 1] [ตอนที่ 2]
2. ขาใหญ่ไอทีอย่าง อ.ศุภเดช แบไต๋ไฮเทค กับ “10 เทคนิคการก้าวสู่อาชีพ Blogger แบบหาตังค์ได้”
3. Blog ของ @Khajochi ที่เขียนมุมกลับแบบกวนๆ ในตอนที่ชื่อว่า 10 เทคนิคการเป็นบล็อกเกอร์อย่างไร “ให้ไม่ได้ตังค์”
4. บันไดสู่ความสำเร็จของการเป็น Blogger ของ @Yokekung

ภาพ: VillageVoice