Site icon Thumbsup

เขียนบล็อกเชิงธุรกิจให้คนอยากอ่าน

การเขียนบล็อกเชิงธุรกิจให้คนสนใจและอยากคลิกเข้าไปอ่าน ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะคะ ยิ่งเรามีฐานะเป็นแบรนด์ธุรกิจ ไม่ใช่อินฟลูเอนเซอร์ หรือพับลิชเชอร์ที่จะเขียนให้คนอยากอ่านด้วยแล้ว ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ ยกเว้นในกรณีที่ลูกค้าสนใจเราอยู่แล้ว หรืออยากสั่งซื้อสินค้าเราอยู่แล้ว ลูกค้าย่อมอยากอ่านเนื้อหาของเราทุกด้านเพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจ แต่เมื่อเขากดติดตามแล้ว จะทำอย่างไรให้เขาอยากกดซ้ำเข้ามาดูบ่อยๆ แม้ไม่ได้อยู่ในช่วงที่กำลังต้องการสินค้าของเราก็ตาม วันนี้ thumbsup มีแนวทางมาแนะนำให้ปรับใช้กันค่ะ

ด้วยความเป็นแบรนด์หรือเจ้าของธุรกิจแน่นอนว่าคุณจะสร้างบล็อกขึ้นมาเพื่อธุรกิจของคุณใช่ไหมคะ แต่นอกจากแกนหลักของการขายสินค้าแล้ว คุณจะต้องมีการกำหนดวัตถุประสงค์หรือตัวตนของคุณที่จะแสดงในบล็อกให้ชัดเจนก่อน เพื่อที่จะได้กำหนดคอนเทนต์ที่จะเกิดขึ้นในบล็อกว่าควรเป็นไปในแนวทางไหน

หากให้อ้างอิงก็เช่น เพจ Mission to the moon ของคุณรวิศ หาญอุตสาหะ เจ้าของแบรนด์ศรีจันทร์ที่นอกจากจะมีการทำโซเชียลเกี่ยวกับแบรนด์แล้ว ก็ยังทำเพจและพอดแคสต์ Mission to the moon ขึ้นมา เพื่อแสดงความเป็นตัวตนให้คนจดจำและติดตามเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตการทำงาน การมองโลกในแง่ดี และการปรับตัวกับยุคสมัยในเรื่องของการทำงาน เมื่อลูกค้านึกถึงแบรนด์ศรีจันทร์ก็จะนึกถึงคุณรวิศด้วย เรียกว่าเป็นการปั้นคอนเทนต์ได้ตรงกับสิ่งที่ตลาดต้องการและยังจดจำความเป็นตัวตนของผู้บริหารได้อย่างดีด้วยค่ะ

หรือถ้าเขียนไปได้สักระยะหนึ่งแล้ว ทีมคอนเทนต์รู้สึกหมดมุก ลองให้ผู้บริหารแชร์ประสบการณ์ หรือเชิญกูรูที่เชี่ยวชาญและน่าสนใจมาเขียนก็ได้นะคะ เพราะจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือของแบรนด์เรายิ่งขึ้นด้วยนะคะ

อ่านแค่หัวข้อก็ยากแล้วใช่ไหมคะ จะเขียนยังไงให้คนอยากอ่านกันล่ะ ทั้งบล็อก ฟีดข่าวบนโซเชียลมีเดีย อีเมล์มาร์เก็ตติ้ง ต่างก็มีหลักการเขียนที่คล้ายกันคือเขียนให้คนอ่านไม่รู้สึกว่าเป็นการขายของหรือยัดเยียดสินค้ามากเกินไป แต่เป็นการเขียนที่ให้ความรู้สึกเข้าถึงและใกล้ชิดกับเขา

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเป็นแบรนด์ขายเครื่องใช้ไฟฟ้า คุณไม่ควรบอกแค่ว่าตู้เย็น พัดลม หรือแอร์คอนดิชั่นที่คุณขายนั้น มีคุณสมบัติอย่างไร แต่ควรบอกเชิงกล่าวอ้างถึงปัญหาก่อนค่ะ และค่อยบอกคุณสมบัติ เช่น อากาศร้อนแบบนี้ แอร์ของคุณยังเย็นฉ่ำอยู่ไหม ลองใช้แนวทางทำความสะอาดแอร์ของคุณให้สะอาดอยู่เสมอเพื่อเพิ่มความเย็นตามหลักการของเราก่อน จากนั้นอธิบายแนวทางการทำความสะอาดและวิธีดูแลรักษาเครื่องใช้ไฟฟ้าก่อน

แต่ถ้าในเนื้อหาแนะนำวิธีการแล้ว ให้ทิ้งท้ายว่า “แต่ถ้าคุณทำความสะอาดตามหลักการของเราแล้วแอร์ยังไม่เย็นฉ่ำ เราขอแนะนำ แอร์ (ยี่ห้อหรือรุ่น) มีคุณสมบัติ (ขนาดห้อง บีทียู) ราคา (ต้องระบุให้ชัดเจนและถ้ามีส่วนลดก็ต้องบอกด้วยนะคะ) และควรมีหลายรุ่นให้เปรียบเทียบด้วยนะคะ

ที่มา : https://www.daikinindia.com/blog-details/looking-most-energy-efficient-split-air-conditioners-india

การเขียนแบบนี้ แม้ลูกค้าจะยังไม่ตัดสินใจซื้อทันทีแต่เขาจะเริ่มรู้สึกแล้วว่า บล็อกของคุณมีประโยชน์ จะดึงดูดให้อยากกลับเข้ามาดูซ้ำเรื่อยๆ และเมื่อเขามีความต้องการจะซื้อก็จะเลือกค้นหาแบรนด์ของคุณหรือแพลตฟอร์มของคุณก่อน ดังนั้น คุณต้องมีช่องทางการติดต่อ รองรับการขายออนไลน์และโซเชียลมีเดียสำหรับติดตามอ่านรีวิวให้ครบถ้วน เพราะคนซื้อแต่ละคนจะมี Journey ในการตัดสินใจซื้อแตกต่างกันค่ะ

แน่นอนว่าเนื้อหาที่เราคิดขึ้นมาย่อมมีการเตรียมข้อมูลมาอย่างเต็มที่และหวังได้ประโยชน์กับคนอ่านใช่ไหมคะ แต่ถ้าเราตั้งหัวข้อให้เป็นแบบธรรมดาไม่ดึงดูดย่อมไม่มีคนคลิกเข้ามาอ่านเนื้อหาตามที่เราคาดหวัง แต่ก็ให้กำลังใจคนเขียนนะคะ แม้คนจะคลิกอ่านไม่เยอะ แต่ถ้าภายในเนื้อหามีคำหรือ wording ที่ตรงกับ SEO ก็ย่อมมีโอกาสที่คนจะหาเราเจอแน่นอน

การตั้งชื่อหัวข้อที่ดีนั้น ควรมีทั้งถ้อยคำดึงดูดและ SEO Friendly ด้วยนะคะ ท่านผู้อ่านคงสงสัยว่า จะตั้งอย่างไรล่ะ วิธีการก็คือ ลองเอา Keyword มาใช้เป็นแกนหลักในการตั้งชื่อก่อน เช่นคำว่า รีวิว นอกจากคำว่ารีวิวแล้วจะใช้คำว่าอะไรได้บ้าง ลองคิดกันดูค่ะ

ยกตัวอย่าง รีวิว เราจะรีวิวอะไรคะ จะเป็นร้านอาหาร สินค้า บริการ  จากนั้นกำหนดเรื่องของ 5 สัมผัส รูป รส กลิ่น เสียง หรือกำหนดชื่อสถานที่ ถนน ซอย ย่าน หรือจะกำหนดเป็นประเภทของสินค้าและบริการ เราจะมีให้เป็นแนวทาง 5 หัวข้อดังนี้ค่ะ

นอกจากนี้ เรื่องของการเว้นวรรคหรือไม่ ก็มีผลกับการค้นหานะคะ หากเราตั้งชื่อในหัวข้อไม่เว้น แต่ในเนื้อหาเว้นวรรค ก็จะเพิ่มโอกาสในการค้นหาเจอได้ เห็นไหมคะว่าการตั้งชื่อหัวข้อและเนื้อหาในโพสต์ล้วนแล้วแต่มีผลกับการค้นหาเราเจอทั้งนั้นค่ะ

เนื้อหาในบล็อกนั้น จะเขียนยาวหรือสั้น ทำเป็นภาพอินโฟกราฟิก หรือวีดีโอ ต่างก็มีโอกาสในการเข้าถึงแตกต่างกัน หากเรานำไปแชร์บนแพลตฟอร์มที่แตกต่างกัน แต่ไม่ว่าคุณจะเลือกประเภทของคอนเทนต์เป็นแบบใด สิ่งที่ต้องมีคือเอาเนื้อหานั้นมาใส่ลงบล็อกด้วย เพราะวันหนึ่งที่มีการค้นหา ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน คนอ่านก็จะกลับมาเจอเราได้เสมอ

มีบทความจากนักเขียนชื่อดังหลายคนหรือหลายสำนัก มักจะบอกให้เราทราบว่าการทำอินโฟกราฟิกจะได้ยอดแชร์ที่ดีบน Facebook หากใครทำวีดีโอยาวๆ และเรียกให้คนดูต่อเนื่องก็ควรแชร์บน youtube ใครที่ทำบทความสัมภาษณ์เชิงธุรกิจควรเขียนแชร์ลง LinkedIn หรือทำคลิปรีวิวสั้นๆ ควรทำลงบน Tiktok สุดท้ายถ้าอยากปั่นแฮชแท็กให้คนอยากซื้อต้องทำใน Twitter

ไม่ว่าจะทำรูปแบบการตลาดบนช่องทางใด ก็ควรนำเนื้อหาและแคมเปญ คำอธิบายที่มาที่ไปทั้งหมดบน blog ของคุณด้วยค่ะ ที่นี่จะเป็นคลังให้นักท่องเน็ต ไม่ว่าอยู่ที่ไหนในโลกก็หาคุณเจอ รวมทั้งแบรนด์ของคุณถ้าอยากเจาะตลาดต่างประเทศก็ควรทำแบบสองภาษารองรับไว้ด้วยก็ดีนะคะ เป็นการเพิ่มทั้งโอกาสทางการขายและการรับรู้แบรนด์ได้ดีทั้งสิ้น

เข้าใจนะคะว่า พอทำคอนเทนต์ไปสักพักนึง ถ้ามีคนอ่านไม่เยอะ ทีมบริหารอาจมองว่าไม่คุ้มค่าหรือไม่อยากทำคอนเทนต์แล้ว จึงอาจตัดงบทีมคอนเทนต์เป็นส่วนแรก แต่ทางผู้เขียนอยากบอกว่า ทีมคอนเทนต์คืออีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการสร้างแบรนด์ไม่แพ้ทีมประชาสัมพันธ์หรือการตลาดเลยนะคะ เพราะการเขียนให้คนอยากซื้อ เขียนให้คนอยากติดตามไม่ได้เป็นเรื่องง่าย

ยิ่งในยุคออนไลน์ที่คนมี Journey เยอะมาก การเขียนให้ดึงดูดใจย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน ดังนั้น ทีมคอนเทนต์ต้องวางแผนให้ดีและทำงานร่วมกับคนอื่นให้ได้นะคะ ไม่ใช่เน้นแต่การเขียนอย่างเดียว แต่ต้องคิดให้รอบด้านด้วยว่า นอกจากเขียนให้ขายได้แล้ว เขียนให้คนอ่านติดตามแล้ว จะเขียนอย่างไรให้คนกดซื้อและเชื่อมโยงไปที่อีคอมเมิร์ซของบริษัทได้ด้วย เพราะนั่นคือรายได้ที่จะช่วยให้บริษัทเติบโตได้ค่ะ

ส่วนทิ้งท้ายที่คนมักถามว่า ทำเว็บแล้วเปิดโอกาสให้มีการโฆษณาของแบรนด์อื่นๆ ดีไหม อย่างเช่นการทำแถบโฆษณาด้านข้าง Pop-up หรือแถบด้านบนของหน้าจอ สำหรับตัวผู้เขียนเองมองว่า ก็ไม่ผิดนะคะ แค่จินตนาการดูว่า ถ้าคุณเป็นบล็อก AIS แต่มีโฆษณาของ dtac และ TRUE เข้ามา คนอ่านจะโอเคไหม หรือจะส่งผลให้คนอ่านคลิกไปของคู่แข่งมากกว่าหรือเปล่า ก็ตามแต่นโยบายของแต่ละที่เลยค่ะ

ส่ิงที่คิดว่าที่บล็อกควรมีคือโปรโมทช่องทางโซเชียลมีเดียของตัวเองให้เต็มที่ มี Call to action ของบริษัทหรือช่องทางการติดต่อให้ง่ายที่สุดเข้าไว้ จะช่วยให้คนกดสั่งซื้อสินค้าและตัดสินใจได้เร็วขึ้นค่ะ

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนต้องขอออกตัวก่อนว่าวิธีที่เราแนะนำนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะใช้แนวทางเดียวกันและประสบความสำเร็จทั้งหมด แต่ต้องอยู่ที่ความสม่ำเสมอ เนื้อหาเป็นในแนวทางเดียวกันและต่อเนื่องด้วยนะคะ ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการทำบล็อกค่ะ