ช่วงนี้เป็นอีกหนึ่งช่วงที่น่าสนใจของภาคธุรกิจ เพราะหลาย ๆ บริษัทเลือกที่จะออกมาเปิดเผยผลประกอบการครึ่งปีแรกกันอย่างคึกคัก ซึ่งแบรนด์สมาร์ทโฟนอย่างหัวเว่ยก็เช่นกันที่เลือกออกมาประกาศผลประกอบการในครึ่งปีแรก – ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ พร้อมทิศทางในการพัฒนาโปรดักซ์ในอนาคตที่ระบุว่า “ปัญญาประดิษฐ์” คือคำตอบสุดท้าย
โดยสถานการณ์ของหัวเว่ยในประเทศไทยปีนี้ต้องบอกว่าสามารถก้าวขึ้นมามีส่วนแบ่งในตลาด (ในแง่ Unit) ได้ถึง 10.7 เปอร์เซ็นต์ (สถิติในเดือนพฤษภาคม 2017) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (พฤษภาคม 2016) ที่อยู่ที่ 1.2% ถึง 8 เท่า ส่วนในด้านรายได้จากการขาย หัวเว่ยระบุว่าเติบโตขึ้น 5 เท่า (อ้างอิงข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย) ซึ่งการเติบโตของหัวเว่ยในระดับนี้ทำให้ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในประเทศ Tier-1 ของหัวเว่ย (ได้รับงบประมาณและการลงทุนต่าง ๆ เพิ่ม) และเป็น Strategic Country ด้วย
ขณะที่ในระดับโลก หัวเว่ยมียอดขายในช่วงครึ่งปีแรก 73.01 ล้านเครื่อง เติบโตขึ้น 20.6% รายได้คิดเป็น 105.4 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 36.2% และส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 9.8% จากเดิม 8.4% เป็น Global Brand อันดับ 3 ของโลก
คุณทศพร นิษฐานนท์ รองผู้อำนวยการ หัวเว่ย คอมซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป (ประเทศไทย) เผยว่า สิ่งที่หัวเว่ยทำได้ถูกที่ถูกทางจนกลายเป็นการเติบโตในสเกลดังกล่าวมาจาก 4 ปัจจัยหลัก นั่นคือ ตัวสินค้า, ช่องทางการจัดจำหน่ายและทีมงาน, แบรนด์ที่มีพัฒนาการไปสู่การเป็น Premium Brand และบริการพิเศษต่าง ๆ
- ผลิตสินค้าโดยยึดผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง ในจุดนี้หัวเว่ยเผยว่าบริษัทมีการสร้าง R&D Center แล้ว 15 แห่งทั่วโลก และเลือกที่ตั้งตามความโดดเด่นของแต่ละประเทศ เช่น R&D ด้านดีไซน์ก็จะเลือกเมืองแฟชั่นเช่น ปารีส-ลอนดอนเป็นที่ตั้ง หรือถ้า R&D ด้าน Interface ก็อยู่ที่สหรัฐอเมริกา R&D ด้านการควบคุมคุณภาพอยู่ที่ญี่ปุ่น ส่วน R&D ด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์อยู่ที่อินเดีย เป็นต้น
- มีพนักงานในฝ่าย R&D 80,000 คน จากพนักงานทั้งหมด 170,000 คน
- ลงทุนเงินในด้าน R&D ไปแล้ว 45,000 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่าการลงทุนด้าน R&D ในอันดับที่ 9 ของโลก
- ทำ Joint Innovation Center กับแบรนด์อื่น ๆ เช่น Leica, Google, Pantone ฯลฯ
- ขยาย Huawei Experience Shop มากขึ้น โดยปัจจุบันมีมากกว่า 42,300 แห่งทั่วโลก และในปีนี้คาดว่าจะขยายไปจนถึง 56,000 แห่งทั่วโลก ขณะที่ในเมืองไทย ปัจจุบันมี Experience Shop แล้ว 41 แห่ง หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 4 เท่าตัว ซึ่งแนวทางในการขยายจะเลือกตั้งตาม Strategic Location เช่น ห้างสำคัญ ๆ
- เพิ่มร้านค้าจัดจำหน่ายจาก 1,000 กว่าแห่งเป็น 9,000 กว่าแห่งในปัจจุบัน พร้อมตั้งเป้าให้มีถึง 10,000 แห่งภายในสิ้นปี 2017
- เพิ่มพนักงานจากประมาณ 500 คนในปีที่แล้วเป็น 1,500 คนในปัจจุบัน
- ดึงผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ จากองค์กรใหญ่ ๆ เข้ามาเสริมทัพมากขึ้นทั้งในระดับบนและระดับกลาง
- ส่วนแบ่งตลาดในสมาร์ทโฟนกลุ่มพรีเมียมเช่นตระกูล P และตระกูล Mate (ราคา 500 เหรียญสหรัฐขึ้นไป) ของหัวเว่ยมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่ม จาก 1.6% (พฤษภาคม 2016) เป็น 8.3% ในปีนี้ และจะมีการเปิดตัวสมาร์ทโฟนตระกูล Mate เพิ่มในช่วงครึ่งปีหลังนี้ด้วย
- ส่วนงานบริการขยายขึ้นมาเป็น 14 ศูนย์ทั่วประเทศในปัจจุบัน รวมถึงให้ร้านค้าเป็น Drop Point ให้ในกรณีที่ผู้ซื้อไม่สะดวกไปศูนย์ และนโยบาย door-to-door ให้เจ้าหน้าที่หัวเว่ยไปรับเครื่องถึงที่ตามต้องการ
- ใส่อีเมลของ Service Director ลงในโบรชัวร์ ในกรณีที่มีเรื่องใหญ่สามารถอีเมลตรงถึงผู้บริหารได้
คุณทศพรกล่าวว่า ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ผู้บริโภคเริ่มเปิดใจให้หัวเว่ยมากขึ้น ส่วนเป้าหมายของปีนี้ ก็ยังคงเหมือนกับที่ประกาศไว้เมื่อต้นปีนั่นคือ เติบโตด้านรายได้ 3 เท่าจากปีที่แล้ว และก้าวขึ้นมาเป็นแบรนด์ที่มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทยให้ได้ พร้อมกล่าวด้วยว่ากรณีของข่าวสมาร์ทโฟน P10 ในช่วงที่ผ่านมามีผลกระทบกับแบรนด์อยู่บ้าง แต่ตอนนี้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
Consumer Insight ในมุมของหัวเว่ย “เราเห็นเทรนด์ของการอัปเกรด”
“หัวเว่ยเรามองว่าตลาดเปลี่ยนไปแล้ว เมื่อก่อนเราอาจอยู่ในยุคข้อมูลสารสนเทศ แต่ยุคต่อจากนี้สินค้าจะมีความอัจฉริยะมากขึ้น ในส่วนของผู้บริโภคเองก็เปลี่ยนไป ทุกวันนี้ผู้บริโภคหลักของเราคือกลุ่มมิลเลนเนียล หลายคนเป็น Digital Native ตั้งแต่เกิด ซึ่งคนเหล่านี้มีความต้องการต่าง ๆ มากขึ้น มีรายได้มากขึ้น การซื้อสมาร์ทโฟนของลูกค้าก็เริ่มเปลี่ยนไป โดยหันมาซื้อรุ่นที่ราคาแพงมากขึ้น จากเดิมเคยซื้อสมาร์ทโฟนระดับล่างก็อัปมาซื้อในระดับกลาง จากที่เคยซื้อระดับกลางก็อัปไปตลาดบน และคนก็เริ่มมีีความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยี สามารถใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย” คุณทศพรกล่าว
“สินค้าก็จะฉลาดขึ้น ให้คำแนะนำเราได้ ตอบสนองความต้องการในด้านต่าง ๆ ของเราได้มากขึ้น ทำให้การใช้ชีวิตง่ายขึ้น”
นอกจากนั้น พฤติกรรมการใช้งานก็เปลี่ยนไป โดยพบว่ามีถึง 6% ที่ยกมือถือขึ้นมาเปิดดูมากกว่า 100 ครั้งต่อวัน มีการใช้งานกล้องมากขึ้น โดย 60% ของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายเซลฟี่ และอีก 70% อยากได้กล้องที่ดีขึ้น
“เรื่องเกมนี่เปลี่ยนไปเยอะมาก เมื่อ 10 ปีที่แล้วเราพบว่ามีคนเล่นเกม 100 ล้านคน แต่ตอนนี้ มีคนเล่นเกม 2,700 ล้านคน อีกตัวหนึ่งคือการดูวิดีโอ คนสมัยก่อนจะไม่ค่อยกล้าดูวิดีโอผ่านอินเทอร์เน็ต ตอนนี้การสตรีมมิ่งคอนเทนต์สูงขึ้นถึง 90% การใช้ Mobile-Payment ก็มากขึ้น” คุณทศพรกล่าวเสริมพร้อมเผยด้วยว่า 88% ของผู้ใช้สมาร์ทโฟนจะเริ่มมองหาแอปพลิคเคชันด้านสุขภาพมาติดตั้งอย่างน้อย 1 ตัวด้วย
จากเทรนด์นี้ คุณทศพรจึงเผยว่า บริษัทได้พุ่งเป้าไปที่การพัฒนาสินค้าให้ฉลาดขึ้นเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้ นั่นคือการนำปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วย
“ภายในปี 2025 ผู้ใช้งานสมาร์ทโฟน 90% จะมีการใช้งานบริการจากปัญญาประดิษฐ์แล้ว ดังนั้นหัวเว่ยจึงพัฒนา AI chipset (Kirin Chipset) – ตัวเครื่อง และบริการจากคลาวด์ให้รองรับกับความเปลี่ยนแปลงนี้ให้ได้ และประเทศไทยก็เป็นประเทศแรก ๆ ที่จะเริ่มแผนการให้บริการจากคลาวด์ด้วย” คุณทศพรกล่าวปิดท้าย