Site icon Thumbsup

คุยกับทีมดูแล Content และ Social แห่ง Wongnai ผู้สร้างกระแส Real-Time Content บนโลกโซเชียลและออนไลน์

wongnai-content

เชื่อว่าผู้อ่าน thumbsup ที่ใช้งานโซเชียลบ่อยๆ น่าจะเคยได้เห็นการทำ Content Marketing เจ๋งๆ หลายเจ้า ซึ่ง 1 ในแบรนด์ที่ถือว่าทำ Content ในลักษณะของ Real-Time Content ได้ดี, คงความเป็นแบรนด์ไว้ และทำออกมาอย่างสม่ำเสมอนั่นคือ Wongnai ด้วยเหตุผลนี้ทำให้ทาง thumbsup รอไม่ได้ที่จะขอนัดเพื่อนั่งคุยกับทีมผู้ดูแล Content และ Social ที่ดูแล Wongnai.com แพล็ตฟอร์มรีวิวร้านอาหารที่ใหญ่ที่สุด ณ เวลานี้

ครั้งนี้เราได้จับเข่าคุยกันในเรื่อง Content Marketing และ Real-Time Content สไตล์วงในกับทั้ง 3 ท่าน ได้แก่ โจ้ – วิริยะ รงค์ทอง Marketing Analyst, เนม – ธีรนัย สิทธิจำลอง Content Manager และ หลุยส์ – เอกลักษณ์ วิริยะโกวิทยา COO แห่ง Wongnai.com

ตอนนี้ทีม Content และ Social ของ Wongnai มีกี่คน

เนม – ตอนนี้มีประมาณ 13 คน รวมทั้งที่อยู่ที่เชียงใหม่, ชลบุรี และที่ๆ เราเพิ่งกำลังจะเปิดจะมีที่หาดใหญ่และภูเก็ตเพิ่มเข้ามาอีก 3 คนครับ

โจ้ – โซเชียลตอนนี้มีผมคนเดียวที่ดูตัว account หลักครับ สำหรับ account ที่เป็น local ตามจังหวัดต่างๆ ทีม marketing & content ที่นั่นๆ จะดูแลเอง

Wongnai.com มีช่องทางโซเชียลอะไรบ้าง

โจ้ – มี Twitter, Instagram, Facebook หลักๆ เราจะใช้แค่ 3 ช่องทาง แต่เรามี page ย่อยๆ ตาม local เพื่อให้เข้าถึงคนตามพื้นที่นั้นๆ ด้วย เช่น “น้าอ้วนชวนหิว” ของเชียงใหม่ (https://www.facebook.com/hungryfatguy) และ “ชลบุรี กินอะไรดี” ของชลบุรี (https://www.facebook.com/HungryChonburi)

ทั้งทีม Social และ Content มีวิธีการทำงานด้วยกันอย่างไรบ้าง

เนม – จริงๆ มันเหมือนเวลาแชร์ไอเดียครับ เวลาเราเจอหัวข้ออะไรที่น่าสนใจในโลกโซเชียล เราก็จะเอามาคุยกันว่าเอามาเล่นอะไรบ้าง จะมีอะไรที่สามารถโยงเข้าไปในเรื่องอาหารซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำอยู่ได้อย่างไร ผมยกตัวอย่างแล้วกันครับ ในช่วงปีที่ผ่านมา เราอยากปรับลุคของตัวเองให้ดูสนุกสนาน ดู  Trendy มากขึ้น เช่นช่วงหนังเมย์ไหนไฟแรงเฟร่อ เราก็ทำ คั่วไก่ ไฟแรงเฟร่อ หรือจะเป็นดราม่าบน Pantip ที่เป็นกระแสคนพูดถึงบ่อยๆ อย่างช่วงนั้นมีเรื่องโบกรถไปภูทักเบิกที่ไม่ได้ใช้เงินสักบาท เราก็เลยนึกเลยว่า ที่ภูทับเบิกมีอะไรอร่อยบ้าง

ซึ่งเราโชคดีมากที่เรามีฐานข้อมูลที่ค่อนข้างดีมากๆ เพราะมีผู้ใช้งานเข้าไปรีวิวร้านอาหารทั่วประเทศอยู่แล้ว เราก็แค่ดึงจุดเด่นที่เรามีอยู่แปรรูปเป็น Content ที่เราทำอยู่แล้วเป็นปกติ

มีตัวอย่างนึงที่เราค่อนข้างภูมิใจ อย่างของคุณเต๋อ นวพล (ผู้กำกับ Freelance) ซึ่งไอเดียนี้ทางพี่หลุยส์เองส่งมาบอกว่า เต๋อ นวพล แชร์เรื่องร้านอาหารในโรงแรม เราก็เอามาคิดว่าเราจะทำ Content อะไรดี ซึ่งเราก็มาแตกไอเดียว่า หากเป็น Freelance ก็ต้องเป็นร้านที่ปิดดึกๆ ก็เลยกลายเป็นบทความแนะนำร้านอาหารสำหรับ Freelance ไปเลย

หรือจะเป็นเคสลูกเทพ ถ้าดูตาม Concept แล้วเราต้องการจะทำเนื้อหาเกี่ยวกับร้านครอบครัวที่มีเก้าอี้เด็กให้นั่ง แต่ว่ามีกระแสลูกเทพเข้ามา ก็เลยเอากระแสนี้มาพ่วงกับบทความนี้ไปเลย ซึ่งจะเห็นว่าบทความยังมีความเชื่อมโยงกับสิ่งที่เราต้องการจะนำเสนออยู่แล้ว

แต่ต้องยอมรับว่าบทความทุกตัวมันไม่ได้ปังไปทั้งหมด Facebook เวลาที่เราแชร์ไปบางทีก็ปังบ้าง แป้กบ้าง ที่แป้กเพราะคนบน Facebook ไม่ค่อยเข้าใจว่าเราต้องการสื่อสารอะไร แต่พอเวลาแชร์บน Instagram และ Twitter คนกลับเข้าใจมากกว่า เข้าถึงมากกว่า

มันอยู่ที่ Reach, จังหวะการโพสต์หรือเปล่า?

เนม – จังหวะก็เกี่ยวครับ บางทีก็คุยกับโจ้เหมือนกันว่าจะโพสต์ช่วงเวลาไหนดี ควรจะ Hashtag อะไรดี

ข้อมูลที่เราจะเอามาทำบทความแบบนี้เรามาจากฐานข้อมูลของวงในล้วนๆ เลยใช่ไหมครับ?

เนม – เราดึงข้อมูลจากการรีวิวของผู้ใช้งานล้วนๆ โดยเราตั้งประเด็นขึ้นมาก่อนแล้วเราถึง Query ขึ้นมา อีกอย่างเราค่อนข้างเสพย์ติดโซเชียลอย่างมาก เราต้องมาดูว่ามีอะไรที่เล่นได้บ้าง ซึ่งบทความแต่ละตัวเราใช้เวลาในการทำแค่วันเดียว เพราะความที่เราโชคดีมีฐานข้อมูลที่โอเคอยู่แล้ว เราแค่จับ Point ให้เข้ามาสู่ประเด็นที่เราต้องการแล้วทำเป็นบทความ

หลุยส์ – จริงๆ แล้วงานฝั่งของ Editor (Content) ของวงใน เราแทบจะไม่ใส่ความเห็นของเราไปเลย เราดูว่าผู้ใช้งานเขาชอบ-ไม่ชอบอะไร คะแนนรีวิว มีจุดเด่นอะไร เราเอาสิ่งที่คนเขียนมาเรียบเรียงเป็นเนื้อหา เราอาจจะไม่จำเป็นต้องไปถึงร้านนั้นจริงๆ แค่เอาสิ่งที่คนรีวิวก็สามารถมาเล่าสรุปให้เข้าใจง่าย ซึ่งจุดนี้คือสิ่งที่ทำให้เราทำงานได้เร็วขึ้น

มีการจัดการ Content ประเภทนี้กับ Content ปกติอย่างไรบ้าง?

หลุยส์ – ปกติเราก็มี Content Calendar อยู่แล้วว่าวันไหนจะโพสต์อะไรบ้าง ถ้ามี Content นี้ขึ้นมาเราก็จะมาดูว่าจะแทรกลงไปหรือจะสลับ แล้วแต่ช่วงเวลานั้น ซึ่งเราก็ใช้ Excel, Google Sheet ในการทำงานร่วมกันระหว่างทีมตลอด ซึ่งมันทำให้จัดการง่าย

แล้วปกติการคุยงานในทีมใช้เครื่องอะไร

ตอนนี้ย้ายมาใช้ Slack กันครับ เพราะว่ามันสามารถให้ทีมอื่นๆ เข้ามาดูเข้ามาคุยการสนทนาได้ เปิดโอกาสให้ทุกทีมเข้ามาแขร์ความเห็นได้ ซึ่งนี่คือข้อดีของมัน อีกอย่างการใช้ Slack มันไม่เปลืองแรงเท่าการเขียนอีเมล ต้องพิมพ์ว่าจะส่งหาใคร, ต้องตั้ง Topic ยังไงบ้าง ซึ่งเราคิดว่าการใช้ Slack มันให้ความรู้สึกเป็น Conversation มากกว่าการสั่งงาน ทำให้ไม่มีอะไรมากั้นมาก แต่เมื่อก่อนเราใช้ LINE นะแต่ก็เลิกใช้ไปแล้ว เพราะมันไม่เปิดเท่าเนื่องจากว่าต้องการ add contact กันก่อน ถึงจะเริ่มคุยได้

ตั้งแต่ที่เริ่มทำ Real-Time Content มา มีบทความไหนที่ประสบความสำเร็จที่สุด

โจ้ – ผมชอบเหนียวไก่นะ (10 ร้านข้าวเหนียวไก่ อร่อยไม่ต้องง้อใคร) ตอนนั้นมันเป็นกระแสออกข่าว ออกทีวีทุกช่อง ก็ต้องยอมรับว่าแรงหนุนข้างนอกมันมีส่วนช่วยเยอะมาก ช่วงที่เราปล่อยบทความออกไป เราโพสต์ทุกช่องทางโซเชียล แล้วก็มีการ Push Notification ไปด้วย คนก็เริ่มแชร์กันเยอะมาก เพราะตัว Content มันเข้าได้ทุกวัย Mass สุดๆ ไม่ต้องกลัวว่า Target บางกลุ่มจะไม่เข้าใจ

แล้วมีอะไรอีกครับนอกจากเหนียวไก่

เนม – ก็มี Freelance นี่แหละครับ รวม 10 ร้านปิดดึก เอาใจชาวฟรีแลนซ์ เพราะว่าเราก็อยากจับกลุ่มคนที่เป็นวัยรุ่นมากขึ้น ซึ่งจากที่เราดูข้อมูลของผู้ใช้งานที่อยู่บนแอป Wongnai และบน Facebook Page ดูแล้วจะเป็นคนละ Target กัน ซึ่งถ้ารวมกันจริงๆทั้งแอพและในเว็บ ตอนนี้เรามีสมาชิกอยู่เกือบๆ 4 ล้านคน สิ่งที่เราทำคืออยากจะจับกลุ่มคนให้มี Gap ที่น้อยลง ชิดกันมากขึ้น แล้วก็อยากให้คนมองว่า Wongnai ดูวัยรุ่น ดู Trendy ไม่ได้มีแต่บทความ Advertorial อย่างเดียว

Target ผู้ใช้งานของวงใน ณ เวลานี้เป็นอย่างไรบ้าง

เนม – Facebook จะออกเป็นผู้ใหญ่หน่อย ค่อนข้าง Mass…

โจ้ – ไม่ใช่กลุ่มคนที่ใช้ Social จ๋าๆ อย่างเราแนะนำร้านที่ไม่ได้วัยรุ่นมากเท่าไหร่นัก

เนม – ซึ่งก็หมายถึงกลุ่มนี้เป็นประชากรส่วนใหญ่

โจ้ – ใน Demographic ก็จะเป็น 25 ปีขึ้นไป ก็จะเป็นคนที่ไม่ค่อยเกาะกระแสเหมือนเด็กๆ ครับ

เนม – ส่วนในแอป ผู้ใช้ที่เป็นคนกรุงเทพฯ ใช้งานอยู่ประมาณ 70% แล้วอย่างจังหวัดที่เราไปเปิดสำนักงานก็ค่อยๆ ขึ้นมา อย่างเชียงใหม่ก็ราวๆ 10% แล้ว

กลับมาที่บทความเกี่ยวกับ Freelance มาดังได้เพราะคุณเต๋อแชร์ด้วยหรือเปล่า

เนม – ส่วนหนึ่งครับ

โจ้ – เราเป็นคนผลักดันให้เขาแชร์ (หัวเราะ)

เนม – จริงๆ แล้วตอนที่ทำบทความนี้ เราคุยกันช่วงบ่ายๆ ใช้เวลาทำอยู่ประมาณ 4 ชั่วโมง แต่จะไปใช้เวลามากหน่อยในส่วนที่เป็น Graphic ซึ่งก็ต้องชมน้องทีม Graphic ด้วย คือเวลาเราบรีฟงานประมาณนี้ น้องเขาจะทำออกมาด้วยผลงานที่โดนใจมากๆ

มาพูดถึงการวัดผล ทุกครั้งที่มีการทำ Content ออกมา เรามีวิธีการวัดว่าบทความประสบความสำเร็จอย่างไรบ้าง

เนม – เราดูจากหลายๆ ทางนะครับ จาก Comment จาก Traffic ที่เกิดขึ้น

หลุยส์ – Traffic เราจะเห็นชัดเจนสุด ถ้าเป็น social ก็จะดู reach ด้วย แต่เราก็จะดูคุณภาพของ Traffic ด้วยว่ามาจากไหน ถ้ามาจากการแชร์เยอะ แสดงว่าดีจริง แล้วเราก็เจาะไปดู Comment ว่าเขา Comment อย่างไรบ้าง

เนม – เราต้องแอบไปส่องครับว่าตอนที่เขาแชร์ เขาเขียนอะไรไปบ้าง มีอันนึงที่เราเจอบ่อยๆ คือ กำลังอ่านดราม่าอยู่ดีๆ แล้วนี่อะไร ทำไมวงในมาแทรกด้วย

คราวนี้มาพูดถึง Real-Time ล่าสุดที่ออกมาช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ #ทีมทับทิมกรอบ

เนม – เรื่องนี้ เป็นช่วงเวลาที่เป็นข่าวมีแต่คนพิมพ์ hashtag #ทีมทับทิม กันเยอะมาก ส่วนตัวเราเองก็ไม่อยากจะเข้าข้างใคร แต่เราอยู่ฝ่ายทับทิมกรอบเฉยๆ นะ (หัวเราะ)

หลุยส์ – ตอนที่เนมคิดจะทำเรื่องนี้ผมได้คุยกับเนมว่า อาจจะต้องรออีกนิดนึงเพราะมันค่อนข้างละเอียดอ่อนกว่าเรื่องอื่นๆ ที่เราเคยทำนะ

เนม – หัวข้อตอนที่คิดนี่คิดเยอะเหมือนกัน เรามีคิดกันหลายทาง บางอันก็แรงกว่านี้มาก สุดท้ายก็มาสรุปเป็น Hashtag ว่า เราแค่อยากกินทับทิมกรอบเฉยๆ

หลุยส์ – เราก็แอบไปตามอ่าน บางคนก็ฮา บางคนก็บอกว่าไม่ชอบที่ทำแบบนี้ ซึ่งเราก็คิดไว้แล้วว่าไม่ได้ต้องการผลประโยชน์อื่น นอกจากเน้นฮาอย่างเดียว

แล้วเรื่องทับทิมกรอบเป็นเรื่องละเอียดอ่อนสุดเลยหรือเปล่า?

เนม – ใช่ครับ แต่จริงๆ แล้วมีเรื่องไฟ 39 ล้านด้วยนะ (หัวเราะ) จริงๆ ก็ไม่มีอะไรเลย แค่อยากแนะนำร้านอาหารแถวๆ เสาชิงช้าเท่านั้นเอง

จากที่เราทำ Real-Time Content มา เราเคยไปขอ Feedback จากร้านที่เราเขียนถึงในบทความบ้างไหม

เนม – ยังไม่เคยครับ

หลุยส์ – ในอนาคตอาจจะมีครับ เพราะจริงๆ แล้วร้านไหนที่เราคัดมาลง เราก็อยากให้ร้านนั้นรู้ด้วยว่าเราเขาได้ลงนะ ให้รู้ว่ามี เขาจะได้รู้ว่าร้านเขามีคุณภาพถึงมีการพูดถึง มีคนพูดถึงอย่างไรบ้าง แต่ตอนนี้ทำไม่ทันครับ…

ย้อนกลับไปหลายๆ ปีที่ผ่านมา ทุกคนทุกแบรนด์มีความตื่นตัวกับกระแส Real-Time Content มาก อยากถามทีมวงในว่า ณ เวลานี้ ความจำเป็นของ Real-Time Content ยังมีความสำคัญอยู่ไหม

เนม – สำคัญนะครับ เพราะคิดว่าการทำบทความอะไรสักชิ้นขึ้นมาที่มันอิงกระแส มันก็ดูน่าตื่นเต้นสำหรับคนทำและเราสื่อสารไปให้คนอ่านเขารู้สึกว่ามันเร็ว เจ๋ง และบทความมันมีประโยชน์ด้วย และถึงกระแสมันจะหายไปแล้ว แต่บทความนั้นก็ยังคงอยู่ และยังคงเป็นประโยชน์ให้กับคนอ่านจริงๆ

โจ้ – คนอ่านก็จะจดจำเราว่า เราเป็นผู้นำในเรื่องนี้

เนม – ด้วยความที่เราเป็นสื่อออนไลน์ แล้วถ้าเราไม่ทำตามกระแสเราก็ดูเหมือนว่าเราแพ้

หลุยส์ – มันมีผลต่อภาพรวมด้วย ถ้าเป็นแบรนด์ที่มันดูสนุกอยู่แล้ว ถ้าทำ Content มาได้สนุกด้วย ก็น่าจะทำให้คนเข้ามาติดตามได้ไม่ยาก

โจ้ – คนทำก็สนุกด้วย มีแรงทำมากขึ้นด้วย

เนม – ถ้าเราได้ Feedback มาโอเค เราก็ดูสนุกครับ

ณ เวลานี้การทำ Content Marketing รูปแบบไหนที่น่าจะโดนใจกลุ่มคนอ่านวงในมากที่สุด

โจ้ – Content ที่เป็นวิดีโอมันก็เหมาะกับทุกคนจริงๆ ณ เวลานี้

เนม – วิดีโอมันบูม เพราะ Facebook เขาต้องการมาฆ่า YouTube มันก็เลยทำให้ทุกคนหันมาถ่ายวิดีโอ ซึ่งระยะเวลาก็ไม่ควรเกิน 15 วินาทีที่คนจะดูจนจบเกือบๆ 100% จะมีอยู่อย่างนึงที่เราแอบสนใจคือ Facebook Live ก็อยากจะลองเล่นอยู่แต่ก็ไม่รู้ว่าจะ Work ไหม ส่วนบทความงานเขียนมันก็ยังคงมีประโยชน์อยู่ มันยังไม่ตกไปง่ายๆ คนอาจจะอ่านน้อยลง แต่คนจะเลือกเสพย์ข้อมูลที่มีประโยชน์กับตัวมากขึ้น เพราะอย่างไรคนก็จะยังต้องหาข้อมูลอยู่แล้ว วิดีโอมาแรงก็จริงตามกระแส แต่ผมว่าบทความก็ยังไม่ตายอยู่ดี

หลุยส์ – ถ้าผมมองในแง่โซเชียล คนต้องการหาข้อมูลที่มันเข้มข้นมากๆ อย่างวิดีโอมันก็ตอบโจทย์ได้ อย่าง 15 วินาทีก็สามารถทำให้คนเข้าใจได้ แต่บทความเราก็พยายามปรับรูปแบบกันอยู่ งานของเราเองแล้วก็ของลูกค้า เราก็พยายามบีบให้มันกระชับมากขึ้น จากเมื่อก่อนเราเขียนกัน 2-3 หน้า ตอนนี้ก็เหลือเกือบๆ หน้า รูปที่ใส่ก็พยายามคัดๆ มาใส่แต่ก็น้อยลงกว่าเดิมแต่ขอเน้นๆ เราพยายามย่อยให้ย่อยกว่าเดิมอีก ซึ่งมันก็อาจจะยากนิดนึงเพราะต้องต้องทำความเข้าใจกับลูกค้า แต่เราดูมาแล้วถ้ามันยาวแล้วไม่มีประโยชน์ เราก็พยายามบีบให้แน่นกว่าเดิม อีกเรื่องคือบริการหลักของเราเป็น Location Based Service จากการแนะนำร้านอาหารในที่ต่างๆ เราก็พยายามที่จะทำเนื้อหาเข้าถึงคนที่สนใจพื้นที่นั้นๆ เช่น ถ้ามาแถวๆ ทองหล่อ เปิดมาก็ควรจะเจอบทความของร้านแถวนี้จริงๆ ไม่ใช่เฉพาะ List ของร้านอาหารอย่างเดียว ซึ่งเราก็พยายามทำเรื่องนี้ให้ดีขึ้น เราเชื่อว่าถ้ามันตอบโจทย์ของ Location มันจะทำให้ผลตอบรับมันเป็นสิ่งที่เขาใช้ได้จริงๆ ไปกินได้จริงมากกว่า

เห็นว่าหลังๆ มาวงในเริ่มทำ Content ที่เป็นการปรุงอาหารที่เป็นวิดีโอ ผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง

ให้น้อยขนาดนี้ จัดเองดีกว่า! แจกสูตรคั่วไก่กระทะทองเหลือง ใครๆก็ทำได้ ขอแค่ให้มีเตาปิกนิค, กระทะทองเหลืองใบเล็กๆ, วัตถุ…

Posted by wongnai.com on Friday, February 12, 2016

เนม – ค่อนข้างดีมากๆ เลยครับ เพราะอย่างที่บอกว่า Facebook เองก็ดันเต็มที่ เราก็อย่าทำอะไรที่มันไปขวางทางเขา ก็ไปตามเขา ซึ่งจริงๆ พวกเพจอาหารหรือ Group เกี่ยวกับการทำอาหารมีการเติบโตและได้รับความสนใจเยอะมากในช่วงปีสองปีนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วคนสนใจทำอาหารอยู่บ้านกันอยู่แล้วเป็นทุนเดิม แต่พอมีโซเชียลขึ้นมาแล้ว มันก็เป็นเหตุผลที่ชัดเจนว่า การที่จะทำ Content ในการปรุงอาหาร ขั้นตอนการทำผ่านการรูปแบบวิดีโอ มันเวิร์คมากๆ ยิ่งเป็นสูตรอาหารที่ไม่ต้องไปกินร้านดังๆ แต่ทำเองได้ คนยิ่งจะเข้าถึง เพราะคนก็จะคิดอีกต่อว่า ที่เราไปกินบ่อยๆ มันทำเองได้ง่ายขนาดนี้เลยเหรอ เช่น ทำบานอฟฟี่แบบไม่ต้องใช้เตาอบ, คิทแคทชาเขียวทำเอง, มาม่าเจ๊โอว, สตาร์บัคส์ ทุกอย่างที่เราทำ อิงตามกระแส ณ เวลานั้นทั้งหมด อย่างสตาร์บัคส์ ช่วงที่มีสูตรสั่งบาริสต้า หรือจะเป็น 1 แถม 1 เราจะไปรอทำไม ทำเองได้เลยก็มี

หลุยส์ – เราเชื่อว่าผู้ใช้วงในที่สนใจเรื่องอาหาร เขาก็สนใจที่จะทำด้วย เพราะเขากินมาเยอะแยะ แต่ก็จะมีข้อจำกัดอยู่ว่าอุปกรณ์ที่เขาจะทำมีไม่ครบหรอก มีช่วงแรกๆ ตอนที่เราพยายามจะทำ Content ซีรีย์ทำขนมแบบไม่ต้องใช้เตาอบ 5 ตอน ตอนนั้นยังไม่มีวิดีโอด้วย คนก็โอเคมากๆ แค่มี Cover สวยๆ เน้นว่าทำเองได้ที่บ้านโดยไม่ต้องใช้เตาอบ เท่านี้คนก็เข้ามาอ่านเยอะแล้ว คราวนี้เราก็เอามา Refresh ใหม่ในรูปแบบ Content ที่เป็นวิดีโอ หลังๆ มาเริ่มหนักข้อขึ้น ทำอาหารคาว แต่ก็ยังคง Concept เดิมคือทำเองได้ที่บ้านง่ายๆ

เนม – จริงๆ ต้องชมทีม Content ของวงในด้วยนะครับว่ามีความเป็น Creative สูงหลายๆ คน บางคนจบโรงเรียนทำอาหารโดยตรง เขาจะรู้ว่าทำอะไรได้บ้างไม่ได้บ้าง เอาอะไรมาใช้แทนได้

วิดีโอที่ทำมาแนวไหนที่คิดว่าฮิตที่สุด

เนม – ที่มาแรงจริงๆ และผมก็เชื่อว่าทำอย่างไรก็เวิร์ค ก็คือเมนูที่เป็นแนว Extreme หรือเมนูที่เราทำออกมาแล้วมันล้นทะลัก (เป็นศัพท์ที่วงในเรียก) อย่างเช่น มาม่าเจ๊โอว หรือสูตรอาหารที่ทำแล้ว Portion มันใหญ่ อย่างที่เราเคยทำบทความที่เป็นลายแทงร้านอาหารไซส์ใหญ่ล้นทะลัก ซึ่งคนอ่านก็เยอะมาก พอเราเอามาทำเป็นสูตรอาหารคนก็ยังอ่านเยอะมากเหมือนเดิม ผมว่าเทรนด์อาหารจานใหญ่คนจะชอบเสมอ เพราะว่าคนทั่วไปไปทานอาหารที่ขายจานใหญ่ๆ เราก็ยังถ่ายลงโซเชียล เพราะถ่ายแล้วมันตื่นเต้น ถ้าเราเอาจานใหญ่ๆ มาทำเอง แน่นอนคนชอบอยู่แล้ว ถ่ายรูปได้ ดูน่ากิน

คำถามสุดท้ายครับ ถ้าแบรนด์สนใจอยากจะทำ Content ให้ดีแบบวงใน จะมีคำแนะนำอย่างไรบ้าง

หลุยส์ – ถ้าพูดถึง Content Marketing ก็ต้องนึกถึงว่าคนอ่านต้องได้ประโยชน์จริงๆ, ต้องตอบโจทย์ตัวแบรนด์เอง อย่างวงในเองพูดถึงร้านอาหาร อย่างน้อยที่สุดก็ต้องพูดถึงเรื่องอาหาร ให้คนอ่านรู้สึกว่าสุดท้ายแล้วก็ยังรู้ว่าเรื่องนี้ยังอยู่ในธีมของเราอยู่ แล้วก็ตอบโจทย์กับธุรกิจจริง สมมติอ่าน Content ของเราจบแล้วไปใช้บริการที่ร้านจริง แล้วก็จำได้ว่าเรามากินเพราะอ่านวงในนะ ครั้งหน้าถ้าเขาเข้ามาอีกก็จะจำได้ว่าถ้าเขาเข้ามาวงใน ก็จะหาร้านอาหารได้

เนม – คือไม่อยากให้คิดว่าเราเป็นเว็บ Clickbait หรือล่อให้คนเข้ามา มันแค่พาดหัวล่อเป้าให้คนเข้าไปอ่าน ซึ่งข้างในไม่มีอะไรเลย คืออ่านแล้วทิ้งจริงๆ เพราะเขาใช้คำรุนแรงมาก ซึ่งเราก็รุนแรงนะแต่เข้ามาแล้วมีประโยชน์จริงๆ