Site icon Thumbsup

ในอนาคต…ใครเจลเบรคอาจติดคุก!!!

อ่านข่าวแล้ว ตอนแรกก็คิดว่าข่าวนี้น่าจะเป็นข่าวไม่มีมูล แต่ด้วยความที่เปิดมาแล้วอยากอ่านข่าว ผมจึงไล่อ่านต่อจนจบ ปรากฏว่ามันพอจะมีมูลความจริงอยู่เหมือนกัน แม้ว่าตอนนี้การเจลเบรค หรือการเข้าไปปลดระบบรักษาความปลอดภัยของ iDevice ทั้งหลาย เพื่อเข้าไปกระทำการใดๆ ที่ทาง Apple ไม่อนุญาตให้ทำ จะยังไม่ถือเป็นความผิด แต่ไม่แน่ว่าในช่วงปลายปี หากทางสภานิติบัญญัติ หาทางจับเอากฏหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้เข้าบรรจุได้แล้วล่ะก็ มีหวังหลายท่านอาจจะมีหนาวๆ ร้อนๆ กันบ้าง ไม่มากก็น้อยล่ะครับ…

สำหรับผู้ใช้ประเภทฮาร์ดคอร์ของ Apple iDevice หลายๆ ท่าน คงเคยผ่านการทำเจลเบรค (Jailbreaking) กันมาบ้าง ทั้งนี้ก็เพื่อจุดประสงค์ต่างๆ กัน บ้างก็ทำกันไปเพื่อลงแอพฯ เสียเงิน (Paid App) โดยไม่ต้องเสียเงิน หรือบางท่านอาจจะต้องการใช้งานบางฟังก์ชันที่ทาง Apple ปิดเอาไว้?ซึ่งแน่นอนผู้ที่เสียประโยชน์จากงานนี้หนีไม่พ้น Apple ที่จะต้องถูกละเมิดลิขสิทธิ์ต่างๆ มากมาย ทำให้ทาง Apple เองออกกฏสำหรับลูกค้าที่เจลเบรคแล้ว ทางร้านตรวจสอบพบก็จะทำให้เครื่องนั้นหมดการรับประกันไปทันที

และจริงๆ แล้วผู้ผลิตโทรศัพท์หลายๆ รายเองก็เดือดร้อนกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็น Android OS ที่ถูกเอาไป Root เพื่อเปิดสิทธิ์ให้ผู้ใช้งานเข้าถึง Root System ของเครื่อง แต่ที่ดูจะเดือดร้อนสุดก็คงเป็น Apple ที่สูญรายได้ไปน่าจะมากที่สุด แถมยังเรียกร้องให้การเจลเบรคถูกจัดเข้าเป็นการทำผิดจาก?Digital Millennium Copyright Act (DMCA)

แต่เรื่องนี้กลับไม่ได้รับการสนับสนุนจาก Electronic Frontier Foundation (EFF) ที่ไม่ได้คิดแบบนั้น แถมพวกเขายังอยากที่จะขยายการปกป้องจากกฏหมายนี้ ให้กับสายผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่างระบบบนแท๊บเล็ตและวิดีโอเกมด้วย

และถ้าย้อนไปดูคดีของ George Hotz หรือที่เราหลายคนรู้จักกันในชื่อของ “Geohot” ซึ่งคาดว่าทาง EFF น่าจะจับตามองเรื่องนี้อยู่เช่นกัน โดยทาง Sony หวังว่าจะจับเด็กวัยรุ่นอัจฉริยะคนนี้เข้าคุกให้ได้ เมื่อจับได้ว่า Hotz ได้จัดการเจลเบรคเครื่อง Sony PlayStation 3 และเผยแพร่ออกไป แต่เมื่อศาลตัดสิน ก็ไม่สามารถทำอะไรกับ Hotz ได้นอกจากจะเสียค่าปรับและทำข้อตกลงกับทางศาลว่าจะไม่เจลเบรคอีก รวมถึงลบเครื่องมือที่ใช้ในการเจลเบรคออกจากเว็บไซต์

สำนักงานลิขสิทธิ์ของทางสหรัฐฯ กล่าวว่าเจลเบรคนั้นยังไม่นับว่าเป็นเรื่องผิดกฏหมาย และยังได้รับการอนุญาตยกเว้นความผิด อย่างไรก็ตามการยกเว้นครั้งนี้อาจจะอยู่ได้เพียงสิ้นปีนี้ ซึ่งหลังจากนั้นก็เป็นไปได้ว่าอาจจะมีบทลงโทษที่เข้มงวดสำหรับการใช้เครื่องมือเจลเบรคอย่าง Absinthe ก็ได้

ถึงแม้การเจลเบรคอาจจะไม่ได้เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ชัดเจนนัก เมื่อเทียบกับคอมพิวเตอร์ที่หลายๆ คนคงเห็นกันอยู่แล้วว่าละเมิดลิขสิทธิ์กันเต็มบ้านเต็มเมือง และล่าสุดในปีนี้ SOPA ก็เป็นเรื่องที่ถูกยกกันขึ้นมาเป็นประเด็นใหญ่ ดังนั้นคิดว่าเราคงต้องมาจับตากับเรื่องนี้กันมากขึ้นแล้วล่ะครับ

เราเรียนรู้อะไรจากข่าวนี้:?จะว่ากันตามตรงผมไม่คิดว่าการเจลเบรคเป็นเรื่องที่ผิดกฏหมายแบบชัดเจนนัก แต่สิ่งที่อยู่ใน Cydia ที่มาพร้อมหลังจากการเจลเบรคต่างหากที่ละเมิดลิขสิทธิ์ สงสัยถ้าจะตามจับคงลำบากอยู่พอสมควร อย่างไร SOPA น่าจะถูกพูดถึงและอาจจะเอามาโยงกับเรื่องนี้อีกด้วย

ทิศทางจาก EFF น่าจะมีบทบาทไม่น้อยกับเรื่องนี้ การที่จะให้เรื่องการเจลเบรคเป็นความผิดทางกฏหมาย คงยังยากและน่าจะไม่สำเร็จในปีนี้หรือปีหน้าในความคิดของผมนะครับ…

ที่มา: Geek