Site icon Thumbsup

เปลี่ยนงานที่น่าเบื่อเป็นงานที่เรารักด้วย Job Crafting

คนส่วนใหญ่เติบโตมาด้วยความคิดที่ว่า ‘ทำงานตามที่ได้รับมอบหมายและความรับผิดชอบ’ ซึ่งก็ไม่ผิดสำหรับรูปแบบการทำงานในอดีต หลายคนก้าวหน้าในอาชีพเพราะทำงานในสิ่งที่ต้องทำ

แต่ในปัจจุบันทัศนคติดังกล่าวอาจไม่เวิร์คอีกต่อไป ทั้งจากเทคโนโลยีและความคาดหวังของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หลายๆ ตำแหน่งหน้าที่ไม่สามารถปรับตัวให้ตอบโจทย์ความต้องการของตัวเองและองค์กรได้

จนในที่สุดความหมายของงานก็จะค่อยๆ ลดน้อยลง ถึงแม้จะเป็นงานที่เราเคยชอบหรือสนใจ แต่เราก็จะเบื่อและหมดไฟไปในที่สุด

ทำความรู้จัก Job Crafting

Job Crafting คือการปรับเปลี่ยนรูปแบบงานไปในทางที่ดีขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับทักษะและความสนใจของเรา (The ways to changing your job to make it more engaging and meaningful)

เป็นแนวคิดที่เชื่อว่างานทุกอย่างสามารถปรับเปลี่ยนได้ (Crafted) และเป็นการสร้างความโดดเด่นจากจุดแข็งของเรา ซึ่งสามารถเริ่มต้นปรับเปลี่ยนได้ 3 รูปแบบด้วยกัน ดังนี้

1. Processes (Task Crafting) การนำจุดแข็งและความสนใจของเรามาปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน ซึ่งอาจเป็นการเพิ่มหรือลดรูปแบบงาน ขอบเขตงาน ลำดับงาน หรือจำนวนงาน

ยกตัวอย่างเช่น พนักงานทำความสะอาดพื้นของโรงพยาบาลที่มองว่าตัวเองมีบทบาทช่วยให้ผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลเร็วขึ้นจากการทำความสะอาดห้องพัก พนักงานขับรถบัสที่ช่วยแนะนำเส้นทางท่องเที่ยวให้ผู้โดยสาร การเปลี่ยนลำดับงานยากๆ มาทำในตอนเช้าเพราะสมองแล่นกว่า

2. People (Relationship Crafting) การสร้างปฎิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน อาจเป็นเพื่อนในแผนกเดียวกันหรือต่างแผนกก็ได้ เพื่อให้มีส่วนร่วมกันได้งานขึ้น เสริมความคิดสร้างสรรค์และช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ

ยกตัวอย่างเช่น การมีส่วนร่วมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างการประชุม การระดมความคิด (Brainstorm) ที่ต้องการไอเดียและเหตุผลจากหลายๆ คน การได้แลกเปลี่ยนกับผู้อื่นจะช่วยให้ได้มุมมองใหม่ๆ และมีความสุขในการทำงานร่วมกันมากขึ้น

3. Purpose (Cognitive Crafting) การปรับเปลี่ยนวิธีคิด/ ตีความ รวมถึงตั้งเป้าประสงค์ของตัวเอง ว่างานที่กำลังทำอยู่มีคุณค่าอะไรและมีประโยชน์ต่อใครบ้าง ซึ่งจะทำให้งานที่เราทำมีความหมายและคุณค่ามากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างเช่น ในการทำรายงานประจำสัปดาห์ จากคำถามว่า ‘ทำไมเราต้องทำสิ่งนี้’ หลายคนมักตอบว่า ‘ทำเพราะว่าเป็นงานของเรา’ แต่สิ่งที่จะทำให้มีความหมายมากขึ้นคือมองว่า ‘รายงานชิ้นนี้จะช่วยให้หัวหน้าตัดสินใจได้ง่ายขึ้น’ เพียงเท่านี้งานที่ทำก็มีคุณค่าแล้ว

การปรับเปลี่ยนวิธีการงานจะช่วยให้เรามีความสุขในการทำงานมากขึ้น เพราะได้นำสิ่งที่ถนัด สิ่งที่สนใจมาปรับใช้ในการทำงาน ส่งผลให้ทำงานได้อย่างยืดหยุ่น (Resilience) เท่าทันการเปลี่ยนแปลง มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังช่วยลดความเครียดและช่วยป้องกันการเกิดอาการหมดไฟอีกด้วย

ที่มา

HBR(1)

HBR(2)