Site icon Thumbsup

LINE ประกาศกลยุทธ์ 2017 ก้าวสู่ Mobile Portal รวมทุกอย่างบนแพลตฟอร์มเดียว

เป็นอีกแพลตฟอร์มที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ในยุค Mobile-first กับ LINE  ล่าสุด ได้ออกมาประกาศความสำเร็จปี 2016 ของแพลตฟอร์มแล้วจากการตั้งเป้าว่าจะเป็นมากกว่าแชท (Beyond Chat) ผ่านบริการ LINE TV, LINE MAN, LINE GAME และ LINE Stickers พร้อมประกาศกลยุทธ์หลักของปี 2017 นั่นคือการพุ่งเป้าสู่ Mobile Portal ที่สามารถอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานได้มากขึ้น

คุณอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย เผยในการจัดงานแสดงวิสัยทัศน์ประจำปี 2017 ของ LINE ประเทศไทยว่า “ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีความสำคัญเป็นอันดับสองของ LINE ด้วยจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือที่สูงถึง 94% โดยในปี 2016 LINE ตั้งเป้าในการเป็นมากกว่าแชทหรือ ‘Beyond Chat’ และต่อยอดธุรกิจสติกเกอร์ ซึ่งได้รับความสำเร็จมากมาย อาทิ

• LINE TV สร้างการเติบโตของยอดวิวที่เพิ่มขึ้น 136% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา พร้อมสร้างปรากฏการณ์ของซีรี่ส์ที่เป็นทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ อย่าง ‘I HATE YOU I LOVE YOU,’ ‘ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์,’ และ O-Negative
• LINE MAN บริการใหม่ซึ่งประกอบไปด้วยแมสเซนเจอร์ สั่งซื้ออาหารและของสะดวกซื้อ ที่เพิ่งเปิดตัวไปในเดือนพฤษภาคม 2559 ด้วยจำนวนผู้ใช้งานสูงถึง 400,000 คน พร้อมจำนวนร้านอาหารมากกว่า 20,000 ร้านตั้งแต่สตรีท ฟู้ด ไปจนถึงภัตตาคาร ทำให้ LINE MAN ขึ้นสู่อันดับ 1 บริการส่งอาหาร ภายในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งปี
• LINE GAME ครองอันดับ 1 ตลาดเกมมือถือในประเทศไทย
• LINE STICKERS ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องด้วยจำนวนสติกเกอร์ดาวน์โหลดที่สูงกว่า 500 ล้านเซ็ต แสดงให้เห็นว่า สติกเกอร์ยังคงเป็นเครื่องมือสื่อสารที่คนไทยนิยมใช้ในการแสดงความรู้สึก

นอกจากนี้แล้ว LINE ยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งใน Best Brand ในประเทศไทย และได้รับคัดเลือกให้เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่คนอยากทำงานด้วยเป็นอันดับ 1 ในประเทศไทยด้วย และนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา LINE ตระหนักดีว่า ประเทศไทยเป็น “Mobile First Country” ด้วยจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือที่สูงถึง 44 ล้านคน หรือประมาณ 2 ใน 3 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า โทรศัพท์มือถือเป็นศูนย์กลางของโลกดิจิตอล เนื่องจากคนไทยเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตครั้งแรกผ่านทางสมาร์ทโฟนมากกว่าคอมพิวเตอร์ ด้วยเหตุนี้ LINE จึงตั้งเป้าที่จะเป็นศูนย์กลางของสมาร์ทโฟนหรือที่เรียกว่า “Mobile Portal” เพื่อช่วยให้ชีวิตคนไทยง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น


“สำหรับ LINE เป้าหมายของเราคงไม่ใช่การเติบโตของผู้ใช้งานแบบก้าวกระโดดอีกแล้ว แต่เป้าหมายของเราคงเป็นว่า จะทำอย่างไรให้ผู้ใช้บริการของ LINE อยู่กับเรานานขึ้น ทำอย่างไรให้เราสามารถสร้างบริการที่ใหญ่เท่ากับแชทได้ ซึ่งจากตอนนี้ยังมีเรื่องของแชทบอทที่เริ่มมา และพันธมิตรของเราที่เห็นแล้วว่า แชทบอทได้ผลขนาดไหน ก็เชื่อว่าจะมีการเปิดตัวบริการใหม่ ๆ ตามออกมาอย่างต่อเนื่องแน่นอน”

ทั้งนี้ กลยุทธ์ของ LINE ในปี 2017 มาจาก 4 ปัจจัยหลักในการใช้ชีวิต ได้แก่ Communication, Content, Services และ Commerce

• การติดต่อสื่อสาร (Communication) จากผลสำรวจของ Nielsen พบว่า คนไทยใช้เวลาเฉลี่ยบนสมาร์ทโฟนสูงถึง 234 นาทีต่อวัน โดย 1 ใน 3 ของเวลาการใช้งานสมาร์ทโฟน หรือประมาณ 70 นาทีต่อวัน ถูกใช้บนแพลตฟอร์ม LINE เราจึงไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาบริการเพื่อตอบรับกับไลฟ์สไตล์ต่างๆ

• คอนเทนต์ (Content) ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอ เพลง และสิ่งพิมพ์ ต่างถูกย้ายมาอยู่บนโลกออนไลน์ โดยคนไทยใช้เวลาดูวิดีโอออนไลน์สูงถึง 133 นาทีต่อวัน หรือคิดเป็น 2 เท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 65 นาทีต่อวัน จากรายงานของสมาคมโฆษณาดิจิทัล ประเทศไทย (DAAT) พบว่า งบโฆษณาบนช่องทางดิจิตอลจะเติบโตขึ้นกว่า 30% ในปีนี้ และเพื่อเป็นการตอบรับกับเทรนด์ดิจิตอลที่เกิดขึ้น LINE TV เตรียมสร้างสีสันด้วยการเปิดตัวคอนเทนต์กลุ่มใหม่ทั้งกีฬา (Sports) และความงาม (Beauty) เพิ่มขึ้นจากละคร (Drama), บันเทิง (Entertainment), เพลง (Music), อนิเมชั่น (Animation) และถ่ายทอดสด (LIVE) พร้อมกันนี้ยังวางแผน ขยายพันธมิตรรายใหญ่ต่างๆ อาทิ ช่อง 8, พีพีทีวี, ไทย ไฟท์ และจีบัน นอกจากนี้ยังมี LINE TODAY ที่เพิ่งเปิดตัวไปภายในเวลาไม่ถึง 1 ปี ด้วยฟีเจอร์ “News Tab” ที่ช่วยให้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารง่ายขึ้น พร้อมตั้งเป้าขึ้นสู่อันดับ 1 แพลตฟอร์มข้อมูลข่าวสารบนมือถือ โดยจะเริ่มสร้างรายได้ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

• บริการ (Services) ปัจจุบันมีแอปพลิเคชันจำนวนมากที่ถูกสร้างขึ้นรวมทั้งสิ้นประมาณ 2.2 – 2.6 ล้าน แอปพลิเคชัน ในขณะที่จำนวนแอปพลิเคชันเฉลี่ยที่คนส่วนใหญ่ดาวน์โหลดมีเพียง 32 แอปพลิเคชันต่อหนึ่งอุปกรณ์เท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นมีเพียง 3 – 5 แอปพลิเคชันที่ถูกใช้งานในแต่ละวัน

 

ด้วยเหตุนี้ LINE จึงพัฒนา Chat BOT ขึ้นมาเพื่อใช้ทดแทนแอปพลิเคชันด้วยการเข้าถึงบริการต่างๆ ได้จาก LINE เพียงที่เดียว โดยไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็น Chat BOT ของ LINE เอง เช่น LINE FINANCE หรือจากพาร์ทเนอร์ เช่น Uber และ Wongnai รวมถึงแบรนด์ต่างๆ อาทิ Citibank, FWD, Lazada, Krungthai AXA, Maybank, Shell และ Uniliver

 

• การขายสินค้าและบริการ (Commerce) ปัจจุบันการขายสินค้าออนไลน์หรือ e-commerce ยังคงมีสัดส่วน
ที่เล็กมากเพียง 3.8% ของมูลค่าการค้าปลีกทั้งหมด LINE จึงมองเห็นโอกาสในการเชื่อมต่อโลกออฟไลน์
และออนไลน์ หรือที่เรียกว่า บริการในรูปแบบ O2O (Offline to Online) เราจึงมีการเปิดตัว Beacon ซึ่งร้านค้าต่างๆ สามารถติดตั้ง Beacon เพื่อให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์และมอบคูปองโปรโมชั่นต่างๆ เมื่อลูกค้า มาใช้บริการที่ร้านค้า นอกจากนี้ยังมี LINE MAN ที่ขยายรูปแบบการให้บริการจากแมสเซนเจอร์ สั่งซื้ออาหาร และของสะดวกซื้อ ไปสู่บริการรับส่งพัสดุ (Postal) โดยการจับมือกับ Alpha เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน

“ในฐานะผู้นำด้านแพลตฟอร์มบนมือถือและเป้าหมายการเป็น ‘Mobile Portal’ LINE ยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาเซอร์วิส และโซลูชั่นใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คน และเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต พร้อมทั้ง สานต่อพันธกิจในการเชื่อมต่อข้อมูล ผู้ใช้ และบริการให้ใกล้กันมากขึ้น ภายใต้แนวคิด ‘Closing the Distance’ และพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระบบดิจิตอล อีโคโนมี่ (Digital Economy) ในประเทศไทย” นายอริยะกล่าวทิ้งท้าย