Site icon Thumbsup

ไม่ได้อู้งานนะคะ เจ้านาย แค่หาเพลงฟังให้งานเดินที่สุด?

เพลงประเภทไหนที่ช่วยให้มนุษย์เราทำงานได้เร็วขึ้น? ทำไมเราถึงต้องเปิดเพลง? วิธีจับคู่เพลงกับงานที่เหมาะสม? และทำไมความเงียบจึงมีค่ามากที่สุด? พบกับคำตอบของทุกคำถามได้ในบทความนี้

Jared Lindzon ผู้สื่อข่าวของ Fast Company หยิบงานวิจัยของ CloudCover Music ขึ้นมารายงานว่าเพลงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดสำหรับเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานคือเพลงร็อคคลาสสิก (classic rock) รองลงมาเป็นเพลงอัลเทอร์เนทีฟ และเพลงป๊อป ในทางกลับกัน เพลงฮิปฮอป เพลงเฮฟวี่เมทัล เพลง EDM และเพลงคันทรีถือว่าเป็นแนวเพลงที่ทำให้คนไขว้เขวได้มากที่สุด

ประเด็นนี้ Meg Piedmont ผู้จัดการโครงการของ CloudCover Music อธิบายว่าอีกปัจจัยสำคัญคือความชอบของแต่ละคน ซึ่งการฟังเพลงระหว่างทำงานจะเกี่ยวข้องกับการสร้างพื้นที่ทำงานของทุกคน ดังนั้นการปรับที่ทำงานให้เหมาะกับตัวเองเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ทุกคนสามารถทำงานได้ดีที่สุด

ดังนั้น แม้การศึกษาจำนวนมากจะยืนยันว่าการฟังเพลงสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ แต่การวิจัยครั้งใหม่แสดงว่าทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นด้วย จุดนี้ Piedmont ยกตัวอย่างเพลงฮิปฮอป ซึ่งกลุ่มตัวอย่างกว่า 21.1% ระบุว่าฟังแล้วเกิดแรงฮึดอยากทำงาน ทำให้ฮิปฮอปเป็นกลุ่มเพลงอันดับ 5 ที่ได้รับความนิยมในสถานที่ทำงาน แต่กลุ่มตัวอย่างกว่า 37.7% กลับมองว่าเพลงฮิปฮอปทำให้เสียสมาธิ ถือเป็น 2 ด้านความรู้สึกที่ฮิปฮอปได้รับ

กลบเสียงรบกวน-ไม่อยากคุย

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยอมรับว่า เพลงที่ฟังตอนทำงานนั้นเกี่ยวข้องกับเสียงรบกวนหรือ background noise ในที่ทำงานด้วย โดย 94% ของกลุ่มตัวอย่างบอกว่าฟังไฟล์เพลงในที่ทำงาน ถือว่ามากกว่า 42% ที่ฟังวิทยุ และ 35% ที่ฟังพอดแคสต์ ขณะที่ 25% ฟังข่าว และ 15% ที่ฟังหนังสือเสียงและกีฬา

นี่เองคือเบื้องหลังที่ทำให้หูฟังเป็นอุปกรณ์เสริมหรือ accessory สำหรับที่ทำงานซึ่งทุกคนนิยม จุดนี้มีประเด็นเรื่องรูปแบบสำนักงานแบบเปิดหรือ Open-office layouts ที่ไม่มีการกั้นห้องในสำนักงาน อาจช่วยประหยัดงบประมาณด้านการก่อสร้างสำนักงานก็จริง แต่ก็ส่งผลให้เกิดเสียงรบกวนมาก จุดนี้พบว่า 30% ของผู้ตอบแบบสอบถามยอมรับว่าต้องใช้หูฟังในที่ทำงานเพื่อลดเสียงรบกวนบริเวณนั้น ขณะที่ 46% บอกว่าใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการสนทนากับเพื่อนร่วมงาน

Piedmont อธิบายในส่วนนี้ว่าการฟังเพลงด้วยหูฟังอาจช่วยให้ผู้คนจดจ่อและรู้สึกว่ามีพื้นที่ส่วนตัวของตัวเอง เมื่ออยู่ในพื้นที่เปิดของ Open-office ขณะเดียวกัน ผู้ให้บริการเพลงยังเปิดกว้างให้ทุกคนเข้าถึงเพลงได้ง่ายและฟรี อุปกรณ์ที่ใช้ก็แพร่หลาย ทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เราทุกคนฟังเพลงบ่อยขึ้นตลอดทั้งวัน

การศึกษายังพบว่าดนตรีสามารถช่วยนำเพื่อนร่วมงานเข้ามาใกล้ชิดกันได้ แต่ก็สามารถผลักออกไปได้เช่นกัน กลุ่มตัวอย่างประมาณ 26% ยอมรับว่าตัดสินเพื่อนร่วมงานจากการตั้งค่าเพลงที่ฟัง แต่ 59% ของพนักงานและ 65% ของนายจ้างเชื่อว่าเพลงช่วยให้ทั้งคู่เชื่อมต่อกับเพื่อนร่วมงานได้

เงียบดีที่สุด

นักวิจัย Josh Davis ผู้เขียนหนังสือ Two Awesome Hours เป็นผู้ที่ให้ความเห็นสวนทางกับงานวิจัยมากมายที่ย้ำผลดีจากการฟังเพลงในที่ทำงานมากขึ้น จุดนี้ Josh Davis เชื่อว่าเสียง background noise ที่ดีที่สุดสำหรับการทำงานคือความเงียบ

หนังสือ Two Awesome Hours บอกว่าหากจำเป็นต้องจดจ่อ ทุกคนจะทำได้ดีขึ้นเมื่ออยู่กับความเงียบ ซึ่งจากการสำรวจวิธีเพิ่มจำนวนชั่วโมงทำงานที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในแต่ละวันของแต่ละบุคคล พบว่าปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเช่นเสียง ถือเป็นผลกระทบสำคัญที่ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มหรือลดลงก็ได้

Two Awesome Hours จึงแนะนำว่า 2 ชั่วโมงที่เน้นงานนั้นควรจะเงียบ แต่ในช่วงเวลาที่เหลือของวัน ทุกคนสามารถเติมเพลงที่ทำให้รู้สึกสบายใจ หรือรู้สึกฮึดขึ้นมาทำงานอีกครั้ง วิธีนี้จะทำให้ง่ายต่อการฝ่าฟันเรื่องหรืองานที่อาจมีอุปสรรค แต่ต้องทำให้เสร็จให้ได้

จงจับคู่เพลย์ลิสต์กับงานให้เหมาะสม

สิ่งที่ทั้ง 2 งานวิจัยแนะนำตรงกัน คือการเน้นให้มนุษย์งานพยายามจับคู่เพลงที่ฟังกับงานในมือ เนื่องจากงานบางงานไม่จำเป็นต้องใช้พลังโฟกัสทั้งหมด แต่จะสามารถทำได้ดีกว่าเมื่อมีอารมณ์ผ่อนคลาย อย่างเช่นงานกลุ่มศิลปะ ซึ่งการฟังเพลงถือเป็นทางออกที่ดีในสถานที่ทำงานที่มีเสียงรบกวนสมาธิ

นอกจากอารมณ์ บุคลิกภาพ และความชอบส่วนบุคคล แต่การเลือกเพลย์ลิสต์เพื่อทำงานควรจะดูตัวแปรภายนอกด้วย เช่น ลักษณะงานและสภาพแวดล้อมในการทำงาน

“สมมติว่าเป็นงานที่น่าเบื่อ ทำให้เครียดมากเมื่อต้องทำ เราต้องดูแลสภาพอารมณ์แบบนี้ก่อน เราสามารถจับคู่เพลงกับสถานะอารมณ์ที่เป็นอยู่ในอันดับต้น ๆ เพื่อที่เราจะได้สะท้อนความรู้สึกผ่านเพลงและจากนั้นเราอาจต้องการเพลงที่จะนำสภาวะอารมณ์ที่ผ่อนคลายมากขึ้น” Lesiuk ระบุ

การวิจัยของ Lesiuk ยังพบว่าเพลงสามารถสู้กับอาการง่วงนอนและอารมณ์ลบด้านอื่น ซึ่งทำให้เพลงช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานได้อีกทาง ดังนั้นการเลือกเพลงที่มีจังหวะมากขึ้น จะทำให้มนุษย์งานรู้สึกตื่นตัวมากขึ้นอย่างเห้นได้ชัด

ที่มา: : FastCompany