Site icon Thumbsup

4 ข้อมูลจาก Nielsen ชี้ “มือถือ-โซเชียล” ช่วยวงการ TV ดีขึ้น

ss-tv-second-screen

ทุกคนรู้ดีว่ารายการทีวีมักมีผู้ชมมากขึ้นเมื่อเกิดกระแสบอกต่อบนโลกโซเชียล ผลการสำรวจล่าสุดของ Nielsen ตอกย้ำความจริงนี้อย่างเป็นรูปธรรม แถมไม่เพียงเรตติง แต่อุปกรณ์พกพาและเครือข่ายสังคมยังเป็นเครื่องมือช่วยให้บุคลากรทีวีสามารถปรับตัวและยกระดับการสร้างสรรค์รายการผ่านหน้าจอที่ 2 ซึ่งจะทำให้ธุรกิจโฆษณาเติบโตตามไปด้วยอย่างได้ผล

หน้าจอที่ 2 หรือที่นักการตลาดรู้จักกันดีในนาม second screen คือประเด็นสำคัญในงานวิจัยล่าสุดของ Nielsen การสำรวจล่าสุดสะท้อนว่าสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และอุปกรณ์พกพาต่างๆล้วนมีความสำคัญมากขึ้นกว่าเดิม โดย Nielsen พบว่าชาวอเมริกันใช้งานอุปกรณ์ second screen เหล่านี้มากขึ้นต่อเนื่อง จนบทบาทของโฆษณารายการทีวีอาจถึงยุคเปลี่ยนแปลง

Nielsen อธิบายว่าแต่เดิม ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตรายการทีวีและผู้ชมนั้นเป็นแบบ one-on-one หรือ 1 ต่อ 1 โฆษณาผังรายการทีวีจะเป็นเครื่องมือให้ข้อมูลตัวเองเพื่อให้ผู้ชมตัดสินใจว่าต้องการชมหรือไม่ โดยสถานีอาจแทรกตัวอย่างรายการหรือ quickie trailer รวมถึงโฆษณาต่างๆ แต่ปัจจุบัน quickie trailer เหล่านี้ถูกกระจายไปทั่วโลกโซเชียลมีเดีย

ข้อมูลแรกคือการสำรวจของ Nielsen พบว่าผู้ชมทีวี 25% รับรู้ความเคลื่อนไหวของผังรายการทีวีมากขึ้นจากโซเชียลมีเดีย โดย 15% ของผู้ชมระบุว่าได้รับความสนุกสนานมากขึ้นเมื่อชมรายการไปพร้อมกับรับข้อมูลทางโซเชียลมีเดีย

ข้อมูลที่ 2 คือ กลุ่มตัวอย่าง 32% ยกให้โซเชียลมีเดียมีบทบาทกับการรับรู้ผังรายการทีวีมากที่สุด รองลงมาคือความบันเทิงในการชมที่เพิ่มขึ้น (26% ของกลุ่มตัวอย่าง) และการเพิ่มโอกาสในการสมถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ (18% ของกลุ่มตัวอย่าง)

ข้อมูลที่ 3 คือ 11% ของผู้ชมมีโอกาสชมถ่ายทอดสดทางทีวีมากขึ้น ขณะที่ 12% ระบุว่ามีโอกาสในการบันทึกรายการโปรดมากกว่าเดิมในปี 2013

ข้อมูลที่ 4 คือผู้ใหญ่อายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไปมีการชมถ่ายทอดสดทางทีวีมากกว่า 5 ชั่วโมง และรายการทีวีทั่วไป 34 นาทีต่อวัน

ทั้ง 4 ข้อมูลนี้สะท้อนว่านักการตลาดกำลังมีโอกาสในการแทรกตัวสู่บทสนทนาบนโซเชียลมีเดีย และแน่นอนว่าไม่เพียงการนำข้อมูลจากโลกโซเชียลมาช่วยสร้างผังรายการที่ดีขึ้น แต่ทีมฝ่ายผลิตรายการทีวีจะมีโอกาสเรียนรู้เสียงตอบรับจากผู้ชมบนโซเชียลได้แบบเรียลไทม์ด้วย ทั้งหมดนี้แม้จะยังเป็นข้อมูลเฉพาะผู้ชมทีวีในสหรัฐฯ ในช่วงปี 2013 ที่ผ่านมา แต่ถือเป็นสัญญาณว่าพฤติกรรมและการเปลี่ยนแปลงนี้อาจกำลังขยายตัวสู่คอทีวีไทยชัดเจนขึ้นในนาทีนี้

ที่มา : VentureBeat