Site icon Thumbsup

ทำธุรกิจให้เด็กมันดู! เมื่อเทรนด์ Olderpreneur คนสูงวัยทำธุรกิจกำลังมาแรง

ให้เวลา 3 วินาที ลองคิดถึงชื่อนักธุรกิจยุคดิจิทัลที่ประสบความสำเร็จดูนะครับ…

แน่ล่ะ! ผมเชื่อว่าชื่อที่ผุดขึ้นในหัวคุณหลายคนคงหนีไม่พ้น มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก เจ้าพ่อเฟซบุ๊ก สตีฟ จอบส์ ผู้ให้กำเนิดแอปเปิ้ล หรือ บิล เกตส์ เจ้าของไมโครซอฟท์หรอกใช่ไหม ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะสังคมเราถูกทำให้เชื่อซะแล้วว่า ยุคดิจิทัล = ความทันสมัย และความทันสมัย = คนหนุ่มคนสาวเท่านั้น

พอถอดสมการออกมาเราเลยพบว่าชื่อของ วอร์เรน บัฟเฟต เศรษฐีเทรนด์หุ้นผู้เคยมีชื่อติดเป็นเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลก หรือ แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา มักหายไปจากความคิดเรา

แต่ความจริงคือเราพบว่าเทคโนโลยีและโลกแบบยุคดิจิทัลนั้นเล่นบทบาทช่วยเหลือผู้ประกอบการสูงวัยค่อนข้างมากทีเดียว ซึ่งเผลอๆ จะมากกว่าพวกคนหนุ่มสาวด้วยซ้ำ เพราะลองคิดดูดีๆ นะครับ เทคโนโลยีสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการหนุ่มสาวนั้นด้านหนึ่งก็เป็นเพียงหนึ่งใน “ทางเลือก” ที่พวกเขามี

เช่น ถ้าวัยรุ่นทำธุรกิจและไม่อยากเสียเปอร์เซนต์แพงๆ ให้แอพฯ ส่งของ พวกเขาอาจยังมีแรงแว้นมอไซค์ไปส่งของด้วยตัวเอง แต่ถ้าเป็นลุงป้าวัย 50+ ที่ไม่ค่อยมีกำลังวังชาแล้ว คิดดูว่าแอปเหล่านั้นจะสำคัญกับธุรกิจมากแค่ไหน มันไม่ใช่ทางเลือกแต่เป็น THE MUST ที่ช่วยให้พวกเขาทำธุรกิจได้เลยทีเดียว

Olderpreneur เทรนด์คนแก่ทำธุรกิจกำลังมาแรง

อย่าลืมว่าโลกกำลังมีประชากรวัยอายุเกิน 55 ปีเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลทุกปี และคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์เหล่านี้ครั้งหนึ่งพวกเขาเป็นฮิปปี้ เป็นพวกขบถของสังคมกำลังกลายเป็นคนแก่ที่ไม่เชื่อเรื่อง “ลูกจะเลี้ยงพ่อแม่” ไม่เชื่อเรื่อง “สวัสดิการรัฐจะเลี้ยงเราตลอดชีวิต” ที่สำคัญไม่เคยส่องกระจกและเห็นเงา “คนแก่” อยู่ในนั้นเลย

ไม่ต้องแปลกใจที่ผลสำรวจจาก Kauffman Foundation สถาบันสำหรับผู้ประกอบการ สหรัฐอเมริกา ระบุว่า 3 ใน 4 ของผู้ประกอบการหน้าใหม่ในปี 2014 ล้วนแล้วแต่เป็นคนอายุระหว่าง 35-64 ปีทั้งนั้น

สอดคล้องกับงานศึกษาจากแดนผู้ดีของ National Statistics ที่ระบุว่าในปี 2018 คนอังกฤษอายุ 50 ปีขึ้นไปแห่มาสร้างธุรกิจส่วนตัวใหม่นับเป็น 43% ของผู้ประกอบการหน้าใหม่ทั้งหมด และตัวเลขของผู้ประกอบการที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้น

นอกจากนี้ยังมีคนตั้งข้อสังเกตไว้น่าสนใจว่าธุรกิจที่ก่อตั้งโดยกลุ่มคนรุ่นเก๋าเหล่านี้มักไม่ลมพัดลมเพ เปิดมา ตั้งอยู่ และแป๊ปๆ ก็ดับไป แต่มักยืนยงไปได้นานหลายปี ทิ้งคำถามให้รุ่นหลานๆ ฉงนสงสัยว่าอะไรคือเคล็ดลับธุรกิจยืนยงของลุงๆ ป้าๆ

แก่แต่เก๋า! สร้างเกมธุรกิจที่ได้เปรียบทุกประตู

เราต้องไม่ลืมว่าคนกลุ่มที่เราเห็นเป็นลุงๆ ป้าๆ อยู่ทุกวันนี้ ครั้งหนึ่งพวกเขาเคยเป็นกลุ่มบุปผาชนผู้พร้อมขบถทุกจารีต สู้กับทุกแรงกดดัน ผ่านชีวิตช่วงสงครามมาอย่างโชกโชน ดังนั้น ดีเอ็นเอแห่งการต่อสู้มันแฝงฝังอยู่ในสายเลือดทำให้พวกเขาสามารถสร้างไอเดียธุรกิจสุดลึกล้ำและเสี่ยงตายออกมาได้

ที่ได้เปรียบมากคือคนกลุ่มนี้ผ่านการสะสมทุน ทั้งทางด้านประสบการณ์ทำงาน ประสบการณ์ชีวิต และความมั่งคั่งมากมาย เรียกว่าชีวิตของพวกเขาพรั่งพร้อมแล้ว ไม่ต้องกระเสือกกระสนเหมือนผู้ประกอบการรุ่นหนุ่มสาว

ดังนั้นเมื่อจะตัดสินใจลงทุน ขยายร้าน หรือปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาดก็ทำได้อย่างสุขุมเยือกเย็น เพราะด้านหนึ่งเงินทองที่ใช้ลงทุนก็เป็น “เงินเย็น” คือไม่ได้กู้ยืมใครมาจนดอกเบี้ยบานปลาย ขณะที่ประสบการณ์ผ่านร้อนผ่านหนาวก็สอนพวกเขาให้รู้วิธีทำธุรกิจที่ชาญฉลาด

นอกจากนั้นเทคโนโลยีสมัยใหม่นั้นช่วยให้รุ่นเก๋าที่กำลังวังชาเริ่มหดหายสามารถทุ่นแรงไปได้เยอะ อยากได้ฟรีแลนซ์ก็มีเว็บไซต์เสิร์ช อยากได้พนักงานส่งของ แอพพลิเคชั่นก็ช่วยพวกเขาได้ไม่ยาก แม้การเรียนรู้เทคโนโลยีจะเป็นอุปสรรคเสียหน่อยแต่นักวิจัยระบุว่าหากเทียบกับช่วงเวลาที่ต้องเอาตัวรอดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ความโหดหินมันคนล่ะระดับกัน ไอ้น้อง!

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการอายุเยอะส่วนใหญ่ยังเห็นตรงกันว่าพวกเขาไม่ได้หวังรวยจากธุรกิจหรอก เพียงแค่อยากมีประสบการณ์ใหม่ๆ เจอความท้าทายให้เลือดลมสูบฉีด กระชุ่มกระชวย พูดง่ายๆ ว่าพวกเขาไม่ได้ทำงานเร่งเอาตังค์เหมือนหนุ่มสาว แต่ทำงานด้วยใจรักแบบไม่รีบร้อน ซึ่งเรียกตามภาษาวัยรุ่นเท่ๆ ว่ามี “Passion กับงาน” อย่างแท้จริง

เกมช้าแต่ชัวร์ของกลุ่มผู้สูงวัยเหล่านี้ดูเข้าท่ามากเสียด้วยสิ เพราะผลการศึกษาจากสำนักสำรวจสำมะโนประชากรแห่งสหรัฐร่วมกับสถาบัน Massachusetts Institute of Technology ซึ่งทำการรวบรวมรายชื่อผู้ก่อตั้งธุรกิจกว่า 2.7 ล้านคนที่ทำธุรกิจระหว่างปี 2007-2014 พบว่าผู้ก่อตั้งธุรกิจส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไปแถมยังประสบความสำเร็จในธุรกิจสายเทคโนโลยี

อะไรนะ…สำเร็จในธุรกิจสายเทคโนโลยี!

ใช่แล้ว ฟังไม่ผิดหรอก คนแก่เก๋าเกมเหล่านี้ส่วนใหญ่ทำธุรกิจสายเทคโนโลยีจนปัง เรื่องนี้ เบจามิน โจนส์ ศาสตราจารย์ด้านกลยุทธ์จาก Kellogg School ให้คำอธิบายไว้ว่าในทางทฤษฎีแล้ว คนส่วนใหญ่เชื่อว่าพวกคนหนุ่มสาวจะเป็นเจ้าของธุรกิจสายเทคโนโลยีได้ดีกว่าคนรุ่นเก๋าเนื่องจากธุรกิจแบบนี้ต้องอาศัยความว่องไวและกล้าชนกับอุปสรรค

นอกจากนั้นคนหนุ่มสาวยังรู้ความต้องการของตลาดดีกว่าเพราะยังอยู่ในวัยใกล้กัน และทำงานได้อึด ถึก ทน หามรุ่งหายค่ำก็ได้

แต่ที่เราลืมไปคือคนแก่รุ่นเก๋ามีประสบการณ์สร้างธุรกิจระดับบิ๊กมาแล้วนานหลายสิบปี นอกจากนั้นยังเคยเป็นหัวหน้า เคยแก้ปัญหาวุ่นวายสารพัดสมัยธุรกิจเริ่มตั้งไข่ พูดให้ชัดคือพวกเขาผ่านทุกช่วงชีวิตของธุรกิจมาแล้ว

ขณะที่พวกเด็กๆ เอาแต่โฟกัสกับตลาดคนรุ่นหนุ่มสาวด้วยกัน คนรุ่นเก๋าก็เหลือบไปเห็นโอกาสใหม่ๆ ในโลกยุคดิจิทัลมากมาย

ดังนั้นเราจึงเห็นได้ว่าธุรกิจเทคโนโลยีของพวกหนุ่มสาวแรกๆ ก็ดูเหมือนจะรุ่งแต่พอระยะยาวสู้ธุรกิจของคนรุ่นเก๋าไม่ได้เพราะเอาแต่จับตลาดกลุ่มเดิมๆ และใจร้อนเกินไป ผิดกับลุงๆ ป้าๆ ที่อ่านทางลมไหลไปตามกระแสเก่ง ไม่ใจร้อน และมีสายตาแหลมคมเพื่อมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ตลอดเวลา

รู้อย่างนี้แล้วหนุ่มสาวที่กำลังเริ่มทำธุรกิจก็อย่ามองข้ามความเห็นของลุงๆ ป้าๆ ไปเสียล่ะ ดีไม่ดี พวกเขาอาจจะกลายเป็นพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจคนใหม่ของคุณไปก็ได้ ใครจะรู้ล่ะครับ…