Site icon Thumbsup

การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน แต่จะคุยการเมืองอย่างไรในที่ทำงาน

หลายองค์กรมีนโยบายห้ามพนักงานคุยเรื่องการเมืองในที่ทำงาน ฟังดูอาจจะปฎิบัติตามได้ง่าย จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุม การประท้วง การเลือกตั้ง ฯลฯ ทำให้เกิดบทสนทนาเรื่องการเมืองง่ายกว่าช่วงเวลาปกติ

การคุยเรื่องการเมืองในที่ทำงานอาจสร้างความแตกแยกและทำลายความสัมพันธ์ระหว่างพนักงาน ซึ่งอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกัน รวมถึงสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่เป็นมิตรได้

แต่คงเป็นไปไม่ได้ตลอดที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้บทสนทนาเรื่องการเมืองเกิดขึ้นในที่ทำงาน วันนี้จึงขอยกแนวทางปฎิบัติเพื่อช่วยให้คนทำงานสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้

รับฟังมากกว่าโต้แย้ง

วิธีพื้นฐานที่ทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ได้กรณีเกิดบทสนทนาเรื่องการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ การรับฟังมากกว่าโต้แย้ง หยุดใช้วาจาเชือดเฉือนแต่ใช้เหตุผลแทน ถาม-ตอบแบบไม่เผชิญหน้า เปิดใจรับฟังข้อเท็จจริงแบบไม่อคติ บางทีเราอาจจะได้มุมมองใหม่ๆ จากเพื่อนร่วมงานก็ได้

แนวทางการถกเถียงแบบสร้างสรรค์คือเราต้องไม่คิดว่าตนเองเป็นฝ่ายถูกเสมอ และต้องยอมรับผิดเมื่อตัวเองเป็นฝ่ายผิด ที่สำคัญอย่าลืมที่จะนำบทสนทนาไปสู่สิ่งที่ดีกว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่

เปลี่ยนเรื่องคุย

อาจดูเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุดเท่าไหร่ แต่การเมืองและความเชื่อเป็นเรื่องส่วนบุคคล ถ้าให้เถียงกันเพื่อเอาชนะ ทั้งวันก็ไม่มีวันจบ เปลี่ยนเรื่องคุยกันดีกว่าก่อนที่จะมองหน้าเพื่อนร่วมงานไม่ติด เพราะอย่างไรก็ยังต้องทำงานร่วมกัน เจอหน้ากันทุกวัน รวมถึงต่างก็อยากมีบรรยากาศการทำงานที่ดี

นโยบายในที่ทำงาน

การแสดงออกทางการเมืองถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลขั้นพื้นฐานของทุกคน แต่อย่างไรก็ตามมุมมองทางการเมืองถือเป็นเรื่องละเอียดละอ่อนซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานได้

ผู้บริหารหรือฝ่ายบุคคลควรวางนโยบายในที่ทำงานอย่างเหมาะสม แต่ยังคงเคารพสิทธิในการแสดงออกของพนักงาน ตราบที่ไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น กฎหมาย และไม่กระทบต่อการทำงาน

ที่มา themuse