Site icon Thumbsup

“เราไม่อยากจะเป็นยักษ์ที่อุ้ยอ้าย” คุยกับ Sea (Thailand) บริษัทแม่ของ Garena

ชวนฟังคำแนะนำด้านการจัดการบุคลากรจาก รัฐวุฒิ สุวรรณลิลา Head of People Team ของบริษัท Sea (Thailand) บริษัทที่มีบริษัทลูกอย่าง Garena (เจ้าของเกม RoV), AirPay (ให้บริการ E-Wallet) และ Shopee (ให้บริการ E-Commerce) ถือเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่มีจิตวิญญาณ Startup แม้จะเข้าตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กไปแล้วก็ตาม

“เราไม่อยากจะเป็นยักษ์ที่อุ้ยอ้าย” รัฐวุฒิ กล่าวอีกประโยคที่สำคัญเพื่อยืนยันว่า แม้จะเป็นฝ่าย HR ก็พร้อมปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง ส่วนจะมีคำแนะนำอะไรสำหรับคนทำงานรุ่นใหม่บ้าง

การบริหารธุรกิจของ Sea มีการปรับปรุง-เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เพราะว่าอยู่ในช่วง Technology Disruption เทคโนโลยีเปลี่ยน ธุรกิจโมเดลเปลี่ยนปุ๊บ คนเราก็ต้องเปลี่ยน การบริหารคนก็ต้องเปลี่ยน

ปัจจุบัน Sea (Thailand) จึงมีทีมที่เป็นฟังก์ชันที่จะทำการสนับสนุนใหญ่ๆ 2 ทีม ก็คือ ทีมของรัฐวุฒิที่ดูแลในเรื่องขององค์กรและส่วนของ Garena เป็นหลัก ส่วนอีกทีมหนึ่งจะเป็นทีมที่ดูแลตรงส่วนของ Shopee

โดยให้เหตุผลว่าที่แยกเป็น 2 ทีม เพราะมีโจทย์ว่าเวลาให้บริการพนักงานทุกคน องค์กรจะทำยังไงให้ HR สามารถเข้าถึงเขาได้ง่ายที่สุด ซึ่งการรวมศูนย์ในแบบเดิมนั้น มันไม่เวิร์กอีกต่อไป…

เทรนด์การทำงานของคนรุ่นใหม่กับองค์กรขนาดใหญ่

ผมขอตอบเป็นสองมุมละกัน มุมน้องกับมุมบริษัท

ในมุมน้อง

เสน่ห์ของบริษัทเล็กตอนนี้ผมคิดว่า เวลาที่น้องจะไปทำงานที่บริษัทใดก็ตามจะเล็กหรือจะใหญ่ ทราบไหมว่าตัวเองสุดปลายทางตัวเอง อยากทำอะไร อยากเป็นอะไร จะพัฒนาอะไรบริษัทเล็กข้อดีก็คือว่า ได้สามารถทดลองทำอะไรหลายๆ อย่าง เพราะว่าในฟังก์ชันนึงเป็นไปได้เพราะบริษัทเล็ก คนคนนึงต้องทำได้หลากหลายอย่าง ได้ทำกว้าง ได้ทดลองทำอะไรใหม่ๆ

เสน่ห์ของบริษัทใหญ่คือ เป็นบริษัทที่ทำการพัฒนา-ทดลองอะไรมาแล้ว เพราะฉะนั้นเขาจะมีระบบเข้าไป คุณได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แต่ว่าทั้งสองอย่างมันเป็นเหรียญคนละด้านกัน ส่วนเสน่ห์ของบริษัทเล็กคือ คุณได้ทดลองอะไรหลายๆ อย่าง สิ่งที่คุณทำเป็นครั้งแรกที่บริษัทไม่เคยมี แต่สิ่งที่ขาดคือต้องมีไกด์มาทำการสอนอะไรต่างๆ

แต่ในขณะเดียวกัน เราจะพบว่าบริษัทใหญ่มีการสอนมาแล้ว บางทีมันอาจจะไม่สามารถปรับไปปรับมาได้ ทำให้สิ่งที่เราอยากจะทดลองทำนั้นจะต้องคิดมากกว่าแค่ขั้นตอนเดียว ซึ่งบางคนจะพบว่ามันอาจจะไม่มีอิสระทางความคิดเทียบกับบริษัทเล็ก

ในมุมบริษัท

แต่สมมติถ้าพูดถึง Sea ผมรู้สึกว่าบริษัทเราเป็นบริษัทที่ใหญ่ แต่ว่าเรายังคงจิตวิญญาณของสตาร์ทอัพ คือเรายังคงฟังก์ชันย่อยๆ ไว้ เพราะเราเชื่อว่าเราจำเป็นที่จะต้องกระจายอำนาจการตัดสินใจให้กับน้องให้กับแต่ละแผนก ไม่อย่างนั้นเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตามตลาดได้

เราเป็นบริษัทที่ใหญ่ขึ้น เพราะว่าเรามีธุรกิจที่มากขึ้น เราเกื้อหนุนกันมากขึ้น เราเข้าตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กไป ทำให้เราได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน

“แต่ว่าเราไม่อยากจะเป็นยักษ์ที่อุ้ยอ้าย เพราะฉะนั้นมาถึงบริษัทเรา ผมยังรู้สึกว่า บริษัทเรายังมีเสน่ห์และก็จุดอ่อนแบบเดียวกับบริษัทเล็ก ก็คือของเรายังทำอะไรตัดสินใจรวดเร็ว คนคนนึงเราคาดว่าทำได้มากกว่า 1 2 3”

เรามีการทดลองทำสิ่งใหม่ๆ สิ่งที่จะทำให้เราต่างจากบริษัทเล็กทั่วไป เมื่อเรามีเงินทุน โอกาสการเติบโตของเราจะมี บริษัทจะเติบโตแค่ใดก็ตาม เมื่อเราอยู่ในอุตสาหกรรมที่โตขึ้น บริษัทเรากำลังอยู่ในบริษัทพุ่งขึ้น กำลังโตขึ้น น้องมีโอกาสมากขึ้น

แต่น้องจะไขว่คว้าโอกาสได้มากน้อยแค่ไหน นั่นคือความสามารถของน้อง นั่นคือทัศนคติของน้อง นั่นคือความกล้าของน้องในการที่จะรับสิ่งต่างๆ

 

หลักการบริหารงานฝ่าย HR รับยุคดิจิทัล

นับตั้งแต่วันแรกที่พนักงานเข้ามา บริษัทของเราจะพยายามทำอย่างไรให้ดูแลพนักงานได้ดีที่สุด โดยที่ Policy บริษัทเราไม่ได้คงไว้ทุกอย่างให้เป็นอย่างนั้นตลอดไป

หัวใจอันดับแรกเราอยู่ที่ฝั่ง People ฝั่งบุคคล เราเป็น support function เราต้องช่วยสนับสนุนองค์กร-ธุรกิจให้มันวิ่งไปได้ จากแต่เดิมการบริหารบุคคล-ของฝั่งผม ทุกอย่างฟังก์ชันรวมศูนย์อยู่ ทำการดูแลต่างๆ มันรวดเร็ว เพราะตอนนั้นบริษัทเรายังไม่ใหญ่มาก

พอเราเกิดการขยายตัวมากขึ้น การให้บริการบางอย่าง เราอาจจะไม่เร็วเท่า ก็ต้องแตกตัวไป เพราะฉะนั้นคีย์สำคัญของเราก็คือการบริหารคน เราจะดูแลคนอย่างไรให้สามารถเติบโต ทำงาน มีความสุข และเติบโตไปพร้อมๆ กับองค์กรได้

ประกอบกับบริษัทมี Core Value 5 ข้อ คือ We Serve เราต้องมีจิตใจให้บริการ, We Run, We Adapt ต้องเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว, We Commit มีความรับผิดชอบ และ We Stay Humble มีความอ่อนน้อมถ่อมตน

“เราไม่ได้เป็นระบบลำดับขั้น ทุกคนสามารถพูดคุยกันได้ พวกนี้จะแก่นหลัก ที่เหลือนโยบาย เรื่องของการกำกับดูแล อะไรต่างๆ มันจะเริ่มเปลี่ยนแปลงและปรับตัวตามธุรกิจต่อไป”

 

ทักษะและสิ่งที่คนรุ่นใหม่ควรจะมีในการสมัครงานองค์กรในฝัน

1. Hard Skill

ใครจะทำหน้าที่อะไรก็ตาม ทักษะเบื้องต้นที่ทำให้คุณสามารถทำงานตรงนั้นได้ คุณต้องทำการเรียนรู้และเตรียมพร้อม แต่โลกมันเปลี่ยนแปลงเร็วใช่ไหม สิ่งที่เราเรียนรู้มาจากมหาวิทยาลัย 4 ปี หรือประสบการณ์จากบริษัทเก่า 5 ปี

อะไรก็ตามแต่ เราต้องเรียนรู้ต่อไปเรื่อยๆ ทักษะเบื้องต้นต้องมี คุณต้องเอาตรงนั้นเป็นฐาน อย่ายึดติด แล้วใช้ในการเรียนรู้ต่อไป นั่นคือ

2. Soft Skill

ผมพบว่า เด็กรุ่นใหม่ เป็นเด็กที่เก่ง รู้อะไรรวดเร็ว แต่ว่าทักษะบางอย่างต้องค่อยๆ บ่มเพาะ ให้เกิดเป็นความชำนาญ ความชำนาญต่างจากความรู้อย่างไร ความรู้ คือสิ่งที่เราทราบได้ทันที

ส่วนความชำนาญ คือ สิ่งที่เราทำเคยทำแล้วใช้เวลาหนึ่งวัน เมื่อคุณชำนาญมากขึ้น คุณอาจจะใช้เวลาทำเหลือแค่ครึ่งวัน นี่คือความชำนาญที่อาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการค่อยๆ บ่มเพาะ

ผมคิดว่าน้องๆ ควรจะต้องทำการ Balance ทั้ง Hard Skill และ Soft Skill เพราะบางอย่างคุณได้เร็ว บางอย่างคุณค่อยๆ พัฒนา ค่อยๆ มองดูว่า ต่อไปคุณต้องเป็นอย่างไร

3. Leadership

คุณมีความเป็นผู้นำ (Leadership) ได้ตลอด ไม่ว่าคุณจะอยู่ในตำแหน่งตรงส่วนใดก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น เวลาเราเป็นน้องในบริษัท ความเป็นผู้นำคือเราสามารถที่จะพัฒนาตัวเอง และบริหารเวลาส่วนตัวและเวลาทำงานได้

“เรารู้ไหมว่าหัวหน้าหรือคนที่เป็นพี่เนี่ย สั่งงานมา เขาต้องการผลลัพธ์สุดท้ายคืออะไร หรือว่าเราฟังว่าเขาอยากให้เราทำอะไร เป็นกระบวนการ 1 2 3 ส่วนตรงนี้แหละ จากเป็นน้อง เราสามารถนำส่วนตรงนี้ได้”

ถึงแม้เราจะเป็นรุ่นน้อง แต่ถ้าเราสามารถต่อรองกับพี่ได้ว่า เช่น พี่ต้องการอย่างนี้ แต่ผมมีความคิดว่าทำแบบนี้แล้วดีกว่า หรือปรึกษากับพี่ได้ว่าควรทำหรือไม่ควรทำจุดนี้อย่างไร

แล้วทำไมเราถึงต้องคุย ก็เพราะพอมองที่ปลายทาง เราจะพบว่าสิ่งที่เราคิดทำต่อไปอาจจะส่งผลได้ สมมติว่าเราทำสิ่งใหม่ๆ แล้วไปกระทบกับส่วนอื่น หรือเราทำตรงนี้เร็วขึ้น คนที่รับงานเขาเป็นอย่างไร

เพราะฉะนั้น แม้เราจะเป็นรุ่นน้อง แต่เราก็สามารถมีความเป็นผู้นำ และนำความเป็นผู้นำออกมาใช้ได้