Site icon Thumbsup

สรุปข้อคิดจากผู้บริหารชั้นแนวหน้า มองธุรกิจไทยวันนี้ไม่ Reinvention ไม่ได้แล้ว

เรื่องของการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ หรือ Reinvention ของภาคธุรกิจรายย่อย ถือว่าส่งผลกระทบอย่างมากแก่เจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่หรือคนที่อยู่มานาน เรียกได้ว่า Start up เหล่านี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่เข้ามา Disrupt ธุรกิจดั้งเดิมก็ว่าได้ แต่การที่ธุรกิจอยู่มานาน จะไม่ปรับตัวเพื่อความอยู่รอดก็คงไม่ได้เช่นกัน และนี่คือข้อคิดจากงานสัมมนา The Reinvention พลิกเกมธุรกิจ พลิกอนาคต 

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา นักเขียนและเจ้าของสำนักพิมพ์ Openbooks

เราต้องการสมเด็จพระเจ้าตากสินในยุคนี้!!

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ขึ้นเวทีบนกล่าวเป็นคนแรก แนะนำว่า Reinvention ควรมาก่อน disruption เพราะธุรกิจที่ไม่มีการคิดค้นส่ิงใหม่ๆ จะไม่สามารถรักษาธุรกิจของตนเองได้ ในยุคนี้การที่คุณยังภูมิใจในความเป็นธุรกิจยักษ์ที่อยู่มานานและไม่ปรับตัว นั่นแสดงว่าคุณยังอยู่ในกรอบแบบเดิมๆ ซึ่งมันตายไปแล้วในยุคที่ดิจิทัลเข้ามาอย่างรวดเร็ว นั่นหมายความว่าคุณจะยืนดูเฉยๆ ไม่ได้

มีนักเขียนมากมาย พยายามที่จะสรุปความหมายและให้คำนิยามกับคำว่า Disruption ซึ่งถ้าอยากมองให้ชัด ลองนึกภาพแบรนด์ที่เคยยิ่งใหญ่และอยู่มานาน อย่างเช่น ฟิล์มสีโกดัก หรือ Nokia เป็นต้น ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ในยุค 10-20 ปีที่แล้วถือว่าเป็นเจ้าตลาดที่มั่นใจว่าจะผูกขาดธุรกิจในอุตสาหกรรมของตนเองได้ แต่พอมาเจอคลื่นลูกใหม่อย่าง Apple Samsung หรือ กล้องดิจิทัล แบรนด์ใหญ่เหล่านั้นก็ไม่สามารถอยู่ต่อได้แล้ว

ผลกระทบที่แบรนด์ใหญ่เจอคือ เมื่อมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาเริ่มตีตลาดล่าง แบรนด์ใหญ่ก็หนีขึ้นตลาดกลาง พอรายใหม่ตีตลาดกลาง คุณก็ขยับขึ้นตลาดบน พอเขาตีตลาดบนคุณก็หนีไปพรีเมียม พอรายใหม่ตามไปพรีเมียม คุณก็อาจจะไม่เหลือลูกค้าในมือแล้ว จุดเด่นที่รายใหม่เข้ามาตีรายเก่าได้ ก็คือ ผลิตสินค้าและบริการตอบสนองความต้องการได้ดีกว่า เร็วกว่า และมีต้นทุนที่น้อยกว่า นี่ถึงเรียกว่าการโดน Disrupt อย่างแท้จริง

“หมดยุคของการภักดีต่อแบรนด์แล้ว ยุคนี้คือใครให้บริการได้ดีกว่า ถูกกว่า คุ้มค่ากว่า และตอบโจทย์ชีวิตได้ดีกว่า ลูกค้าก็พร้อมจะเปลี่ยนไปลองของใหม่ๆทันที” 

หรือหากต้องการมองให้เห็นภาพอีกสักนิด ลองย้อนกลับไปมองเรื่องการเมืองของไทย คุณคิดว่าทำไมกรุงศรีอยุธยาถึงแตก เพราะผู้นำไม่ดีเหรอ หรือเพราะไม่มีเครื่องมือตอบโต้เหรอ ถ้านำเรื่องเหล่านี้มาวิเคราะห์เป็นเชิงธุรกิจ สิ่งที่ไม่พร้อมคือ ประชาชนยุคนั้นไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกต่างหาก ตอนนั้นทีมพระเจ้าตากสินที่ยกทัพไปตีศัตรูให้แตกพ่าย ก็เปรียบเสมือนกับนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ไม่ถอย พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงและมองหาเครื่องมือที่จะมาสู้กับคลื่นลูกใหม่ นั่นคือ Revention ก่อนที่จะถูก Disruption

หากคุณเป็นเจ้าของธุรกิจ ต้องลองมองภาพให้กว้างก่อนว่า “เราจะปลูกฝังความกล้าหาญให้คนรุ่นใหม่ได้อย่างไร ถ้าเราไม่กล้าที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลง เราจะสร้างวัฒนธรรมได้อย่างไร ถ้าเราไม่มีคุณสมบัติพอที่จะรับมือความรุนแรงในปัจจุบัน”

นั่นจึงเป็นสิ่งสะท้อนที่ว่า ถ้าเราเข้าใจจิตวิญญาณของยุค ว่า disruption คืออะไร ก็จะเข้าใจจิตวิญญาณของคำนี้ เรื่องเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงทุกวัน แต่หัวใจสำคัญคือต้องเข้าใจก่อนว่า เราจะลงทุนตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ทุกวันไม่ได้แน่ แต่ถ้ามองภาพให้กว้างและรู้ว่าควรออกจาก Comfort Zone ก็จะรู้ว่าอะไรคืออุปสรรคของธุรกิจที่ควรตัดทิ้ง และอะไรคือทางแก้ที่จะสร้างความอยู่รอดของธุรกิจ

“หากเราแบกอัตตาของตนเอง เราก็จะจมอยู่กับความสำเร็จเดิมๆ ทางรอดของธุรกิจก็คือผู้บริหารจะจมอยู่กับเรื่องเดิมๆไม่ได้”

แน่นอนว่า คนยุคเก่า มักจะมองว่า ความสำเร็จของเรายิ่งใหญ่กว่าผู้อื่นเสมอ ความดีงามของเราดีกว่าทุกคนเสมอ นั่นเพราะเรารักตัวเองและแบกอัตตาของตัวเองไปทุกที่ ถ้าคุณยังแบกความสำเร็จเดิมเอาไว้ต่อไป ก็จะไม่สามารถก้าวผ่านไปสู่อนาคตต่อไปได้เลย

ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการ บริษัท ไทยซัมมิท โอโต พาร์ท อินดัสตรี จำกัด

ใครว่ารับช่วงต่อธุรกิจทำได้ง่าย

การที่ธุรกิจมีความมั่นคงและมีทีมที่ทำงานร่วมกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อนั้น ทำให้การเริ่มต้นการทำงานของคุณชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

จุดเริ่มต้นงานของเรา ไม่ใช่การเข้ามา Disrupt ธุรกิจเดิม แต่เพราะจำเป็นที่ต้องรับช่วงต่อ จึงตัดสินใจที่จะเข้ามา ซึ่งการเป็นลูกเจ้าของไม่ใช่เรื่องดี เพราะย่อมถูกจับตามองจากคนที่อยู่มานานและโดน “ลองของ” บ่อยครั้ง จนเริ่มชินและพยายามทำให้พวกเขาได้เห็นว่า เราทุ่มเทและมุ่งมั่นในการทำงาน รวมทั้งสามารถเป็นผู้นำได้ดี สร้างความมั่นใจในการทำงาน

การปรับองค์กรในยุคของ ชนาพรรณ นั้น ไม่ได้ “ล้างทิ้ง” ของเดิมที่มีอยู่ แต่ต้องศึกษาให้ดีก่อนว่าอะไรเป็นข้อดีและข้อเสีย และจะพาองค์กรไปในทางไหน

“หากเอ่ยชื่อ ไทยซัมมิท ทุกคนจะนึกภาพว่า มีขายทุกอย่างเรื่องชิ้นส่วน ซึ่งนั่นทำให้บริษัท ไม่มีจุดแข็งและคนรุ่นใหม่จะไม่เข้าใจแล้วว่าธุรกิจของเราคืออะไร”

นั่นจึงเป็นเหตุผลให้เรามองหาว่า จุดแข็งที่สามารถสร้างรายได้และยอดขายมาจากส่วนไหน อะไรที่ควรเดินต่อและจะตัดทิ้งในส่วนของจุดอ่อนอย่างไร เราจะไม่เอาวิธีขายสิ่งไหนดีก็มาเฉลี่ยโปะส่วนที่ขายไม่ดี เพราะจะกลายเป็นแบกต้นทุนทุกอย่าง ทำให้ลำบากในอนาคต ซึ่งบริษัทได้เริ่มจากการปรับโครงสร้างกลุ่มย่อยเพื่อช่วยในการสร้างยอดขายและเพิ่มกำไรในสิ่งที่ควรจะเป็น

นอกจากนี้ การ Disrupt ไม่ได้หมายถึงการลงทุนใหม่ไปเสียทุกเรื่อง แค่การปรับปรุงระบบหลังบ้านให้ดีขึ้นกว่าเดิมและลงทุนในสิ่งที่เหมาะสมก็เป็นสิ่งที่ควรทำเช่นกัน เพราะมีเทคโนโลยีหลายอย่างช่วยลดต้นทุนและทำให้บริหารงานได้ดีขึ้น

“การรับมือธุรกิจคลื่นลูกใหม่ให้ทัน คือนอกจากจับตาดูธุรกิจในสายของตนเองแล้ว ต้องดูธุรกิจที่ใกล้เคียงและมีความเกี่ยวเนื่องด้วย เผื่อว่าจะได้รับมือทันจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี บางครั้งผลกระทบอาจจะไม่ได้มาจากทางตรงเสมอไปและเราเห็นตัวอย่างการ disrupts ที่ส่งผลให้ธุรกิจหลายอย่างล้มหายไวมาก ดังนั้นจึงต้องมองให้กว้างและตามโลกให้ทันซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ธุรกิจไม่ว่าระดับไหนก็ควรทำ”

อิศราดร หะริณสุต ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท โอมิเซะ จำกัด

Startup มาแรงแต่ก็มีเป้าให้ถึงฝัน

Omise Go เมื่อครั้งระดมทุนผ่าน ico สามารถทำการเติบโตได้มากกว่าที่คาดไว้ถึงพันเท่า นั่นจึงเป็นการจุดไฟให้รู้ว่าโอกาสในธุรกิจ Payment ยังมีอีกมาก สิ่งที่ อิศราดร คาดหวัง คือ อยากเป็น Infrastructure ที่ทุกคนอยากใช้งานและสามารถนำ Data มาใช้วิเคราะห์ในเชิงธุรกิจได้มากขึ้น หากเปรียบเทียบกับธุรกิจแบบดั้งเดิม Omise หวังอยากเป็นบริการที่ไปที่ไหนก็เจอ เป็นที่รู้จักได้เหมือนกับบัตร Visa และ Mastercard

ตอนนี้บริษัทมีทีมงานหลักร้อยกว่าคน แต่สามารถทำงานได้เหมือนกับ Head Office ของธนาคารใหญ่ๆ เพราะเรามีเทคโนโลยีมาช่วยในการทำงาน ทำให้ลดขั้นตอนการทำงานแบบ routine รวมทั้งช่วยลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วย จึงเป็นโอกาสให้ Omise สามารถเดินหน้าบริการได้อย่างเร็วขึ้น

จิรัฐ บวรวัฒนะ CEO บริษัท บีเอ็นเค 48 ออฟฟิศ จำกัด

ธุรกิจสื่อจะอยู่รอดถ้ารู้จักใช้โอกาส

ด้วยธุรกิจสื่อที่โดน Disrupt อย่างหนัก เมื่อ 5-10 ปีก่อนคนมองว่า VCD และ DVD หายไปแน่ ในฐานะธุรกิจผู้ให้บริการจะอยู่รอดได้อย่างไร ทางคุณโรส ภรรยาของคุณจิรัฐ มองเรื่องการลงทุนทีวีดิจิทัล เพื่อถ่ายทอดการ์ตูนแบบ 24 ชั่วโมง เพราะเรามีลิขสิทธิ์การ์ตูนในมือ 4,000 กว่าเรื่อง ถือว่าเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์จำนวนมากที่สุดเลย จึงลงทุนสร้างทีมและเครื่องมือต่างๆ กว่า 200 ล้านบาท แต่ตอนนั้นเราไม่ได้ช่องมา ก็เลยต้องมองหาโมเดลใหม่ๆ ที่เหมาะสมและตอนนั้นกระแส AKB48 ก็เป็นที่น่าสนใจ

ความน่าสนใจของ AKB48 ที่เรามองในตอนนั้นคือ อยู่มา 13 ปี มีความนิยมตลอดและสร้างรายได้กว่า 7,000 ล้านบาท รูปแบบการบริหารงานคล้ายกับสโมสรฟุตบอลและแฟนคลับ คือไม่ว่าผู้เล่นคนไหนออกไป ทีมยังอยู่ได้ ถือว่าเป็นโมเดลที่ไม่ได้ยึดติดกับตัวบุคคล เน้นการพัฒนา Talent ที่หลากหลาย

การบริหารจัดการศิลปิน เชื่อมโยงกับ Emotional ของแฟนคลับเป็นหลัก ด้วยโมเดลนี้ อาจจะไม่ได้จับกลุ่ม Mass มากนัก แต่เราต้องหา niche market ให้เจอและนำมาเชื่อมโยงกับธุรกิจให้ได้ นั่นจึงเป็นจุดกำเนิดของธุรกิจที่แตกไปหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ซื้อ CD เพื่อเอาบัตรจับมือ, ซื้อกาแฟเพื่อลุ้นรับโปสการ์ด หรือกิจกรรมต่างๆ โดยเราไม่ได้ยึดติดกับการขายแค่ CD หรือเพลงเท่านั้น แต่มองไปที่สิ่งจับต้องได้บางอย่างและสื่อสารกับฐานแฟนคลับได้มากขึ้น

จุดขายของ BNK48 ไม่ใช่ Idol ที่ประสบความสำเร็จแล้ว แต่เปรียบเสมือนเด็กข้างบ้านที่ต้องการพัฒนาทำให้เด็กกลุ่มแรกที่เปิดตัวออกมา มีการฝึกเพียงแค่ 3 เดือนและปล่อยออกมาเลย ซึ่งกลุ่มแฟนคลับจะเห็นพัฒนาการของเขาไปเรื่อยๆ ซึ่งการพัฒนาให้ดีขึ้นถือว่าเป็นจุดสำคัญที่โดดเด่น เพราะคนเราไม่มีใครเก่งมาตั้งแต่เกิด ต้องค่อยๆ ฝึกฝนและมุ่งมั่นพยายามตลอด ส่วนบริษัทมีหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวของพวกเขา ซึ่งสื่อดิจิทัลให้โอกาสเราในการสื่อสารกับแฟนคลับง่ายขึ้น จากนั้นเราก็เสริมการถ่ายทอดเรื่องราวของน้องๆ ด้วยภาพยนตร์ ละคร เกมโชว์ รายการทีวีต่างๆ ทำให้ติดตามได้อย่างมีมิติมากขึ้น

ปีแรกบริษัทขาดทุน 20 กว่าล้านบาท ซึ่งจุดเปลี่ยนเกิดขึ้นคือหลังเดบิวต์และออกซิงเกิ้ลที่ 2 จากวันแรกขายซีดีได้ 1,300 แผ่น และมีแฟนคลับ 4,000 กว่าคนที่ชอบน้องๆ มาก จนมาถึงวันที่เรามีเพลงที่ 2 คือ คุ้กกี้เสี่ยงทาย เราต้องการที่จะมี Engagement ระหว่างแฟนคลับกับน้องๆ มากขึ้น ก็ให้แฟนๆ ส่งคลิปเข้ามาภายใน 2 สัปดาห์มีผู้ร่วมกิจกรรมกว่า 2,000-3,000 คลิป เราชวนพวกเขามาถ่ายมิวสิควีดีโอด้วยกัน จากนั้นก็มีการบอกต่อและรับชมผ่าน Youtube และ Facebook มากขึ้นเรื่อยๆ ยอดรับชมตอนนี้มากถึง 146,388,747 ครั้งแล้ว ทำให้ศิลปินดังๆ นำเพลงนี้ไป Cover ตามงานเทศกาล และ Event ต่างๆ เยอะมาก จนเพลงนี้ดังขึ้นมา

ก้าวต่อไปของ BNK48 คืออยากบุกตลาดเอเชียให้มากขึ้น ที่มองไว้คือประเทศจีน โดยอาศัยโอกาสสำคัญจากคนจีนที่ชอบดารา นักแสดงคนไทย จึงร่วมมือกับพันธมิตรในการผลิตคอนเทนต์ ด้วยความที่ยุคแรกเราผลิตคอนเทนต์เองทั้งหมด ซึ่งเราไม่เก่งมาก เราจึงอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตรที่มีความสามารถไม่ว่าจะเป็น GDH Grammy Workpoint เป็นต้น ซึ่งการร่วมมือกับพันธมิตรทำให้ภาพลักษณ์ของ BNK48 จะมีมิติที่หลากหลายมากขึ้น

ธุรกิจสื่อมีความน่ากลัวมาก เราไม่มีทางรู้เลยว่าจะถูก Disrupt เมื่อไหร่ ด้วยความที่เราต้องยืนอยู่บนความเสี่ยง ทำให้ต้องกล้า ต้องมองหาสิ่งใหม่ๆ และทำสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา ทุกวันนี้เรายัง “โต้คลื่น” กันอยู่ ต่อให้ต้องเจอพายุหนักแค่ไหนก็ต้องฝ่าฟันไปให้ได้และมั่นใจว่าต้องรอด