Site icon Thumbsup

ผลวิจัยจาก University of Pittsburgh เผยโซเชียลมีเดียมีเอี่ยวการเกิดโรคซึมเศร้าในกลุ่ม Young Adult

depression-01

ถือเป็นอีกครั้งที่มีการเปิดเผยงานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบที่โซเชียลมีเดียมีต่อจิตใจของมนุษย์ผู้ใช้งาน โดยเฉพาะในวันที่ทุกอย่างบนโลกพยายามขึ้นไปแข่งขันกันบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ โดยนักวิจัยจาก University of Pittsburgh สหรัฐอเมริกาออกมาระบุว่า การที่กลุ่ม Young Adult (อายุระหว่าง 19 – 32 ปี) มีการใช้งานโซเชียลมีเดียมาก ๆ นั้นเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าได้สูงมาก

โดยการวิจัยนี้ ทางทีมวิจัยได้ทำแบบสอบถามอเมริกันชนจำนวน 1,787 คน เกี่ยวกับการใช้งานแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้แก่ Facebook, YouTube, Twitter, Google plus, Instagram, Snapchat, Reddit, Tumblr, Pinterest, Vine และ LinkedIn  โดยให้เขียนรายละเอียดการใช้งานโซเชียลมีเดียของแต่ละคน ซึ่งคำตอบของผู้ใช้จะได้รับการประเมินโดยเครื่องมือประเมินภาวะซึมเศร้า

จากแบบสอบถาม พบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ตอบมีการใช้งานโซเชียลมีเดีย 61 นาทีต่อวัน และเข้าใช้งานในบัญชีต่าง ๆ ประมาณ 30 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่ที่น่าสนใจก็คือ ในคำตอบเหล่านี้ มีมากกว่า 1 ใน 4 ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของผู้มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะซึมเศร้า และเป็นผู้ที่ใช้เวลาเล่นโซเชียลมีเดียสูง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ค่อยได้เล่นโซเชียลมีเดียแล้ว คนที่เล่นโซเชียลมีเดียบ่อย ๆ นั้นมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าสูงกว่าถึง 2.7 เท่าเลยทีเดียว

ส่วนสาเหตุที่โซเชียลมีเดียมีความเกี่ยวพันกับภาวะซึมเศร้าเป็นเพราะจิตใจของมนุษย์นั้นยากแท้หยั่งถึง การได้เห็นโพสต์ของคนอื่น ๆ ใช้ชีวิต – เดินทางท่องเที่ยวอย่างมีความสุขอาจทำให้เกิดความอิจฉา – น้อยเนื้อต่ำใจในตัวเอง รวมถึงตั้งเกณฑ์การมีความสุขในชีวิตสูงตามคนอื่นในโลกโซเชียลมีเดียไปโดยไม่รู้ตัว ทั้ง ๆ ที่สำหรับบางคน อาจเคยมีความสุขได้ง่าย ๆ กับเรื่องใกล้ตัว ซึ่งเป็นผลลัพท์ที่ไม่ต่างจากงานวิจัยชิ้นก่อนหน้านี้ที่เคยมีการทำสำรวจกันมามากนัก

อย่างไรก็ดี  ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอาจใช้โซเชียลมีเดียเพื่อไม่ให้ตนเองรู้สึกว่างเปล่า แต่การเปิดรับโซเชียลมีเดียมากเกินไปก็อาจทำให้อาการโรคซึมเศร้ารุนแรงยิ่งขึ้น

ด้านผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่าง ๆ ก็เริ่มมีการให้ความช่วยเหลือผู้ใช้งานที่เกิดภาวะซึมเศร้าแล้วเช่นกัน เช่น หากมีการเสิร์ชคำว่า ซึมเศร้า หรือฆ่าตัวตาย แพลตฟอร์มต่าง ๆ จะแสดงผลแหล่งข้อมูลสำหรับให้ความช่วยเหลือ หรือให้คำปรึกษาเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายด้วย ส่วน Facebook ก็มีให้รีพอร์ตสถานะที่อาจทำให้เกิดโรคซึมเศร้าเพื่อให้ระบบได้ทราบด้วยเช่นกัน

ส่วนการแก้ไขอาจเป็นการสร้างวินัยในการใช้งาน การหากิจกรรมอื่น ๆ ทำเพื่อที่จะได้ไม่หมกมุ่นบนโลกออนไลน์นานเกินไป และสนับสนุนให้เล่นอย่างมีสติ มองข่าวสารความเคลื่อนไหวในเชิงบวก ส่วนคอนเทนต์ที่ทำให้เกิดความรู้สึกในเชิงลบ จะลบทิ้งออกจากฟีดข่าวไปบ้างก็คงไม่เป็นไร

ที่มา Forbes.com