Site icon Thumbsup

กฎสามส่วนเพื่อบริหารเนื้อหาบนโซเชียลมีเดียสำหรับแบรนด์และธุรกิจ

การใช้งานโซเชียลมีเดียสำหรับคนในทุกวันนี้ หลายคนใช้กันตั้งแต่ลืมตาตื่นจนหลับตานอน แต่สำหรับแบรนด์ต่างๆ นั้น ผู้ดูแลอาจทำอย่างนั้นเช่นกัน โดยอาจลืมนึกถึงสิ่งที่ควรสื่อออกไป แต่กลับไปนึกถึงเพียงแค่การให้บริการลูกค้าให้ได้มากที่สุด วันนี้เลยมีคำแนะนำสำหรับการสร้างเนื้อหาบนโซเชียลมีเดียสำหรับผู้ดูแลแบรนด์ด้วยหลักการง่าย ๆ ที่เรียกว่า กฎสามส่วน (Rule of Third)

กฎสามส่วนหรือ Rule of Third คำนี้อาจจะคุ้นเคยสำหรับคนที่ถ่ายภาพ เพราะมันหลักการเบื้องต้นในการจัดองค์ประกอบหรือตำแหน่งของภาพก่อนถ่ายในเป็น 3 ส่วน เพื่อให้ภาพที่ถ่ายออกมาดูสมดุลและสวยงาม แต่กฎสามส่วนสำหรับโซเชียลมีเดียที่จะพูดถึงนี้ เป็นการแบ่งเนื้อหาบนโซเชียลเน็ตเวิร์กสำหรับผู้ดูแลแบรนด์เพื่อให้สามารถข้อมูลที่เราโพสต์เข้าถึงกับลูกค้าได้อย่างเต็มที่และเป็นประโยชน์ โดยแบ่งเป็น 3 ส่วนดังนี้ครับ

ส่วนที่หนึ่ง: บอกเรื่องราวที่เกี่ยวกับของธุรกิจหรือแบรนด์ที่คุณดูแล

สิ่งนี้น่าจะเป็นสิ่งหลักที่เจ้าของธุรกิจหรือคนที่ดูแลแบรนด์ทุกคนน่าจะทำอยู่แล้วเป็นทุนเดิม เพราะคุณเองจะต้องเข้าใจว่าเราคือใคร ทำแบรนด์อะไร อยากที่จะสื่อแบรนด์ว่าอย่างไร โดยสิ่งที่จะบอกหรือผ่านโซเชียลมีเดียนั้น จะครอบคลุมทุกๆ อย่างที่เกี่ยวกับเนื้อหาที่มีในเว็บไซต์รวมถึงบล็อก (Blog) ทางธุรกิจของคุณ ไม่ว่าจะเป็นการอัพเดทข่าวสารล่าสุด, โปรโมชั่นต่างๆ หรือธุรกิจของคุณได้รับรางวัลหรือการชื่นชมจากสื่อต่างๆ เป็นต้น เหล่านี้คือสิ่งที่คุณสามารถนำมาบอกหรือเผยแพร่ให้คนที่ติดตามคุณได้รับรู้ ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าของแบรนด์ของคุณให้กับลูกค้าและผู้ติดตามได้มั่นใจมากขึ้น

ส่วนที่สอง: บอกเรื่องราวที่คุณสนใจและเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจและแบรนด์ของคุณ

เนื้อหาในส่วนนี้เราไม่จำเป็นจะต้องสร้างขึ้นมาเอง เราสามารถไปค้นคว้าจากแหล่งอื่นๆ ทั้งเว็บไซต์ข่าว, จากนิตยสาร หรือถ้าเป็นยุคปัจจุบันก็คือข้อมูลจากเหล่าบล็อกเกอร์ที่พูดถึงแบรนด์ของเรา โดยก่อนที่เราจะบอกต่อข้อมูลให้กับผู้ที่ติดตาม เราจำเป็นจะต้องคัดกรองเนื้อหาจากทุกแหล่งข่าวทุกครั้ง เพื่อให้ข้อความเหล่านั้นเป็นประโยชน์ต่อผู้ติดตามและต่อเรามากที่สุด

การทำส่วนนี้ ถือเป็นการสร้างโอกาสที่คนที่ติดตามแบรนด์หรือธุรกิจของคุณจะได้หาสิ่งที่สนใจเพิ่มเติมอีกด้วย

ส่วนที่สาม: ข้อความเพื่อสร้างการปฏิสัมพันธ์กับผู้ติดตามแบรนด์

ส่วนนี้ถือเป็นส่วนสำคัญมาก เพราะถือเป็นจุดที่โซเชียลเน็ตเวิร์กทำได้ดีมากนั่นคือการสร้างช่องทางเพื่อให้แบรนด์เข้าใกล้กับลูกค้ามากที่สุด ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าแบรนด์ไม่เพียงแต่บอกสิ่งที่แบรนด์อยากจะสื่อฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่ควรจะต้องรับฟังเสียงและโต้ตอบของผู้ใช้แบรนด์ด้วย ไม่เช่นนั้นการใช้โซเชียลมีเดียกับแบรนด์ก็คงไม่ต่างกับการสร้างหุ่นยนต์ที่สร้างข้อมูลเพียงอย่างเดียว โดยสิ่งที่เราควรทำไม่ว่าจะเป็นการตอบคำถามจากลูกค้า, การตั้งคำถามเพื่อให้เรารับทราบความต้องการของลูกค้าโดยตรง รวมทั้งการส่งต่อข้อความจากลูกค้าคนอื่นให้ลูกค้าคนอื่น ๆ ได้รับรู้ เพื่อเป็นการยืนยันว่ามีลูกค้าตัวจริงเข้ามาให้ความเห็นหรือชื่นชมกับแบรนด์เราจริงๆ

สำหรับคนที่ไม่รู้จะเริ่มต้นการตั้งคำถามบนโซเชียลมีเดียจะเริ่มอย่างไรดี ให้ลองตั้งคำถามโดยหลีกเลี่ยงการถามในรูปแบบ “เรากำลังทำอะไรอยู่?” (What am I doing?) แต่ให้ปรับเปลี่ยนความคิดและคำพูด ว่าสิ่งที่เราจะถามไปนั้นมีอะไรที่น่าสนใจต่อลูกค้าหรือทำอะไรให้ลูกค้าสนใจได้บ้าง (What has my attention?)

ตัวอย่างเช่น “เที่ยงนี้ฉันกำลังจะไปกินข้าว” เมื่อลองเปลี่ยนประโยคดูเป็นว่า “ฉันกำลังจะหาร้านข้าวอร่อย ๆ กินแถวสีลม มีร้านไหนแนะนำบ้างไหมครับ/ค่ะ?” จะเห็นว่าจากประโยคโยคแรกที่ดูน่าเบื่อหรือเป็นแค่ประโยคบอกเล่า เมื่อเปลี่ยนเป็นประโยคหลังด้วยคำพูดที่เพิ่มความน่าสนใจ จนกลายเป็นเริ่มต้นบทสนทนาให้คนอื่น ๆ เข้ามาร่วมคุยกับเราได้อย่างง่ายได้ เป็นต้น

อันที่จริงแล้วคนที่ติดตามแบรนด์ต่าง ๆ อาจมองว่าที่บอกมาในกฎสามส่วนนี้ก็เจอกันอยู่แล้วไม่ใช่เหรอ ต้องตอบว่าใช่ครับ แต่ถ้าจะให้หาว่าแบรนด์ไหนที่สามารถจัดการเนื้อหาให้อยู่ในกฏสามส่วนได้อย่างสมบูรณ์ คงตอบกันไม่ได้อยากเต็มปากว่าทุกแบรนด์ทำแบบนี้ ซึ่งหากให้ยกตัวอย่างแบรนด์ในไทยที่สามารถทำได้อยู่ในขอบข่ายกฎสามส่วนมากที่สุดคงต้องยกให้ GTH Channel (Twitter, Facebook) จะเป็นอย่างกฎสามส่วนอย่างไรบ้าง ต้องลองเข้าไปอ่านดูครับ 😀?

ท้ายที่สุดสิ่งที่เจ้าของแบรนด์หรือธุรกิจควรทำ ถ้าอยากให้ลูกค้าที่มีอยู่ อยู่กับคุณไปนานๆ และมีลูกค้าหน้าใหม่เพิ่มมากขึ้น ก็คงจะต้องเป็นกฎสามส่วนที่มีความยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่เหมาะสม โดยควรจะทำอย่างสมดุล ไม่เบนไปอันใดอันหนึ่งมากจนเกินไป และที่สำคัญคือจะต้องทำอย่างสม่ำเสมอ เพราะสิ่งนี้คือสิ่งที่จะทำให้ลูกค้าตั้งตารอติดตามความเคลื่อนไหวแบรนด์ของคุณไปเรื่อยๆ

ที่มา: Chicagotribune