Site icon Thumbsup

7 ประเด็นสังคมที่เหล่า CEO สนใจปี 2019

ปีนี้ ประธานผู้บริหารหรือ CEO อเมริกันหลายคนระบุว่าจะโฟกัส 7 ประเด็นทางสังคมนี้ก่อนเป็นอันดับต้นๆ โดย 1 ใน 7 ประเด็นคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ climate change และการประพฤติมิชอบทางเพศหรือ sexual misconduct ซึ่งเป็น 2 ประเด็น CEO ชั้นนำบอกว่าถ้าทำช่วยเหลืออะไรได้ ก็จะเทความสามารถและใส่ใจแก้ปัญหาเหล่านี้เป็นพิเศษ

ถามว่าทำไม CEO บริษัทจึงเกี่ยวข้องกับปัญหาสังคม คำตอบคือในจุดยืนของ CEO จะสะท้อนชัดบนภาพลักษณ์และสินค้าของบริษัท ขณะเดียวกัน ผู้บริหารระดับสูงของหลายบริษัทสามารถปูทางเข้าสู่การเมืองในหลายประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ทำให้เกิดเป็นยุคของ CEO นักกิจกรรมซึ่งคนอเมริกันเองก็เห็นดีด้วยเพราะมีความเชื่อมั่นในตัว CEO เต็มเปี่ยม

เห็นได้จากรายงานล่าสุดของ Weber Shandwick ที่พบว่าเกือบครึ่งของคนอเมริกันคิดว่า CEO สามารถมีอิทธิพลต่อนโยบายเพราะการเคลื่อนไหวในนามบริษัท ในขณะที่ 77% เชื่อว่า CEO ควรพูดหรือประกาศจุดยืนให้ชัดเจน ขณะที่ 46% กล่าวว่ามีแนวโน้มจะซื้อสินค้าหรือใช้บริการบริษัทที่มี CEO เป็นแกนนำในประเด็นทางสังคมที่พวกเขาสนใจ

1. ปัญหาโลกร้อน

Daniela Perdomo, CEO ของบริษัทสตาร์ทอัปผู้ออกแบบเทคโนโลยีอุปกรณ์สื่อสารชื่อ goTenna ให้ความเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเวลา เนื่องจากแม้ปัญหานี้จะดูไม่ร้อนแรงเท่าประเด็นสำคัญอื่นเช่น ปัญหาการเมืองไร้เสถียรภาพ หรือปัญหาเศรษฐกิจ แต่เราทุกคนได้เห็นการเพิ่มขึ้นของภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่รุนแรง

แน่นอนว่า CEO รายนี้ไม่ลืมขายของ โดยบอกว่าผลกระทบเหล่านี้ทำให้เกิดความจำเป็นในการสื่อสารในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจที่ทำให้ตัวเขาสร้างบริษัท goTenna ขึ้นมา

2. การพัฒนาอย่างยั่งยืน

Eunice Byun, CEO สตาร์ทอัปบริษัทเครื่องครัว Material เล่าถึงแนวคิดหลักของบริษัทว่าให้ความสำคัญกับการบริโภคอย่างมีสติ (conscious consumption) และวิธีที่จะทำให้เกิด conscious consumption อย่างยั่งยืน

แนวคิดนี้ทำให้ Material มองว่าหากบริษัทสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าสามารถใช้งานได้ทุกวัน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนทิ้งบ่อย บริษัทก็จะมีส่วนลดปริมาณขยะบนโลกได้ แถม Material ยังมีนโยบายผลักดันให้บรรจุภัณฑ์สร้างขยะน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ บริษัทจึงมุ่งคิดค้นวิธีการส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดที่ยั่งยืนและรีไซเคิลได้ต่อเนื่อง

3. ความรุนแรงจากปืน

Ariel Kaye, CEO สตาร์ทอัปสินค้าเครื่องนอน Parachute บอกว่าเธอกำลังจะก้าวเข้าสู่บทบาทคุณแม่ในปีนี้ ทำให้เธอมองความปลอดภัยของลูกเป็นหนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุด เธอต้องการให้ลูกสาวที่กำลังเกิดมารู้สึกปลอดภัยและปลอดจากความรุนแรง โดยเฉพาะกรณียิงกราดด้วยปืน ซึ่งเด็ก ๆ ควรรู้สึกสบายใจที่จะไปโรงภาพยนตร์หรือสนามเด็กเล่น

CEO คุณแม่มือใหม่บอกว่าจะพยายามเรียกร้องเพื่อหยุดโศกนาฏกรรมจากอาวุธอัตโนมัติตลอดปีนี้

4. การเข้าถึงการดูแลสุขภาพที่เท่าเทียม

Tristan Walker, CEO สตาร์ทอัปบริการด้านสุขภาพและความงาม Walker & Company มองว่าสหรัฐอเมริกามีปัญหาเหลื่อมล้ำ โดยบอกว่า 1 ในประเด็นทางสังคมที่ใหญ่ที่สุดในยุคนี้คือผู้หญิงผิวดำเสียชีวิตเพราะโรคภัยและการการตั้งครรภ์ด้วยอัตราที่น่าตกใจ เหตุที่ทำให้ผู้หญิงผิวดำมีความเสี่ยงด้านสุขภาพมากกว่าผู้หญิงผิวขาวสามถึงสี่เท่าเป็นเพราะปัญหาวิกฤตระดับประเทศที่ต้องการการยกเครื่องระบบการดูแลสุขภาพของคนอเมริกัน

5. Social Mobility

Jean Brownhill, CEO สตาร์ทอัปเพื่อการรีโนเวทบ้านผ่านการจับคู่ผู้รับเหมา Sweeten บอกว่า social mobility หรือการเลื่อนฐานะทางสังคมเป็นสิ่งสำคัญที่แพลตฟอร์ม Sweeten คำนึงถึง โดยบริษัทให้ความสำคัญกับเส้นทางการเติบโตของผู้รับเหมาที่จะมีประโยชน์ต่อครอบครัว และสังคม

จุดนี้ผู้บริหาร Sweeten โจมตียูนิคอร์นอย่าง Uber ว่าไม่ได้วางแผนการเติบโตให้ผู้ขับที่มาร่วมเป็นสมาคมผู้ขับรถด้วย แต่ Sweeten นั้นวางแผนชัดเจนโดยเฉพาะกับบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดเล็กที่จะสามารถเติบโตสร้างรายได้ไปพร้อมกับ Sweeten

6. ความหลากหลายในที่ทำงาน

Jessica Matthews, CEO บริษัทพลังงานอย่าง Uncharted Power บอกว่ามีภูมิใจในความหลากหลายของทีมงานบริษัท ซึ่งไม่เพียงความต่างทางชาติพันธุ์ แต่ยังมีบุคคลที่อยู่ในฐานะผู้อพยพที่มีวีซ่าและแม้แต่กลุ่ม Dreamer ผู้ที่มีบิดามารดาเป็นผู้อพยพซึ่งเกิดในสหรัฐอเมริกา

ยังมีอีกหลาย CEO ที่แสดงจุดยืนสนับสนุนทีมที่มีแรงปรารถนาหรือ passion ในการทำงานอย่างแท้จริง

7. การล่วงละเมิดทางเพศ

Michelle Nunn, CEO องค์กรช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมชื่อ Care ยอมรับว่าส่วนตัวเธอมุ่งเน้นไปที่การช่วยยุติการล่วงละเมิดต่อผู้หญิงในรูปแบบที่แพร่หลาย โดยปัญหานี้ถือว่ารุนแรงและคุกคามโลกของการทำงานมาก เนื่องจากมากกว่า 1 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกไม่มีกฎหมายคุ้มครองหากเกิดเหตุล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน ทำให้ผู้หญิงจำนวน 235 ล้านคนเกิดความเสี่ยง

ทั้ง 7 ประเด็นนี้เชื่อว่าจะไม่ได้เป็นแนวทางการแสดงจุดยืนของแบรนด์อเมริกันเท่านั้น แต่อาจจะขยายมาสู่แบรนด์ไทยและแบรนด์โลกด้วยตลอดทั้งปีนี้

ที่มา: : FastCompany