Site icon Thumbsup

เปิด 9 เหตุผล ทำไมเราต้องรู้จัก “นักท่องเที่ยวจีน” ให้มากและดียิ่งขึ้น

“นักท่องเที่ยวชาวจีน” ใครมองว่าคนกลุ่มนี้ไม่สำคัญอาจต้องคิดใหม่ เพราะมีตัวเลขจาก Tencent บริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ออกมาเผยแล้วว่า ในปี 2016 ที่ผ่านมานั้น เม็ดเงินที่นักท่องเที่ยวจีน 8.7 ล้านคนนำเข้ามาในประเทศไทยนั้นถือเป็น 3% ของ GDP หรือหากตีเป็นตัวเลขแล้วก็สูงถึง 357,630 ล้านบาท โดยคิดเป็นเงินที่มาใช้จ่ายไปกับการช้อปปิ้งนั้นอยู่ที่ 146,458 ล้านบาทเลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี ตัวเลขด้านการใช้จ่ายนี้ เรามองว่า หากผู้ประกอบการไทยมีความรู้ความเข้าใจในพฤติกรรมการบริโภคของนักท่องเที่ยวชาวจีน รวมถึงมีกลยุทธ์ทางการตลาดที่เหนือชั้น ที่สามารถเข้าถึงใจของนักท่องเที่ยวจีนได้อย่างดี มันจะเพิ่มขึ้นได้อีกอย่างแน่นอน ดังนั้น วันนี้เราจึงมาชวนให้ผู้ประกอบการไทยและนักการตลาดไปรู้จัก “คนจีน” ในแง่มุมต่าง ๆ ดังนี้

1. นักท่องเที่ยวจีนเลือกมาไทยเป็นอันดับสามรองจากฮ่องกงและมาเก๊า (ปี 2015)

สำหรับฮ่องกง และมาเก๊าที่ครองอันดับ 1 และ 2 นั้นไม่ต้องแปลกใจ เพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ใกล้จีนแผ่นดินใหญ่มากที่สุด ที่สำคัญยังสามารถใช้ภาษาจีนได้อย่างสะดวก แต่การเลือกบินมาไทย (ไทยอยู่อันดับ 3 กับยอดนักท่องเที่ยว 7.93 ล้านคน) ที่ต้องใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงกลับเป็นตัวเลือกที่ชาวจีนสนใจมากกว่าประเทศเกาหลีใต้ (อันดับ 4 ที่ 6.11 ล้านคน) และญี่ปุ่น (อันดับ 5 ที่ 4.99 ล้านคน) ทั้ง ๆ ที่ใช้เวลาเดินทางน้อยกว่า แสดงให้เห็นว่า ชาวจีนให้ความสนใจกับประเทศไทยสูง

2. Social Media ถูกใช้เป็นตัว Trigger ชาวจีนให้เกิดความต้องการเที่ยว

ข้อมูลในปี 2016 พบว่า ในตลาดจีน Social Media เป็นตัว Trigger ให้เกิดความต้องการท่องเที่ยวได้ถึง 81% สูงกว่าเสิร์ชเอนจินที่อยู่ที่ 74% ซึ่งเหตุผลในการท่องเที่ยวนั้นก็แตกต่างกันไป เช่น มาพักผ่อน, มาช้อปปิ้ง, มาหาเพื่อน

3. ยอดนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เข้ามาในไทยปี 2016 เพิ่มเป็น 8.7 ล้านคน และมียอดใช้จ่าย 3 แสนกว่าล้าน

ยอดใช้จ่ายที่ได้มีการรวบรวมโดย TAT ระบุว่า นักท่องเที่ยวจีนมีการใช้จ่ายคิดเป็น 3% ของ GDP ที่ 357,630 ล้านบาทกับตัวเลขนักท่องเที่ยว 8.7 ล้านคน โดยใช้ไปกับการช้อปปิ้งสูงถึง 146,458 ล้านบาท ซึ่งสินค้าที่นิยมซื้อนั้นได้แก่ อาหาร และขนมขบเคี้ยว, ของขวัญของฝาก, เสื้อผ้า, เครื่องสำอางและกลุ่ม Personal Care

หากนำตัวเลขดังกล่าวมาหารเฉลี่ยเป็นยอดการใช้จ่ายต่อคน จะอยู่ที่ 25,000 – 100,000 บาท ซึ่งส่วนใหญ่หมดไปกับการช้อปปิ้ง อย่างไรก็ดี Tencent พบด้วยว่า ในระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวนั้น ชาวจีนนิยมแชร์ประสบการณ์่ส่วนตัวผ่าน Social Media เป็นระยะ ๆ ด้วย ซึ่งแน่นอนว่าอาจไป Trigger ความต้องการของผู้ใช้งานรายอื่น ๆ ได้อีก

4. ยอดใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนที่มากกว่า 250,000 บาทขึ้นไปนั้นมีอยู่ 5%

จากหัวข้อก่อนหน้าที่ระบุตัวเลขการใช้จ่ายนั้น สามารถแสดงในรูปของแผนภูมิได้ดังภาพ โดยพบว่ากลุ่มที่ใช้จ่ายมากกว่า 100,000 บาทขึ้นไปนั้นมีถึง 17%

พฤติกรรมการหาข้อมูลของคนจีน = อินเทอร์เน็ต

5. ตัวเลขผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตของจีนอยู่ที่ 731 ล้านคน (2016) หรือคิดเป็น 53% ของประชากรทั้งหมด

Source: The 39th Statistical Report on Internet Development in China_CNNIC

ความน่าสนใจคือ ในจำนวนนี้ เป็นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์โมบายล์แล้ว 695 ล้านคน หรือคิดเป็น 95% ของผู้ใช้งานทั้งหมด

6. ชาวจีนบนโลกออนไลน์มีอายุตั้งแต่ 10 – 40 ปีสูงสุด และเป็นชายมากกว่าหญิง

Source: The 39th Statistical Report on Internet Development in China_CNNIC

7. การใช้งานอินเทอร์เน็ตของชาวจีนอยู่ที่ 3.8 ชั่วโมงต่อวัน หรือ 26 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ไม่ต้องแปลกใจกับตัวเลขนี้ เพราะอาจเป็นคนไทยที่ใช้อินเทอร์เน็ตนานมากไปก็เป็นได้ แต่สำหรับชาวจีน 3.8 ชั่วโมงต่อวันคือตัวเลขที่พอดีแล้ว โดยการใช้งานส่วนใหญ่อยู่กับแอปพลิเคชัน Instant Messaging 91% ตามมาด้วยเสิร์ชเอนจิน 82% อย่างไรก็ดี ในชาร์ตด้านขวามือ จะพอสังเกตเห็นการเติบโตในแอปพลิเคชันด้าน News, e-Payment, Shopping, Banking, Reading, และ Travel&Booking เพิ่มขึ้น

8. แพลตฟอร์มสำคัญที่ครองส่วนแบ่งใน 3.8 ชั่วโมงนั้นมาจาก Tencent

Source: QuestMobile

ถ้าหากมองในแง่การใช้งาน ชาร์ตนี้ก็แสดงให้เห็นค่อนข้างชัดว่าแพลตฟอร์มของ Tencent ครองส่วนแบ่งเอาไว้สูงมาก โดยหลัก ๆ คือการใช้งาน WeChat ที่กลายเป็นเหมือนเส้นเลือดใหญ่ของชาวจีนไม่ต่างกับที่ Facebook เป็นอยู่ในสังคมไทย รองลงมาคือ QQ ซึ่งก็เป็นบริษัทลูกของ Tencent อีกเช่นกัน

9. แม้ชื่อบริการอาจต่างกัน แต่รูปแบบของแอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยมในจีนและตลาดโลกนั้น “คล้ายกัน”

นอกจากพื้นที่ตรงกลางซึ่งเป็นระบบนิเวศของ Tencent แล้ว รอบนอกก็ยังมีบริการจากอีกหลาย ๆ บริษัทที่ทำหน้าที่ประหนึ่งบริการของ YouTube, Google, Expedia, Uber, Amazon, Yelp ฯลฯ ในภาคภาษาจีน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ความต้องการใช้งานแอปพลิเคชันนั้น แท้จริงแล้วมนุษย์ในโลกอาจต้องการไม่ต่างกันเลยก็ว่าได้

ในฐานะผู้ประกอบการ นี่จึงอาจเป็นข้อมูลชิ้นสำคัญที่จะทำให้เราได้เข้าใจนักท่องเที่ยวชาวจีน และใช้ข้อมูลต่าง ๆ ด้านบนนี้ให้เกิดประโยชน์ได้ต่อธุรกิจ รวมถึงสามารถเข้าหาเขาได้ผ่านทางช่องทางต่าง ๆ นั่นเอง

ที่มา: Tencent Thailand