Site icon Thumbsup

สรุปสั้น 5 ข้อ Tencent บุกไทยจับมือ Ookbee แปลว่าอะไรได้บ้าง?

unnamed-5

ไม่ต้องน้ำเอาแต่เนื้อ ต่อไปนี้คือ 5 ข้อที่เป็นผลจากความร่วมมือระหว่างบริษัทจีนอย่าง Tencent Holdings และ Ookbee บนมูลค่าการลงทุนมากกว่า 19 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 681 ล้านบาท

1. การร่วมทุนครั้งนี้คือครั้งล่าสุดที่ Tencent ปูทางบุกตลาดเอเชียแปซิฟิก

ที่ผ่านมา Tencent Holdings พยายามพา WeChat เข้าสู่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับความพยายามครั้งใหม่ Tencent จะจับมือ Ookbee ให้บริการชื่อ Ookbee U ในประเทศไทยช่วงปีนี้

2. Ookbee U จะหลากหลายครอบคลุมกว่า

ต่างจากธุรกิจปัจจุบันของ Ookbee ซึ่งเป็นบริการดาวน์โหลด digital magazine และหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก แต่ Ookbee U จะเปิดให้ผู้ใช้หรือบุคคลทั่วไปได้มาร่วมสร้างวิดีโอ เพลง หรือการ์ตูน รวมถึงสื่ออื่นได้อย่างหลากหลายและเสรียิ่งขึ้น

3. ยังไม่หวังทำเงินเร็วนัก

CEO แห่ง Ookbee อย่างณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ให้สัมภาษณ์กับ TechCrunch ว่าแม้บริการใหม่จะเปิดให้ผู้สร้าง content สามารถขายผลงานของตัวเองได้เต็มที่ แต่ทั้ง Ookbee และ Tencent มองเห็นสัญญาณที่ทำให้ทั้งคู่ไม่ได้คาดหวังว่าจะทำเงินจาก Ookbee U ได้เร็วนัก เบ็ดเสร็จแล้ว Tencent วางแผนลงทุนไม่ต่ำกว่า 19 ล้านเหรียญสหรัฐใน Ookbee U (ตามข้อมูลจาก TechCrunch)

4. Tencent มองเห็นโอกาสใหญ่ โดยเฉพาะในตลาดโฆษณา

เพื่อหาทางออกกรณีตลาดจีนเริ่มเติบโตช้า Tencent จึงวางตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในตำแหน่งตัวแทน เบื้องต้นมีการประเมินว่าตลาดนี้มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 223.4 ล้านคนในปีนี้ เท่ากับประชากรกว่า 1 ใน 3 จะออนไลน์ใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างน้อย 1 ครั้งต่อเดือน

เมื่อธันวาคมที่ผ่านมา Tencent ผ่าไปซื้อหุ้นบริษัทสนุกออนไลน์ (Sanook Online) ก่อนจะรีแบรนด์เป็น Tencent (Thailand) ดีลนี้ทำให้ Tencent ได้สิทธิ์คุมเว็บพอร์ทัลยอดนิยมอย่าง Sanook.com รวมถึงบริการเพลงออนไลน์แถวหน้าของเมืองไทยอย่าง JOOX

ประเด็นนี้ กฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้สัมภาษณ์ว่ารายได้หลักของบริษัทมาจากธุรกิจโฆษณาดิจิทัล รวมถึง branded content หรือโฆษณาแฝงใน content หลากสไตล์ โดยขณะนี้ ตัวเลขล่าสุดของส่วนแบ่ง Tencent ในตลาดโฆษณาออนไลน์จีนคือ 12.4% (สถิติปีนี้) เป็นรองเจ้าพ่ออย่าง Alibaba และ Baidu

5. ไปทั่วฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์

ไม่เพียงไทย ทั้ง 4 ตลาดนี้คือตลาดที่ Ookbee สามารถสร้างฐานลูกค้า digital content ได้ในระดับหนึ่งแล้ว ดังนั้นการร่วมทุนของ Tencent จึงทำให้บริษัทสามารถเข้าถึง 5 ตลาดหลักของอาเซียนได้ครบ ทั้งที่บริการหลักของ Tencent อย่าง WeChat กลับเจาะตลาดไม่เข้าเท่าที่ควรเพราะมีบริการอย่าง Line ขวางทางอยู่

อีกข้อสรุปที่เราจะได้จากดีลนี้ คือเงินทุนจากจีนจะไม่หยุดอยู่แค่ Ookbee แต่บริษัทจีนจะมีการประกาศซื้อ “local firm” หรือบริษัทอื่นในอาเซียนหลายรายยิ่งขึ้นในปีนี้ ทั้ง Alibaba รวมถึง Tencent ที่คาดหวังว่าจะนำโมเดลความสำเร็จในบ้านตัวเอง ออกมาปัดฝุ่นและประยุกต์ใช้ให้สำเร็จอีกครั้ง

Ma “Pony” Huateng ผู้นั่งเก้าอี้ CEO ใหญ่ Tencent

ที่มา: emarketer