การอยู่ในยุคของ Data ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกอุตสาหกรรมย่อมเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงไม่มากก็น้อย ซึ่งหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เข้ามาพัวพันกับ Data ในวันนี้คือ “สถาบันการเงิน” เหตุที่ Data เข้ามาพัวพันกับสถาบันการเงินมาจากปัจจัยหลายประการ หนึ่งในนั้นคือเรื่องของโมเดลธุรกิจ
โดยโมเดลธุรกิจเดิมของธนาคารคือการปล่อยกู้จากทรัพย์สินที่นำมาค้ำประกัน แต่ปัจจุบัน เมื่อมีข้อมูลต่าง ๆ มากขึ้น ธนาคารจึงพบว่าคนที่ควรจะปล่อยกู้ให้มากที่สุดคือ “คนนิสัยดี” หรือก็คือคนที่มีความต้องการที่จะชำระหนี้คืน
ปัญหาคือ การดำเนินธุรกิจของธนาคารเดิมไม่มีความสามารถที่จะแยกได้ว่า ลูกค้าคนใดนิสัยดี – นิสัยไม่ดี จึงไม่แปลกที่สถาบันการเงิน ช่วงหนึ่งจะแสดงอาการตื่นกลัวกับการถูก Disruption
แต่วันนี้ บนเวทีของ Thailand Zocial Awards 2018 กับคอนเซ็ปต์ “18+ Data is Sexy” ธนา เธียรอัจฉริยะ Chief Marketing Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ออกมาเผยว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลหลาย ๆ ส่วน ทั้งจากข้อมูลของธนาคารเอง ข้อมูลจากระบบโทรคมนาคม แพลตฟอร์ม Social Media การใช้ QR Code ฯลฯ ก็มาถึงวันที่ธนาคารสามารถบอกได้ว่า พร้อมจะรับมือกับ Digital Disruption ได้แล้ว
“New Banking” กับเข็มทิศใหม่ที่ชื่อ “Data”
ในจุดนี้ ไทยพาณิชย์จึงเริ่มต้นกับ Data ด้วยการใช้ดาต้านำพาทีมงานเข้าไปให้ถึงในจุดที่ต้องการ เช่น อาจใช้ดาต้าพาเข้าไปพบลูกค้าในธุรกิจต่าง ๆ หรือตลาดใหม่ ๆ จากนั้น เป็นทีมงานของไทยพาณิชย์เองที่ต้องเป็นผู้ลงไปเจาะลึกเพื่อให้ได้อินไซต์จากจุดนั้น ๆ ซึ่งคุณธนามองการผสมผสานนี้จะทำให้เกิดโมเดลการตลาดที่มีชีวิต เข้าถึงคนได้ และใช้งานได้จริง
ผลงานล่าสุดอย่าง “แม่มณี” ก็เกิดจากการลงไปเจาะอินไซต์ของแม่ค้าในตลาดว่าทำไมผลตอบรับจาก QR Code มาตรฐานจึงเบาบาง ซึ่งไทยพาณิชย์พบว่า แม่ค้าเลือกที่จะไม่ใช้ QR Code มาตรฐานเวลาขายจริง เนื่องจากเกะกะ ทีมการตลาดจึงนำกลับมาคิดและพลิกกลับเป็นคาแรคเตอร์ “แม่มณี” ที่ทำให้แม่ค้าตามแผงต่าง ๆ ไม่สามารถมองข้ามได้อีกต่อไป
แม่มณีเกิดแล้วก็จริง แต่ฝากนิดเดียวว่าตลาดแถวบ้านผู้เขียน ตอนนี้วางแม่มณีไว้บนหิ้งพระด้านบนเหนือแผงผักเลยค่ะ 🙂