Site icon Thumbsup

เคล็ดลับการใช้ภาษากายที่นักพูดทุกคนควรรู้เวลานำเสนองานหรือพูดต่อหน้าผู้คน

header-body-language-tips

เชื่อว่าทุกคนน่าจะได้มีโอกาสพูดต่อหน้าผู้คนเยอะๆ เพื่อการนำเสนองาน สำหรับน้องๆ ก็อาจจะเป็นการนำเสนอโปรเจคจบหรืองานสัมมนากันมาบ้างแล้ว การพูดนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญครับ เพราะทุกอย่างที่พูดนั้นจะเป็นสิ่งที่พูดฟังจะให้ความสำคัญ นอกเหนือจากนั้น การออกท่าทางระหว่างการพูดก็มีส่วนช่วยให้เราน่าสนใจและเนื้อหาที่พูดมีความน่าสนใจเพิ่มขึ้นด้วย

บทความนี้ถูกแปลมาจาก Infographic ของ SOAP Presentation ที่นำเสนอเคล็ดลับในการใช้ท่าทางระหว่างการพูดว่าเราควรทำอย่างไรเพื่อเสริมให้การนำเสนองานของเราดูดีและน่าสนใจเพิ่มมากขึ้น ลองมาดูจากการสรุปกันครับ

  1. ยืดอกและทำให้หลังตรง – ท่านี้จะทำให้ผู้พูดหายใจได้สะดวกขึ้นและช่วยให้ผ่อนคลายมากขึ้น ช่วยเพิ่มความมั่นใจในระหว่างการนำเสนองาน
  2. ยิ้ม – อาวุธราคาถูกที่สุดในโลก ที่มีอยู่บนใบหน้าของเรา ทำให้ผู้ฟังผ่อนคลายขณะที่ฟัง
  3. ศีรษะ, มือและแขน – ออกท่าทางด้วยการใช้การเคลื่อนไหวของศีรษะ, แขนและมือในแบบธรรมชาติ และใช้ Eye Contact ไปยังผู้ฟังระหว่างที่พูดอยู่ตลอดเวลาที่พูด
  4. ออกท่าทาง – การออกท่าทางที่ไม่ต้องเยอะแต่ดูหนักแน่นทุกครั้งที่ทำ จะทำให้ผู้ฟังเชื่อคุณและมองคุณว่าเป็นคนที่มีความมั่นใจ
  5. เดินบ้าง – ลองนึกถึงเวลานักร้องร้องเพลงในคอนเสิร์ต เวลาจะกระตุ้นให้คนสนใจทั่วห้อง เราก็จะเห็นการเดินพล่านทั่วเวทีเพื่อให้อารมณ์ ความรู้สึกส่งถึงคนดูทั่วฮอลล์ แต่สำหรับการพูดอาจไม่ต้องเดินขนาดนั้น แต่ใช้การเดินนั้นเป็นการช่วยให้การอธิบายมีภาพที่ชัดเจนและรู้สึกได้มากกว่าเดิม เช่น เราอธิบายอดีต ปัจจุบัน อนาคต เราอาจจะใช้การก้าวเป็น 3 จุด เพื่ออธิบายไปทีละจุด ซึ่งทำให้ดูไม่น่าเบื่อได้ด้วย
  6. ชี้ให้เห็นเน้นให้ชัด – การกดสไลด์ผ่านๆ ไปเรื่อยๆ อาจจะทำให้รู้สึกน่าเบื่อได้ การชี้จุดที่น่าสนใจบนสไลด์หน้านั้นๆ จะทำให้ดึงความสนใจของผู้ฟังได้ ในกรณีนี้ถ้าเราสามารถที่จะชี้ได้บนหน้าฉากที่ฉายสไลด์ผ่านโปรเจคเตอร์หรือบนหน้าจอโทรทัศน์ จะเพิ่มความดึงดูดกว่าการจิ้มลงในจอครับ อีกอย่างที่จะได้ก็คือการเกิดการเคลื่อนไหวบนเวที ซึ่งก็เท่ากับการดึงความสนใจได้มากขึ้นด้วยครับ
  7. สร้างปฏิสัมพันธ์ในทางบวกกับผู้ฟัง – เราไม่ได้พูดคนเดียว แต่เรามีผู้ฟังด้วย ดังนั้นแล้ว การทำให้เป็นการสื่อสารแบบไปกลับ (2-way communication) จึงเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นการเปิดรับคำถามที่จะถูกถามขึ้นมาในกรณีที่มีช่วง Q&A ผู้ที่รับคำถามหรือผู้พูดควรจะต้องมีปฏิกิริยาโต้ตอบในทางที่ดีด้วย เช่น การตั้งใจรับฟัง, การพยักหน้า, การตอบคำถามด้วยความเต็มใจ, การยิ้ม ย่อมทำให้บรรยากาศดีขึ้นและช่องว่างระหว่างผู้ฟังและผู้พูดลดลง

ลองดูรายละเอียดทั้งหมดจาก infographic ด้านล่าง แล้วเอาไปปรับกับการพูดกันดูนะครับ

ที่มา: Soap Presentations