Site icon Thumbsup

3 เหตุผลที่ควรเลือกแคนดิเดทจาก “ทัศนคติ” ไม่ใช่ “ทักษะ” เพียงอย่างเดียว

บริษัทบางแห่งมักจะยึดเอาคำอธิบายลักษณะงาน หรือ Job Description มาเป็นหลักในการพิจารณารับแคนดิเดทสักคนเข้ามาร่วมงานด้วย ซึ่งมันอาจจะไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง เพราะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น เราต้องการอะไรที่มากกว่าทักษะในการทำงาน 

Donna Wells ซีอีโอ Mindflash แพลทฟอร์มสำหรับออนไลน์เทรนนิ่ง ระบุว่า ทักษะคือเรื่องที่ฝึกกันได้ แต่สิ่งสำคัญอย่างนิสัยหรือทัศนคติ ที่มีผลต่อการทำงานเป็นทีม คือสิ่งที่สอนกันได้ยากกว่านั้น

นี่คือเหตุผลว่าทำไมคุณจึงควรจะพิจารณาเลือกแคนดิเดทด้วยการประเมินทัศนคติ มากกว่าทักษะที่เขามีติดตัวมา

1. คนส่วนมากไม่ได้มีทักษะครบทุกด้านตามคำอธิบายลักษณะงาน

Wells กล่าวว่ามีผู้สมัครในจำนวนน้อยมากๆ ที่จะมีความสามารถตรงตามคำอธิบายลักษณะงานแบบ 100% อย่างไรก็ตาม ควรจะเขียน Job description โดยดูจากลักษณะงานและสถานะของตลาดแรงงานในปัจจุบันเป็นหลัก

2. การคัดคนจากทัศนคติเป็นหลัก จะทำให้คุณมีตัวเลือกมากกว่า

อาจจะมีบางคนที่ไม่เคยใช้ซอฟท์แวร์ด้านการบริการลูกค้า แต่มีประสบการณ์จัดการร้านอาหาร มีทัศนคติในการให้บริการที่เป็นเลิศ มีจริยธรรมและ service mind คนแบบนี้ควรจะได้รับการคัดเลือก เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่ฝึกกันได้ง่ายๆ และใช่ว่าคนทุกคนจะมีคุณสมบัติแบบนี้ ส่วนเรื่องเครื่องมือหรือความรู้ทางด้านซอฟท์แวร์ เราสามารถสอนกันได้

3. Job description คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

นั่นเป็นเพราะว่าความต้องการด้านเทคนิคสำหรับธุรกิจจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ลองคิดดูว่าเครื่องไม้เครื่องมือและกระบวนการต่างๆ ในสมัยนี้ต่างไปจากเมื่อ 5 ปีที่แล้วอย่างไรบ้าง ตัวอย่างที่ง่ายที่สุดคือ “อีเมล” สมัยก่อนอาจจะเป็นทักษะที่สำคัญมากๆ และไม่ใช่ทุกๆ คนจะรู้จักมัน แต่เมื่อมาถึงสมัยนี้ แทบจะไม่ต้องถามกันแล้วว่าส่งอีเมลเป็นหรือไม่ ดังนั้น สิ่งที่เขียนลงไปในคำอธิบายลักษณะงาน จึงเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา และมันอาจจะล้าสมัยเกินกว่าที่จะเอามายึดเป็นคัมภีร์เพื่อพิจารณารับคนเข้ามาร่วมงานด้วย

ที่มา : Inc