Site icon Thumbsup

เรื่องฮิตที่คนบนโลกโซเชียลสนใจ เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19

แม้จะมีการประกาศให้ประชาชนเริ่มลงทะเบียนและนัดวัน-เวลา การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา แต่ยังคงมีข้อสงสัย และคำถามต่าง ๆ มากมายจากคนบนโลกโซเชียล ทั้งประเด็นเกี่ยวกับผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน ประสิทธิภาพของวัคซีนในแต่ละแบรนด์ รวมทั้ง วัคซีนที่มีสามารถป้องกันโควิดแต่ละสายพันธุ์ได้หรือไม่

บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงได้รวบรวมข้อสงสัย และความกังวลใจของคนบนโลกโซเชียลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 มาให้ทุกคนได้ทราบกัน โดยทำการเก็บข้อมูลผ่านเครื่องมือ ZOCIAL EYE ในช่วงวันที่ 1- 31 พฤษภาคม 2564 พบว่า เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการให้ความสนใจเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตลอดช่วงระยะเวลาการเก็บข้อมูล มีจำนวน Engagement สูงกว่า 53,000,000 Engagement คิดเป็นค่าเฉลี่ยต่อวันถึง 1,600,000 Engagement โดยถูกพูดถึงผ่านช่องทางหลัก คือ Facebook และ Twitter 

เรื่องหลัก ๆ ที่ชาวโซเชียลให้ความสนใจ

ชาวโซเชียลยังคงตั้งคำถามเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีนที่ทำให้เกิดอาการชาหรืออ่อนแรง ซึ่งเกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนกันเป็นประเด็นหลักๆ รวมถึง เรื่องวัคซีนต่างแบรนด์ จะมีผลข้างเคียงต่างกันไหม? 

การลงทะเบียนรับสิทธิ์ผ่านทางเว็บไซต์ หรือแอปฯ อาจเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับหลายคน รวมถึงการเปิดให้ลงทะเบียนรับวัคซีนผ่านหลากหลายช่องทางจนทำให้เกิดข้อสงสัย เช่น ขั้นตอนการลงทะเบียนในช่องทางต่างๆ ทำอย่างไร? หลังลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ต้องทำอย่างไรบ้าง และจะได้ฉีดวัคซีนเมื่อไร? และสามารถเลือกแบรนด์ได้หรือไม่? 

อีกหนึ่งเรื่องที่คนให้ความสนใจกันในอันดับต้นๆ คือ เรื่องประสิทธิภาพของวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นคำถามที่ว่าวัคซีนแต่ละแบรนด์มีประสิทธิภาพต่างกันอย่างไร? วัคซีนที่มีให้ฉีดในตอนนี้สามารถป้องกันเชื้อโควิดได้มากน้อยเพียงใด และป้องกันสายพันธุ์ไหนได้บ้าง? รวมถึงเชื้อโควิดบางสายพันธุ์จะทำให้ประสิทธิภาพลดลงหรือไม่?

ภูมิคุ้มกันที่ได้หลังฉัดวัคซีนเป็นอีกเรื่องที่หลายคนต้องการทราบ เกิดคำถามตามมาว่าวัคซีนแต่ละแบรนด์สร้างภูมิคุ้มกันได้มากน้อยเพียงใด? ภูมิคุ้มกันจะอยู่ในร่างกายได้นานเพียงใด? และคนไทยจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้เมื่อไรและอย่างไร? และหลังการฉีดวัคซีน ยังมีโอกาสติดโควิดหรือไม่?

ข่าวความสำเร็จของวัคซีนทำให้หลายคนตั้งคำถามว่านอกจากประชาชนที่ได้รับประโยชน์ทางตรงแล้ว ใครที่ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้บ้าง?

หากเป็นบุคคลที่อยู่ใน 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง เบาหวาน และโรคอ้วน ควรฉีดวัคซีนแบรนด์ใด และควรเตรียมตัวก่อนเข้ารับการฉีดอย่างไร? นอกจากนี้ อาการและภาวะอื่น ๆ เช่น ตั้งครรภ์หรือเป็นประจำเดือน สามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่?

หลายคนสงสัยว่าผู้สูงอายุควรฉีดวัคซีนหรือไม่ และหากฉีด วัคซีนแบรนด์ใดจะปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป?

มีคำถามถึงความคืบหน้าแผนการฉีดวัคซีนครึ่งหลังปี 2564 ในกลุ่มบุคคลทั่วไปว่าจะเริ่มฉีดได้เมื่อใด? รวมถึง แผนการนำเข้าวัคซีนแบรนด์อื่นว่าจะมาถึงไทยและสามารถฉีดได้เมื่อใด?   

หลายคนกังวลกรณีฉีดวัคซีนแล้ว มีวัคซีนใหม่ที่มีประสิทธิภาพดีกว่าออกมา สามารถฉีดซ้ำได้หรือไม่? หรือหากเคยติดเชื้อโควิด-19 แล้ว จำเป็นต้องฉีดวัคซีนอีกหรือไม่? รวมถึงการรับวัคซีนเข็มที่ 2 สามารถเปลี่ยนแบรนด์ได้หรือไม่ หรือมีความจำเป็นต้องรับวัคซีนเข็มที่ 2 จากแบรนด์เดิมเท่านั้น

ประชาชนมีความต้องการวัคซีนทางเลือกค่อนข้างสูง อาทิ โมเดอร์นา ทำให้เกิดความสงสัยเกี่ยวกับราคาตามมา ว่าราคาต่อโดสอยู่ที่เท่าไร?

 

ข้อสงสัยเหล่านี้ คงต้องรอให้หน่วยงานภาครัฐหรือผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยให้คำตอบ เพราะเป็นคำถามที่มีประโยชน์แก่ประชาชนที่อยากรู้ รวมทั้งช่วยไขข้อข้องใจเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างชัดเจนขึ้น และสร้างความมั่นใจต่อประชาชนในแง่มุมที่ดีขึ้น