Site icon Thumbsup

รับมืออย่างไรเมื่อต้องเจอกับ ‘การเมืองในที่ทำงาน’ อันโหดร้าย

“การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน แต่การเมืองในที่ทำงานเป็นเรื่องปวดหัว” เราได้คุยกับ ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ ในมุมของพนักงานออฟฟิศเจ้าของคอลัมน์ตอบปัญหาดราม่าในที่ทำงานอย่าง i hate my job

และฝ่ายบุคคลที่ต้องทำหน้าที่จัดการปัญหา รวมไปถึงเจ้าของกิจการอย่าง Food Passion ที่มีพนักงานในองค์กรจำนวนมาก  ว่าพวกเขาจะมีวิธีจัดการกับเรื่องการเมืองที่ต้องพบเจอในองค์กรแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างไร

โดยทาง thumbsup ได้ถามพวกเขาถึงปัญหาการเมืองที่มักพบเจอกันนั่นคือการแบ่งพรรคแบ่งพวกที่นำไปสู่ความขัดแย้ง  จนนำไปสู่การลาออกของคนทำงาน  ลองมาดูกันว่าเราจะได้แนวทางให้สามารถอยู่รอดอย่างไรในชีวิตการทำงานบ้าง

มุมมองของ ‘พนักงานออฟฟิศ’

ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ (นักจัดรายการพอดแคสต์ I hate my job)

ท้อฟฟี่ : หากเข้าไปทำงานแล้วเจอการแบ่งพวกแล้วเราต้องยืนอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง  ก็ขอให้เลือกยืนในข้างของ ‘ความถูกต้อง’  โดยข้างที่ถูกต้องของเราคือข้างที่คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดขององค์กร  สิ่งนี้จะตอบได้ด้วยว่าองค์กรที่เราอยู่นั้นให้คุณค่ากับอะไร

เช่น องค์กรนี้ระดับบริหารดันให้คุณค่าไปกับการทุจริต  เพราะเขาเติบโตในหน้าที่การงานมาด้วยการโกง  จนทำให้เกิดการเล่นพรรคเล่นพวกทำวิธีไหนก็ได้ให้ได้มา  นั่นเป็นการบอกว่าองค์กรนี้ให้คุณค่ากับ ‘ความโกง’ ก็ต้องมาลองดูว่า ‘มันใช่ทางของเราหรือเปล่า’

เรามีกฎอย่างหนึ่งคือเชื่อว่า ‘งานทุกงานพาเราไปจุดหนึ่งเสมอ’  หากอยู่ในองค์กรแล้วเจอปัญหาการเมืองก็ให้มองว่าปัญหานั้นจะนำพาเราไปที่ไหน  ถ้ามันพาเราไปเป็นคนเล่นพรรคเล่นพวก คนทุจริต  แล้วเราจะอยากเป็นไหม? โดยย้อนกลับไปดูได้ว่าองค์กรจะพาเราไปแบบไหนจากคนในองค์กรนั่นเอง

ถ้าชอบเนื้องานมากๆ แต่ไม่สบายใจกับการเมือง?

ท้อฟฟี่ : เราจะดูความรับผิดชอบของตัวเองก่อน หน้าที่ของเราคืออะไร  มีขอบเขตไหนที่เราจะสามารถทำให้ดีที่สุดได้บ้าง  ถ้างานนี้จำเป็นต้องพึ่งพามนุษย์คนอื่นมากจริงๆ  แต่ดูพบว่าน่าจะไม่ใช่มนุษย์ที่ทำให้งานเราออกมาดีแน่นอน  ก็จะยึดก่อนเลยว่า เรารักงานนี้ไหม’ และ ‘งานนี้มันดีจริงจนเราจะต้องแลกกับการที่ต้องไปทำงานกับคนไม่ดีหรือเปล่า’  ซึ่งต้องนำมาชั่งน้ำหนักกัน

และให้มองหาว่าเนื้องานแบบนี้มันไปทำที่อื่นอีกได้ไหมนะ  แต่ต้องพึงสังวรณ์ไว้ว่าทุกที่มีปัญหา ไม่มีที่ไหนเพอร์เฟ็กต์ดีไปทุกอย่าง  แล้วต้องดูว่าเขาแก้มันได้อย่างไร  แล้วถ้าเป็นเราเองจะใช้ทางนั้นไหม

เพราะการเมืองจริงๆ แล้วคือ ‘ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ’ ที่เราไม่สามารถหนีมันได้  โดยทุกคนมีอำนาจที่ติดตัวมาเป็นต้นทุนไม่ว่าจะมากหรือจะน้อย  มีการใช้อำนาจเพื่อทำให้งานบรรลุผลกหรือทำให้คนในองค์กรอยู่ร่วมกันได้หรือเปล่า

ทำให้ไม่อยากให้มองการเมืองเป็นเรื่องลบไปตลอด  เพราะการเมืองเป็นวิธีการบริหารจัดการเชิงอำนาจที่เรามีกันอยู่ทุกคน ซึ่งก็ไม่สามารถทำให้องค์กรเห็นด้วยกับเราทั้งหมด  แต่สิ่งที่เราต้องคิดคือ ‘สิ่งที่เขาไม่เห็นด้วยนั้นมันช่วยให้งานเราดีได้อย่างไร’

ถ้ามันมีคนขัดแข้งขัดขาเราแล้วมันจะเป็นการตรวจสอบงานเราหรือเปล่า  มันคือการทำให้เราเก่งขึ้นไหม หรือช่วยกันคิดงานไหม  เพราะบางที่ปลายทางที่ตีกันอยู่ทุกวันนั้นคือเรื่องงาน

แต่เราจะใช้อำนาจต่อกันแบบไหน  เพราะคนเรามีทั้ง ‘ดอกไม้’ และ ‘ก้อนหิน’ ในมือ  บางคนอาจใช้อำนาจด้วยการเอาหินปาหัวคนอื่นม  หรือบางคนอาจเลือกเอา ‘ดอกไม้’ ไปให้คนอื่น  และโน้มน้าวให้เขาอยากทำงานร่วมด้วยก็ได้

มุมมองของ ‘HR’

ณัชภักศรณ์ นิโรจน์นันทิศ (Recruitment Manager ที่อยู่ในวงการ HR กว่า 12 ปี)

ณัชภักศรณ์ : หากมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายนั้นอย่างแรกต้องเรียกพนักงานคุย  โดยต้องคุยทั้ง 2 ฝ่าย  แล้วหาให้ได้ว่าการแบ่งพรรคแบ่งฝ่ายนั้นเกิดจากตัวลูกน้องหรือตัวหัวหน้ากันแน่  จากนั้นจึงเรียกระดับสูงขึ้นมาคุยว่าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นในองค์กร

แล้วแก้ปัญหาด้วยการจัด ‘กิจกรรม’ ขึ้นมา เช่น Workshop หรือไป Outing เพื่อละลายพฤติกรรม  ผ่านการจัดให้คนที่ทะเลาะกันมาอยู่ด้วยกัน  โดยจัดเป็นกิจกรรมสำหรับทั้งบริษัท เช่น งานกีฬา  ที่จับให้พวกเขามาอยู่ในสีเดียวกัน ให้มาเล่นผูกขาวิ่งเข้าเส้นชัย ชักเย่อสามัคคี ด้วยกันไปเลย  เป็นการใช้กิจกรรมที่ทำเป็นทีมมาเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์   เรียกได้ว่าทุกกิจกรรมมีเบื้องหลังของมัน

อย่างการไปเที่ยว Outing ของบริษัททาง HR ก็จะไม่ยอมให้คนที่รู้จักกันได้นอนห้องเดียวกัน  เพราะการไป Outing มีจุดประสงค์เพื่อที่จะไปละลายพฤติกรรม  เพื่อให้ทุกคนมี Team Work เนื่องจากคนในทีมส่วนใหญ่มากสนิทกันเป็นทุนเดิม  อาจจะไม่ต้องจัด Outing พวกเขาก็มีจัดทริปไปเที่ยวกันอยู่แล้ว  แต่ถ้าบริษัทจะต้องเสียเงินจัดกิจกรรมก็ควรจะต้องตอบโจทย์ที่ต้องการให้ได้

เช่น คนแผนก A ไม่ถูกกับคนแผนก B ก็จับคนทั้งสองแผนกนี้มานอนด้วยกันเลย 3 วัน 2 คืน  ให้พวกเขาได้มีโอกาสคุยกันมากขึ้น  จนท้ายที่สุดแล้วพนักงานอาจจะรู้สึกเองว่า “พอคุยแล้วเขาก็ไม่ได้นิสัยไม่ดีแบบที่เราคิดเลยนี่นา” 

ถ้าการเมืองในองค์กรนั้นหนักหนามากจนไม่สามารถสานสัมพันธ์ได้ ?

ณัชภักศรณ์ : ถ้าเป็นเรื่องหนักมากๆ ก็ต้องคุยและหาสาเหตุให้ได้ว่าเป็นเพราะเรื่องไหน  โดยการเมืองมักจะมี ‘หัวโจก’ ที่ป็นตัวตั้งตัวตีอยู่  ถ้าหัวโจกคนนั้นเล่นการเมืองเพียงเพราะต้องการเรียกร้องความสนใจ  ก็ต้องมาหาว่าอะไรที่จะทำให้เขาหยุด  แต่หากบางคนไม่ชอบกันเพราะแค่ ‘First impresstion’ แค่มองตาก็ไม่พอใจ  ทาง HR ก็ต้องมานั่งแก้ด้วยการหา Pain Point ของปัญหา

ซึ่ง HR ไม่ควรจะรอวันให้ปัญหาระเบิดก่อนเหมือนภูเขาไฟ  แต่ควรจะรู้สัญญาณบางอย่างที่กำลังจะเกิดขึ้นตั้งแต่เนิ่นๆถึงแม้ว่าจะไม่สามารถทำให้องค์กรไม่มีการเมืองได้เลย  แต่ต้องทำให้มีการเมืองแล้วส่งผลกระทบน้อยที่สุด

ถ้าสุดท้ายแล้วมีปัญหามากๆ ก็อาจต้องนำคนที่เป็น ‘บ่อเกิดของปัญหา’ ออกไปเพื่อรักษาองค์กร  เรียกได้ว่าหากมีการเล่นการเมืองในองค์กรนั้นย่อมมี HR คอยจับตาดูอยู่ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่งแน่ๆ

มุมมองของ ‘เจ้าของกิจการ’

ชาตยา สุพรรณพงศ์ (CEO บริษัท FOOD PASSION)

ชาตยา : เรื่องพลังงานบวกกับพลังงานลบในองค์กรนั้นมีเกิดขึ้นตลอดเวลาอยู่แล้ว  สำหรับพลังงานลบในองค์กรนั้นถ้าเราไม่ไปส่องสปอร์ตไลท์ที่ปัญหามันก็จะหายไป  เพราะฉะนั้นจะพยายามโฟกัสไปที่ ‘พลังงานบวก’ หรือคนที่ทำงานร่วมกันได้ดีมากกว่า

แต่เมื่อเกิดความขัดแย้งแล้วเราจะใช้แนวคิดที่ชื่อว่า ‘Outward Mindset’ คือหลักการที่บอกว่า ‘ให้มองคนอื่นเป็นคน’ ที่เขามีความปรารถนา มีความกังวล และมีความกลัวไม่ต่างจากเราเลย

เพราะปกติเวลาที่เรามีปัญหากันเรามักจะมอว่าสิ่งนี้เป็นอุปสรรคต่อ ชีวิต และการทำงาน ของเราไปทั้งหมด  แต่จริงๆ ถ้าเรามองเพื่อนร่วมงานเป็นคนก็จะมองเห็นไปถึงความปรารถนา  และความกลัวนั้นๆ ที่มีอยู่  รวมไปถึงอีกสิ่งหนึ่งคือต้องตระหนักถึง ‘ เป้าหมาย’ ร่วมกัน

ภาพจาก : FoodPassion

เราจะมีวิธีให้พนักงานเข้าใจคนอื่นได้อย่างไร ?

ชาตยา : เรามักให้เขาเปรียบเทียบให้เห็นว่าเหมือนเราอยู่บนเกาะๆ หนึ่ง  ซึ่งเวลาอยู่กันคนละฝั่งของเกาะก็อาจมีมุมมองที่แตกต่างกันไปอย่างสิ้นเชิง  และเกิดการกระทบกระทั่งกันว่าทำไมถึงทำแบบนี้  ทำไมถึงคิดแบบนี้ คิดแบบนี้ มีมุมมองแบบนี้

แต่ถ้าเรารู้ว่าทั้งสองคนที่อยู่คนละฝั่งของเกาะต้องการจะให้เกาะนี้อยู่รอด แข็งแกร่ง เติบโต  เราก็จะพยายามเข้าใจได้ว่าคนที่ยืนอีกฝั่งของเกาะคงเห็นภาพไม่เหมือนกัน และมีวิธีการที่แตกต่างกันไป

หรือทั่งหมดนี้คือการ ‘แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง’ เรียกว่าไม่ได้มีอะไรมากแต่อยู่ที่ Mindset เพราะเรื่องราวยังคงเหมือนเดิมทั้งหมด คนก็เป็นคนเดิม ซึ่งพอเราเปลี่ยนมุมมองโลกก็จะเปลี่ยนไป  ซึ่งเป็นแนวคิดที่เราพยายมเผยแพร่ให้กับคนในองค์กรอยู่

สุดท้ายแล้วสำหรับผู้เขียนมองว่าการเมืองเป็นเรื่องที่เราต้องพบเจอกันเป็นปกติ  วันหนึ่งเราอาจโชคดีได้ทำงานในองค์กรดีๆ เพื่อนร่วมงานน่ารัก  และแทบจะไม่มีการเมืองเลย  หรือวันไหนโชคร้ายโดนโชคชะตาเล่นตลกได้เข้าไปทำงานในองค์กรที่เล่นการเมืองกันงานอดิเรก  ก็ให้มีสติและมองโลกอย่างเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องของมนุษย์