Site icon Thumbsup

7 ข้อควรระวังสำหรับซีอีโอบนโซเชียลมีเดีย

93107648_FILE_-_This_Feb_19_2014_file_photo_shows_WhatsApp_and_Facebook_app_icons_on_a_smartphone_in-large_trans++N7kF8Fb6ID_G1m99xXXMy4dRUwEL_9L3cmMf3C6VSKU

เป็นที่ทราบกันดีว่า แพลตฟอร์ม Facebook นั้นเป็นหนึ่งในเครือข่ายที่มีความสำคัญมากในการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค เฉพาะแค่ในสหรัฐอเมริกา มีผู้ใช้งานถึง 73 เปอร์เซ็นต์ที่เล่น Facebook “ทุกวัน” โดยมีเพียง 27 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เล่น Twitter และเพียง 17 เปอร์เซ็นต์ที่เข้า LinkedIn (ข้อมูลจากบริษัทวิจัย Springboard America)

อย่างไรก็ดี ในฐานะซีอีโอ การ “เล่น” Facebook ให้เป็นอาจได้ประโยชน์หลายต่อ ทั้งในแง่การสร้างภาพลักษณ์ให้องค์กร และตัวเอง ในขณะเดียวกัน ก็อาจถูก Facebook “เล่น” กลับคืนได้เช่นกัน การใช้โซเชียลมีเดียให้เหมาะสมจึงอาจต้องพิจารณาจาก 7 ข้อดังต่อไปนี้ร่วมด้วย

1. อย่าทำทีว่าไม่สนใจ

อาจกล่าวได้ว่า ซีอีโอที่ไม่สนใจ Facebook ก็เปรียบได้กับซีอีโอที่ไม่ดูทีวี อยู่แต่ในโลกของตัวเอง ไม่สามารถเข้าถึง หรือสัมผัสได้ถึงไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคว่ากำลังสนใจอะไร ซื้ออะไร ซึ่งอาจไม่เป็นผลดีต่อธุรกิจ

2. แต่ก็อย่าหมกมุ่นมากเกินไป

การโพสต์ข้อความ หรือรูปภาพต่าง ๆ บนโซเชียลมีเดียของเหล่าซีอีโอนั้นมีความเป็นไปได้ว่า ภาพหรือข้อความเหล่านั้นจะไปปรากฏหราอยู่บนหนังสือพิมพ์ฉบับเช้าวันรุ่งขึ้นได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งหากเป็นซีอีโอของบริษัทดัง ๆ ภาพเหล่านั้นจะยิ่งถูกสื่อนำไปขุดคุ้ยหาที่มาของภาพกันอย่างกว้างขวาง ดังนั้น การหมกมุ่นอยู่กับการโพสต์ภาพรถยนต์หรูคันใหม่ หรือเรือยอร์ชลำใหม่ ก็อาจไม่ได้ช่วยส่งเสริม หรือเป็นผลดีต่อองค์กรแต่อย่างใด

3. รู้กาละเทศะในการโพสต์

การแชร์คอนเทนต์เช่น คลิปวิดีโอลูกแมววิ่งไล่จับ หรือภาพมื้ออาหารแทบทุกมื้อ ไม่ใช่วิถีของซีอีโอที่ดีในการใช้โซเชียลมีเดีย หรือจะลองดูตัวอย่างจาก Mark Zuckerberg ซีอีโอ Facebook ดูก็ได้ ปกติเขาจะโพสต์สัปดาห์ละครั้ง  แม้ว่าส่วนใหญ่ของการโพสต์จะมีเรื่องของธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ข้อดีก็คือ การเล่าเรื่องของเขาทำให้เรื่องเหล่านั้นดูเข้าใจง่าย บ้างก็มีการอิงกับไลฟ์สไตล์ของตนเองด้วย ซึ่งการบาลานซ์ระหว่างเรื่องส่วนตัวกับเรื่องงานในการโพสต์ได้ดีก็ทำให้ได้ใจแฟนคลับอยู่ไม่น้อย

4. ไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของพนักงาน

ประเด็นนี้พบได้บ่อย กับการที่ซีอีโอลงมาขอแอดพนักงาน ทำให้พนักงานเกิดความอึดอัดใจในการโพสต์ ในกรณีทางที่ดี ซีอีโอไม่ควรขอแอดเฟรนด์ไปหาพนักงาน แต่หากมีการขอแอดเฟรนด์จากพนักงานค่อยรับอย่างนั้นจะเหมาะสมกว่า

5. ควรมีทีมงานคอยช่วยจัดหาคอนเทนต์สำหรับโพสต์ในฐานะซีอีโอ

บางครั้งการโพสต์ในฐานะซีอีโอบนโซเชียลมีเดียควรมีทีมการตลาดซัพพอร์ต ไม่ควรโพสต์แต่เพียงลำพัง โดยอาจมีทีมงานหาลิงค์ หรือแทรกข้อมูลที่ต้องการ รวมถึงการเลือกข้อความที่เหมาะสมด้วย

6. หากมีโปรไฟล์หลายอันต้องระวังการแชร์ผิดอัน

ซีอีโอบางคนอาจมีโปรไฟล์บนเฟซบุ๊กหลายอัน โดยบางอันใช้ในด้านธุรกิจ อีกอันเก็บไว้เป็นเรื่องส่วนตัว แต่ในทางเทคนิคแล้ว อาจเกิดความผิดพลาดได้ในกรณีที่มีการแชร์ข้อมูลจากโปรไฟล์ผิดอัน

7. ใช้ Facebook เป็นที่รวบรวมฟีดแบ็ก

ในกรณีที่ใช้ได้อย่างเหมาะสม Facebook จะเป็นแหล่งรวบรวมฟีดแบ็กชั้นดีจากพนักงานและผู้บริโภค แต่ถ้าหากใช้ไม่เหมาะ หรือใช้ถามในสิ่งที่บริษัทไม่ได้มีแผนจะเปิดบริการในธุรกิจนั้น ๆ ก็อาจเกิดความสับสนในหมู่ผู้บริโภคได้

ที่มา WSJ