และแล้วการประมูลคลื่น 4G ทั้ง 1800 MHz และ 900 MHz ก็สิ้นสุดลง ดูเหมือนว่าการประมูลในครั้งนี้จะเกิดการพลิกโผและการเปลี่ยนแปลงที่น่าจับตาชนิดที่ว่าเกิดการ “ผลัดใบ” ในแวดวงการสื่อสารกันได้เลยทีเดียว ซึ่งก่อนที่จะเข้าเนื้อหา ผมขอออกตัวว่าบทความนี้ผมขอถือเป็นบทความ editorial คือเป็นมุมมองส่วนตัวของผู้เขียนเพียงคนเดียวเท่านั้นครับ
อดีตสู่ปัจจุบัน…
ในช่วงเวลาร่วม 20 ปีที่ผ่านมา วงการโทรคมนาคมในบ้านเราไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่าหวือหวาสักเท่าไหร่ อย่างเก่งก็มีเรื่องของการเข้ามาถือหุ้นโดยบริษัทต่างชาติ ที่ดูจะสร้างสีสันให้กับแวดวงได้ในระดับหนึ่ง รวมถึงเรื่องของการทำการตลาดที่แข่งกันโดดเด่นเป็นพักๆ แต่สุดท้ายแล้ว คนที่ได้เปรียบก็ยังคงได้เปรียบด้วยข้อจำกัดพื้นฐานต่างๆ ทำให้การแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการหลักยังคงมีโครงสร้างค่อนข้างคงที่ แม้ส่วนแบ่งในตลาดจะมีการปรับเปลี่ยนไปบ้างตามกาลเวลา แต่สงครามระหว่างผู้เล่นหลักก็ยังคงเป็น”สงครามแห่งการสื่อสาร”ตลอดมา
จนในวันที่ TrueMove เริ่มวางจุดยืนของตัวเองใหม่ด้วยการเป็นมากกว่าผู้ให้บริการโทรคมนาคม ในช่วงนั้นหากมองในแง่ของกลยุทธ์แล้ว ถือว่า TrueMove ได้ชิงกระโดดออกจากการแข่งขันที่เจาะที่การสื่อสารเพียงอย่างเดียวออกมาเป็นเจ้าแรก การผนวกบริการอื่นๆ อย่างเคเบิ้ลทีวี อินเทอร์เน็ตบ้าน ไวไฟในที่สาธารณะ ฯลฯ ทำให้จุดยืนของ TrueMove ที่พยายามบอกว่าตัวเองขายความ Convergence นั้นก็สร้างความน่าสนใจและเปลี่ยนรูปแบบของการแข่งขันไปไม่น้อย ซึ่งหากมามองเรื่องของสมรภูมิของการแข่งขันในปัจจุบัน จะเห็นว่ายักษ์ใหญ่เบอร์ 1 ตลอดกาลอย่าง AIS เองก็ได้ปรับทิศทางของตัวเองเพื่อให้หลุดออกมาจากการสื่อสารเพียงอย่างเดียวแล้วเช่นกันด้วยแนวคิด Digital Lifestyle แล้วเราก็ได้เห็นบริการใหม่ๆ ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการดูบอลผ่านมือถือ การฟังเพลงและดูหนังแบบสตรีมมิ่ง บริการทางการเงิน ฯลฯ แต่บริการเหล่านี้ของ AIS ยังอยู่ในรูปแบบของการจับมือกับพาร์ทเนอร์เสียเป็นส่วนใหญ่ มากกว่าที่จะลงมือพัฒนาบริการให้เป็นของตัวเองอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งแม้ความหลากหลายจะได้ แต่ความเป็นหนึ่งเดียวกันของบริการก็ยังถือว่าไม่สมบูรณ์ 100% เพราะ AIS ไม่ได้เป็นผู้ควบคุมทุกอย่างได้อย่างเต็มรูปแบบ
จนกระทั่งเมื่อคืนที่ผ่านมากับการจบลงของการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz เราก็ได้ผู้เล่นใหม่ในตลาดอย่างเป็นทางการ นั่นก็คือ JAS หรือ Jasmine Mobile Broadband ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่หน้าใหม่ แต่เป็นหน้าเก่าในแวดวงโทรคมนาคมมาอย่างยาวนานอีกราย ซึ่ง Jasmine เองก็มีบริษัทลูกอย่าง Mono Group ซึ่งก็มีความเพรียบพร้อมในแง่ของสินค้าและบริการที่ถือได้ว่า”หลากหลาย”พอๆ กับเครือทรูเลยเช่นกัน ดังนั้น เมื่อ AIS ยักษ์ใหญ่ที่ถือคลื่น 900 MHz มาอย่างยาวนาน และถือเป็นอาวุธไม้ตายที่ทำให้เครือข่ายของตัวเองครอบคลุมพื้นที่ได้มากกว่าคู่แข่งมาตลอดต้องเสียอาวุธสำคัญไป แถมยังตกไปอยู่ในมือของ 2 ยักษ์ที่มีบริการของตัวเองที่หลากหลายและครอบคลุมไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ เราอาจจะพูดได้อย่างเต็มปากว่า แวดวงการสื่อสารในแบบเดิมๆ ที่เรารู้จักนั้น กำลังจะถึงจุด”ผลัดใบ”แล้วก็ได้…
“Seamless Lifestyle War”
อย่างที่ทุกคนทราบดี ผู้บริโภครวมถึงตัวพวกเราเองทุกวันนี้ เราไม่ค่อยจะได้มานั่งใส่ใจตลอดเวลาหรอกว่าอะไรคือดิจิทัล อะไรไม่ดิจิทัล สิ่งสำคัญมากกว่าคือ สินค้าหรือบริการนั้นๆ มันตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์เราและช่วยให้เราใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นแค่ไหนต่างหาก การสื่อสารที่เคยถูกมองเป็นเรื่องที่แยกตัวออกจากอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างชัดเจนก็เช่นกัน ในวันนี้ การสื่อสารมันถูกผนวกกับเรื่องของคอนเทนต์ การเสพสื่อ การทำงานจนแยกไม่ออกไปเสียแล้ว ดังนั้น “Communication War” ในแบบเดิมๆ ที่เราเคยเห็นมันจึงถูกเปลี่ยนไปเป็น “Seamless Lifestyle War” หรือ”สงครามการให้บริการที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตอย่างไม่สะดุด”ไปเรียบร้อยแล้ว
Seamless Lifestyle ในความหมายของผมคือการที่ทุกบริการที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ถูกออกแบบให้เชื่อมโยงหากันแบบครบถ้วนและไม่สะดุด ทุกอย่างเป็นหนึ่งเดียวจนผู้บริโภคไม่รู้สึกว่า ตรงนั้นคือบริการที่ 1 ตรงนี้คือบริการที่ 2 ถ้าจะทำอะไรอย่างหนึ่งต้องเข้าตรงนั้น แต่ถ้าจะทำอีกอย่างต้องเข้าไปตรงนี้ เป็นต้น จากนี้ไป บริการสื่อสารจะผนวกรวมกับคอนเทนต์บันเทิง ข่าวสาร และสาธารณูปโภคพื้นฐานจนมันไม่มีทางเข้าที่ตายตัว หากคุณเป็นลูกค้าของผู้ให้บริการายใดรายหนึ่ง คุณสามารถเข้าสู่บริการใดๆ จากตรงไหนก็ได้ และได้ความครบถ้วนภายใต้ account เดียว ซึ่งนี้คือสิ่งที่ TrueMove และ JAS มีภาษีดีกว่าผู้เล่นรายอื่นๆ ในตลาดตอนนี้ แม้มันจะยังไม่ได้สมบูรณ์ 100% ก็ตาม
ลองมาดูกันครับ… ผู้บริโภคอย่างเราๆ ทุกวันนี้ เราเสพสื่อผ่านโทรศัพท์มือถือกันเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ยังคงดูโทรทัศน์ เข้าเว็บไซต์อ่านข่าว ติดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่บ้านเพื่อดูหนังฟังเพลงออนไลน์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คงจะราบรื่นไม่ได้ถ้าไม่มีเครือข่ายโทรศัพท์ เครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง สถานีโทรทัศน์ บริการเว็บไซต์ บริการข่าว บริการหนังและเพลงออนไลน์ ฯลฯ ซึ่งบริการเหล่านี้ทั้งหมด TrueMove และ JAS มีเรียบร้อยแล้ว แต่ปัญหาที่ผ่านมาก็คือ ในส่วนของอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงนั้นยังไม่ยุ่งยากนักเพราะทั้ง 2 รายมีความคล่องตัวในการขยายเครือข่ายด้วยตัวเองตามที่เม็ดเงินจะไปถึง แต่ในฝั่งของโครงข่ายโทรศัพท์นั้น TrueMove ยังมีจุดอ่อนที่พื้นที่ครอบคลุมไม่สามารถสู้ยักษ์ใหญ่ได้ หรือ JAS เองก็สู้กับใครไม่ได้ในแง่ของโครงข่ายพื้นฐานเพราะไม่มีเครือข่ายโทรศัพท์มือถือของตัวเอง ดังนั้นผู้เล่นทั้ง 2 จึงยังไม่สามารถให้ประสบการณ์แบบ seamless ได้แม้จะมีคอนเทนต์และบริการอยู่เต็มมือก็ตาม
การมาของคลื่น 900 MHz จะช่วย TrueMove อย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะการเข้าถึงผู้บริโภคในพื้นที่ต่างจังหวัดที่สัญญาณ 1800 MHz เดิมไปไม่ถึง ซึ่งแม้จะยังต้องอาศัยเงินลงทุนในการพัฒนาสถานีฐาน (เสาสัญญาณ) อีกไม่น้อย แต่ก็ถือว่าคุ้มเพราะ”การเข้าถึง”คือหัวใจของการสร้าง seamless experience และในส่วนของ JAS เอง การมีเครือข่ายโทรศัพท์ของตัวเองผสมกับการเช่าพันธมิตรเพิ่มเติมก็จะช่วยปลดล็อคให้ JAS (และ Mono Group) สามารถแนะนำบริการใหม่ๆ ได้อย่างสมบูรณ์กว่าเดิม
อย่างไรก็ดี ในส่วนของ AIS เองก็จะไม่ยอมหยุดการพัฒนาบริการใหม่ๆ เพื่อให้คุ้มกับการได้คลื่น 1800 MHz มาแน่นอน ซึ่งแม้ยักษ์ใหญ่รายนี้จะเสียจุดแข็งในพื้นที่ต่างจังหวัดไปพอสมควร แต่การรักษาฐานผู้ใช้ที่ใหญ่ที่สุดไว้เป็นหน้าที่ที่ AIS พร้อมจะทุ่มงบและทรัพยากรทุกอย่างเพื่อดูแลไม่ให้ใครมาเอาไปง่ายๆ แน่ๆ อย่างไรก็ดี การสร้าง seamless experience ของ AIS ดูจะเป็นเรื่องที่ท้าทายอยู่เช่นกันเพราะ AIS เองไม่ได้เน้นการเป็นเจ้าของเองทั้งหมดมาตั้งแต่แรก แต่ในวันนี้ เมื่อ AIS ไม่ได้เสียเงินก้อนใหญ่ไปกับการประมูล ยักษ์ใหญ่รายนี้น่าจะใช้โอกาสนี้มาพัฒนาและสร้างบริการต่างๆ ที่ใช้ต่อกรกับ TrueMove และ JAS อย่างเต็มที่แน่นอน
ผมไม่ได้ลืม DTAC
กระแสออกมาเยอะมากตั้งแต่การประมูล 1800 MHz จบลงว่า DTAC น่าจะลำบากที่สุด แต่บริษัทก็สู้ไม่ถอยด้วยการโหมโปรโมท 4G บนคลื่น 1800 MHz ว่าแรงและมีแบนด์วิธกว้างที่สุด ซึ่งในความเป็นจริงก็ใช่อย่างที่เขาโปรโมทจริงๆ ผลการทดสอบทั้งจากบริษัทและจากผู้ใช้เองก็ชี้ให้เห็นว่าด้วยแบนด์วิธที่กว้างที่สุดที่ DTAC มีผนวกกับคลื่นที่เช่าต่อจาก CAT ทำให้ DTAC มี 4G ที่ไม่เป็นรองใคร… ในตอนนี้
แต่จากมุมมองของผม อย่างที่พูดมาทั้งหมด วันนี้การแข่งขันมันขยับจาก Communication War ไปสู่ Seamless Lifestyle War แล้ว DTAC เองน่าจะเป็นรายที่มีความหลากหลายของบริการในมือน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับเจ้าอื่นๆ ดังนั้นหัวใจของการต่อสู้ในวันที่อาวุธในมือมีจำกัดคือ การสร้างอาวุธที่มีให้คมกริบกว่าเดิม และการสร้างอาวุธใหม่ๆ ให้เร็วที่สุด ซึ่งนับว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายแต่ DTAC มีศักยภาพที่จะทำได้ เพราะบริษัทไม่ได้เสียเงินไปกับค่าสัมปทานนับหมื่นๆ ล้านบาท ถ้า DTAC เจียดเงินก้อนใหญ่ในส่วนนี้มาทุ่มกับการสร้าง experience ที่ครอบคลุมผู้ใช้อย่างครบถ้วน ไม่ใช่เน้นแค่ Internet for All (ซึ่งก็ยังผูกมัดตัวเองอยู่กับการสื่อสาร) DTAC ก็ยังคงมีทางให้ไปต่อได้อีกพอสมควร แต่สิ่งสำคัญก็คือ DTAC ต้องขยับให้เร็วกว่าเดิมแบบ 10x เพราะวันนี้ เสืออย่าง TrueMove ได้ติดปีกไปแล้ว และภารกิจล้ม DTAC ของ TrueMove เขาไม่ได้มาเล่นๆ แม้ราชสีห์อย่าง AIS จะสะดุดไปเล็กน้อย แต่นั่นก็ยังไม่ใช่โอกาาสของ DTAC อยู่ดี เพราะไฮยีน่าอย่าง JAS ที่ซุ่มมานานก็พร้อมจะเข้าชนเต็มพิกัดแล้ว ดังนั้นถ้าถามว่าวันนี้ DTAC จะหายไปหรือเปล่า ผมก็ตอบอย่างมั่นใจว่า”ไม่” ถ้า… DTAC รีบขยับตัวให้เร็วที่สุดเหมือนที่เคยทำได้ในยุคของคุณซิกเว่กับคุณวิชัยเป็นหัวเรือใหญ่ ซึ่งในวันนั้น DTAC เต็มไปด้วยพลัง ความเร็ว และความรักจากผู้บริโภค
ยังไงก็แล้วแต่ ผมว่าศึกนี้จะยังไม่มีใครตายจากไปง่ายๆ ทุกคนจะสู้กันหนักกว่าเดิม แต่ผมมั่นใจอยู่ 2 อย่างนั่นก็คือ หนึ่ง… ผู้บริโภคจะมีทางเลือกดีๆ เพิ่มขึ้น และ สอง… ลำดับความเป็นผู้นำน่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงภายใน 3-5 ปีต่อจากนี้… จับตาดูกันอย่างใกล้ชิดนะครับ