ส่งผลกระทบไปทั่วโลกจริงๆ สำหรับการประกาศภาษีใหม่ของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐที่ส่งผลต่อความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าแบบเดิมมาเป็นเพิ่มการจ้างงานภายในประเทศใหม่ ซึ่งมีทั้งประเทศที่ได้รับการเจรจาแล้ว และได้รับกรอบกำแพงภาษีที่รับได้ กับประเทศที่ยังคลำทางไปไม่ถูกอย่างไทย ในงานเสวนา “Trump’s Global Quake: Thailand Survival Strategy” ที่จัดขึ้นโดยกรุงเทพธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจและโพสต์ทูเดย์ ได้สรุปสถานการณ์เกี่ยวกับความกังวลของนักวิเคราะห์มือฉมังของไทยได้อย่างน่าสนใจสุดๆ และต้องเตรียมพร้อมในสถานการณ์ที่ปั่นป่วนนี้
แนวคิดด้านภาษีของ ทรัมป์ ในมุมของนักวิชาการ
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุน หรือ FETCO ชี้ว่านโยบายภาษี Reciprocal Tariffs ของทรัมป์มุ่งสร้าง New Global Trading System โดยต้องการให้สหรัฐฯ กลับมาเป็นที่หนึ่งของโลกอีกครั้ง สหรัฐฯ ใช้ภาษีเป็นเครื่องมือ “เขย่า” โลกเพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าภายใต้ระบบการค้าเสรีแบบเดิม และทรัมป์ต้องการทำลายระบบการค้าโลกเดิม (GATT และ WTO) โดยใช้ภาษีเป็นเครื่องมือคุกคามให้ทุกประเทศเจรจากับสหรัฐฯ พร้อมกับดึงอุตสาหกรรมต่างๆ เข้ามาลงทุนในสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันมีคนตอบรับการลงทุนแล้วถึง 7 ล้านล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งจะขยายจากการค้าไปสู่สงครามเทคโนโลยีและการหาพรรคพวก “เรื่องนี้คงไม่จบอยู่ที่ภาษี 0% เพียงอย่างเดียว แต่มันจะมีอย่างอื่นด้วยที่เขาอยากจะได้” สุดท้ายเป็นการแย่งกันเป็นที่หนึ่งของโลก ทั้งยังคาดการณ์ว่าโลกจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ไม่ยอมจีน (สู้ “ยิบตา”), กลุ่มที่หมอบราบคาบ และกลุ่มที่ยอมเจรจา โดยมี 57 ประเทศที่ทรัมป์เก็บภาษีเกิน 10% ซึ่งต้องเลือกว่าจะอยู่กลุ่มไหน ซึ่งไทยควรลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ จากปัจจุบันที่ส่งออกไป 18% และเตรียมรับมือกับสินค้าจีนที่จะทะลักเข้าไทย ซึ่งจะกระทบทั้งผู้ส่งออกและผู้ประกอบการภายในประเทศ
ดร. พงศ์นคร โภชากรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปรียบทรัมป์เหมือนธานอสใน The Avengers ที่ดีดนิ้วปรับสมดุลโลก เพื่อให้การค้าของสหรัฐฯ สมดุลกับประเทศอื่นๆ แม้จะสร้างความปั่นป่วนให้กับระบบเศรษฐกิจโลกก็ตาม นับเป็นความพยายามดึงการผลิตกลับประเทศ ซึ่งขัดกับแนวคิดของดาวิด ริคาร์โด เรื่องการแบ่งงานตามความเชี่ยวชาญ เพื่อลดการขาดดุลการค้าที่เพิ่มขึ้นเป็น 3 พันล้านดอลลาร์ และแก้ปัญหาหนี้สาธารณะที่สูงถึง 36 ล้านล้านดอลลาร์ (120% ของ GDP)
ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวจาก 3.2% เหลือเพียง 2.8% ดัชนี VIX ที่แสดงความกังวลต่อเศรษฐกิจพุ่งสูงถึง 46.98 (ระดับปกติไม่เกิน 25) สูงกว่าช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน และเทียบเท่าช่วงโควิด-19 โดยไทยอาจมี GDP ติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค โดย สศค. จะแถลงตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 1/2568 ในวันที่ 28 เม.ย.นี้ ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดสำคัญของเศรษฐกิจไทยในปีนี้
อย่างไรก็ตาม การใช้กำลังการผลิตของไทยลดลงประมาณ 5% ต่อปี เมื่อภาคการผลิตได้รับผลกระทบจะลามไปสู่รายได้แรงงาน ภาคการบริโภค การจัดเก็บรายได้ของรัฐ และสุดท้ายทำให้หนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มสูงขึ้น อาจส่งผลให้สหรัฐฯ เสี่ยงเผชิญภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวแต่เงินเฟ้อพุ่ง (Stagflation) เพราะสินค้าต้องขึ้นราคาสูงกว่ากำแพงภาษี ทำให้เฟดตัดสินใจยากในการกำหนดดอกเบี้ย โดยการประชุมวันที่ 7 พ.ค. อาจมีการลดดอกเบี้ย
ยุทธศาสตร์ 5 เสาหลักในการเจรจากับสหรัฐฯ คือ
- ลดการเกินดุลการค้า โดยเพิ่มการนำเข้าจากสหรัฐฯ เช่น เครื่องจักร เครื่องบิน
- ลดภาษีนำเข้าสินค้าที่ไทยไม่ได้ใช้ประโยชน์ เช่น เนื้อสัตว์ ข้าวโพดสำหรับอาหารสัตว์ มอเตอร์ไซค์
- อำนวยความสะดวกที่ไม่ใช่ภาษี ทบทวนกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค
- ดูแลแหล่งกำเนิดสินค้า ให้ชัดเจนว่าไม่ใช่สินค้าที่มาสวมสิทธิในไทย
- สนับสนุนการลงทุนในสหรัฐฯ เช่น การสำรวจผลิตก๊าซธรรมชาติ การลงทุนฟาร์มเกษตร
สูตรลับการคำนวณภาษี: “หลักการ + หลักกู”
อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญการค้าระหว่างประเทศ เผยว่าการคำนวณภาษีของทรัมป์มีทั้ง “หลักการ” (ใช้สูตรทางเศรษฐศาสตร์) และ “หลักกู” (กำหนดตามใจชอบ) ไทยถูกเก็บภาษี 36% แต่ถ้าใช้ค่าความยืดหยุ่น 7 แทน 0.25 ภาษีจะเหลือแค่ 10-15% ทำให้การส่งออกไทยไปสหรัฐฯ และตลาดอื่นๆ จะลดลงประมาณ 7 แสนล้านถึง 1 ล้านล้านบาทในปี 2568 ทั้งจากผลกระทบทางตรงและทางอ้อมผ่านห่วงโซ่การผลิตที่เชื่อมโยงกับจีน ซึ่งไทยจะเจอสินค้าจีนทะลักเข้ามาและเสี่ยงถูกมองว่าเป็นประตูให้สินค้าจีนสวมสิทธิ์ไปสหรัฐฯ ขณะที่จีนจะเคลื่อนย้ายการลงทุนมาอาเซียนโดยไทยเป็นเป้าหมายแรก แต่ไทยมีอำนาจต่อรองกับจีนน้อยกว่ามาเลเซียและอินโดนีเซีย
แนะนำให้ไทยหลีกเลี่ยงการตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีเหมือนจีน (ที่ตอบโต้ภาษี 104% ของสหรัฐฯ) แต่ควรเน้นการเจรจาโดยตรงกับสหรัฐฯ ในเรื่องสินค้าอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนัก และยังมีสินค้ากว่า 1,000 รายการที่ไม่ถูกเก็บภาษีจากสหรัฐฯ ไทยควรพิจารณาและเร่งส่งออกสินค้าเหล่านี้ พร้อมกับพิจารณาเปิดนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เช่น วัตถุดิบ นวัตกรรม สารสกัด เป็นต้น
ปัญหาที่ทั่วโลกต้องเจอ
จีดีพีไทยปี 2568 จะโตเหลือแค่ 1.4% จากเดิมคาด 2.5%
ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์, Head of Economic Research หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด (InnovestX) คาดการณ์ว่า GDP ไทยจะลดลงจาก 2.5% เหลือ 1.4% และการส่งออกจะลดลงจาก -1% เป็น -3% นอกจากนี้ ธปท. อาจลดดอกเบี้ยถึง 3 ครั้งในปีนี้ ขณะที่ GDP สหรัฐฯ จะลดลงจาก 1.9% เหลือ 0.9% ดังนั้นเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 และ 4 ของปี 2568 จะโตเพียง 0.4% และ 0.2% ตามลำดับ การส่งออกไตรมาส 4 จะติดลบถึง -10% จากผลกระทบที่ลามจากส่งออกชะลอตัวไปสู่ปัญหาการจ้างงาน การลงทุน และการบริโภค ซึ่ง 5 อุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบหนัก ส่วนประกอบชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เครื่องจักรกล สินค้าเกษตร อัญมณี และยาง ซึ่งไทยส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ไปสหรัฐฯ กว่า 40% ของการส่งออกทั้งหมด
หากเปรียบกับวิกฤตปี 1930 ที่ทุกประเทศขึ้นภาษีตอบโต้กัน นำไปสู่เศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก (GDP สหรัฐฯ ลดลง 40% ใน 4 ปี) และสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่มองว่ามีโอกาสเกิดแค่ 10% ในปัจจุบัน แนะนำให้ไทยเร่งเปิดเสรีกับยุโรป ซึ่งมีสัญญาณดีและเป็นไปได้สูงที่จะเกิดขึ้นภายในปลายปี 2568 จะเพิ่มมูลค่าการค้าไทย-ยุโรป 15-20% ใน 3-5 ปีข้างหน้า และเพิ่มสัดส่วนการค้าจาก 7% เป็น 10-15% รวมทั้งเสนอให้รัฐบาลอัดฉีดงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 4 ล้านล้านบาท (20% ของ GDP) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตขึ้น 1-1.5% ช่วยลดทอนผลกระทบจากสงครามการค้า และเร่งพัฒนาท่าเรือฝั่งอันดามัน
นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของ “สงครามโลกครั้งที่ 3” ทางเศรษฐกิจ
ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ Head of Global Investment Strategy บมจ.หลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส มองว่าตลาดหุ้นไทยยังมี “ดาวน์ไซด์” โดยมีแนวรับทางจิตวิทยาที่ 999 จุด และยังไม่ถึงจุดต่ำสุด นักลงทุนต้อง “ตั้งรับ” ในระยะสั้น 3-6 เดือน โดยภาคการเงินอาจได้ประโยชน์จากนโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ สหรัฐฯ อาจสร้าง “Mar-a-Lago Accord” หรือระเบียบการเงินโลกใหม่ ให้ทุกประเทศมีเงินใช้จ่าย ซื้อของสหรัฐฯ หรือใช้หนี้สหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้ความสั่นคลอนในตลาดทุนเข้าสู่ระดับที่รุนแรงขึ้น
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปรียบว่า สหรัฐฯ และจีนเหมือนแฝดสยามที่ต้องผ่าตัดครั้งใหญ่เพื่อแยกกัน ทำให้โลกาภิวัตน์ถูกฉีกเป็น 2 ขั้ว โดยอาจเกิด “Globalization สำหรับทุกคนยกเว้น 2 ประเทศที่ไม่ปฏิสัมพันธ์กัน” เน้นให้แก้ปัญหา “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” (นักท่องเที่ยวจีนไม่ซื้อสินค้าไทย) และ “ลงทุนศูนย์เหรียญ” (เงินลงทุนจากจีนไม่ใช้ซัพพลายเชนไทย) รัฐบาลควรรับมือให้เกิดการกระจายตัวและเชื่อมโยงกับธุรกิจไทยมากขึ้น
ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสจาก TDRI (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย) มองว่า “ฉากทัศน์ที่ 3 คือ สงครามโลก ครั้งที่ 3 จะเป็นสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น” หากสหรัฐฯ อยากชนะต้อง “เอาจีนลงให้ได้” ซึ่งประเทศเล็กๆ อย่างไทยจะกลายเป็นพื้นที่ของสงคราม แนะนำให้ “ปรับเปลี่ยนแนวคิดของภาครัฐ” ในเรื่องการเจรจาการค้า โดยอาจใช้วิธีเจรจาช้าๆ หรืออยู่เฉยๆ แบบสิงคโปร์ เพราะอะไรที่เจรจากับสหรัฐฯ แล้วจะดึงกลับคืนไม่ได้
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ