Site icon Thumbsup

6 วิธีการบริหารแบรนด์ให้มีความต่อเนื่องและแข็งแรง

ในโลกดิจิทัลที่ทุกแบรนด์กลัวความล้าสมัย ทำ Facebook ซื้อมีเดียออนไลน์ให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย แถมยังต้องทำ SEO, SEM เพื่อให้คนค้าหาแบรนด์เจอ แต่สิ่งสำคัญไม่แพ้กัน (ที่หลายแบรนด์เคยอินแต่ลืมมันไป) คือการรักษาตัวตนที่แท้จริงของแบรนด์ และสื่อสารมันอย่างถูกวิธี

ในยุคที่ต้องทำทุกอย่างให้เร็ว ให้ไว ไม่งั้นก็ตามใครไม่ทัน การตัดสินใจสื่อสารแบบผิดๆ จึงเกิดขึ้นในช่วงเวลาอันรวดเร็วไม่ต่างกัน 6 วิธีการด้านล่าง จึงเป็นเหมือนการสะกิดให้แบรนด์หันกลับมาตรวจสอบตัวเอง

1. รู้ว่าความสำเร็จที่แท้จริงคืออะไร

แบรนด์ส่วนมากจะตั้งค่าความสำเร็จเป็นตัวเลข เหลือเพียงส่วนน้อยที่วัดจากสายตาของผู้บริโภค คนซื้อเห็นอะไรในแบรนด์ของเราคือสิ่งที่ควรจะให้ความสำคัญ เพราะมันคือปัจจัยหนึ่งที่จะสร้างความเชื่อมั่น ไม่เพียงแค่ b2c แต่มันยังส่งผลต่อ b2b ได้อีกด้วย

2. หาโมเมนต์ของแบรนด์ให้เจอ

ผู้บริโภคไม่ได้ต้องการจะรู้จักทุกแบรนด์บนโลก โอกาสในการสร้างความเชื่อมโยงของแบรนด์ในชีวิตประจำวันของแต่ละคนจึงมีเพียงน้อยนิด ก็เหมือนกับการกินซีเรียลในตอนเช้า ถ้าโชคดี ก็จะมีคนนึกถึงแบรนด์เราช่วงสั้นๆ 3 วินาที จาก 24 ชั่วโมง ซึ่งเราต้องหาโมเมนต์ที่คนจะนึกถึงแบรนด์เราให้เจอ

3. เรียนรู้ที่จะพูดเมื่อมีคนฟัง ไม่ใช่สักแต่พูด

ไม่ใช่ทุกแบรนด์ต้องพูดเสียงดังตลอดเวลา ในทางกลับกันถ้าแบรนด์เรียนรู้ที่จะเงียบ และส่งเสียงในจังหวะที่เหมาะสม จะทำให้มีพลังในการพูดมากกว่า

บางแบรนด์ที่มีความกระตือรือร้น มีไอเดียและสื่อสารอยู่เสมอ ไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่ข้อเสียคือถ้าวันนึงแบรนด์ที่เคยส่งเสียงตลอดเวลาเงียบขึ้นมา ความเงียบนั้นจะกลายเป็นการฆ่าแบรนด์ซะเอง เพราะเท่ากับว่าช่วงเวลานั้น แบรนด์ได้เปิดช่องว่างให้แบรนด์อื่นพูดเสียงดังแทน ดังนั้น ควรพูดเมื่อมีคนฟัง และควรรักษามารยาทในการพูดแต่ละครั้ง

4. รู้จักขอบเขตในการ engage กับผู้บริโภค

แม้จะต้องตามกระแสให้ทัน วันนี้ฝนตก น้ำท่วม รถไฟฟ้าขัดข้อง วันเฉลิมฉลอง วันสำคัญ แต่ไม่จำเป็นเลยที่แบรนด์จะต้องอินกับทุกสถานการณ์ แบรนด์ควรเรียนรู้ว่าเวลาไหนควรจะแสดงตัว เวลาไหนควรจะหลบและมองแบรนด์อื่นพูดบ้าง เพื่อให้ทุกครั้งที่เราออกมาอยู่ในกระแส เป็นเรื่องที่มีความหมาย

5. ผู้ชนะคือแบรนด์ที่คงทน ไม่ใช่ดังวูบวาบชั่วคราว

แบรนด์ชอบการปล่อยข่าว สร้างกระแส แต่อย่าลืมว่าเราอยากให้ผู้บริโภคจดจำแบรนด์อย่างไร แบรนด์ของเราเท่ากับอะไร ตัวตนของแบรนด์ที่แท้จริงคืออะไร หลายครั้งแบรนด์นำเสนอตัวตนผ่านสิ่งที่แบรนด์ควบคุมไม่ได้ เช่น ดาราหรือคนดัง เพราะใช้แล้วเป็นกระแส แต่หลายครั้งคนเหล่านี้ก็มาบดบังความเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ หรือไม่สามารถเป็นตัวแทนของแบรนด์ได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นจึงควรคิดให้ดีก่อนลงเงิน หาสิ่งที่แบรนด์ควบคุมได้ เพื่อผลดีในระยะยาว

6. ควรถูกจดจำ ในทุกการกระทำของแบรนด์

มีกี่ครั้งที่ลูกค้าเข้าไปซื้อของแล้วไม่เห็นแบรนด์ของคุณ เพราะการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ อย่าลืมที่จะรักษาความเป็นตัวตนทุกครั้งที่จะเปลี่ยนแปลงอะไร

เมื่ออยู่ในตลาดมาสักพัก แบรนด์อาจจะรู้สึกเบื่อและอยากลุกขึ้นมาเปลี่ยนอะไรสักอย่าง จำไว้ว่าความคุ้นชินไม่ได้ส่งผลเฉพาะกับคุณ แต่มันส่งผลกับผู้บริโภค ความคุ้นชินคือสิ่งที่ทำให้ลูกค้ายังมองหาเรา ยังรู้สึกสบายใจที่จะซื้อแบรนด์เรา และไม่หันไปหาแบรนด์อื่น

ส่วนขอบเขตของการเปลี่ยนแปลงว่ามากแค่ไหนคือพอดี ให้ดูจากปฏิกิริยาของผู้บริโภค ถ้าพวกเขาตาเบิกกว้าง นั่นแสดงว่าเรามาถูกทาง แต่ถ้ากลอกตาเมื่อไหร่ นั่นแสดงว่าถ้าไม่คุณเปลี่ยนมันมากเกินไป ก็คือยังเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่ดีพอ

ที่มา : brandingstrategyinsider