เรื่องของภัยคุกคามระบบซอฟต์แวร์ของภาคธุรกิจนั้น ยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากหน่วยงานภาครัฐที่เร่งปราบปรามการใช้งานซอฟต์แวร์เถื่อนแล้ว ภาคเอกชนเองก็ต้องตระหนักถึงความปลอดภัยที่อาจสูญเสียจากการโจรกรรมข้อมูล มัลแวร์ หรือการใช้ระบบที่ไม่ถูกต้อง ด้าน Microsoft เอง ในฐานะที่เข้ามาให้บริการในไทยอย่างยาวนานและภาคธุรกิจที่ใช้ซอฟต์แวร์จากค่ายนี้เยอะ จึงเร่งเสริมจุดแข็งด้านงานบริการที่มากขึ้น
ไม่ใช่แค่ขายแต่จะเน้นงานบริการให้มากขึ้น
คุณโอม ศิวะดิตถ์ ผู้บริหารด้านนโยบายภาครัฐ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เล่าให้ฟังว่า ภาพลักษณ์ของ Microsoft ในประเทศไทย จะเป็นการสื่อสารและเพิ่มศักยภาพให้ผู้ใช้คนทั้งรายบุคคลและองค์กรในไทยที่มีกว่า 70 ล้านชีวิตใช้งานเทคโนโลยีได้ดีขึ้น
ภาพของบริษัทในปีที่ผ่านมาจะเห็นว่า Microsoft พยายามผลักดันและกระตุ้นในเรื่องของการใช้งานซอฟต์แวร์ที่ถูกกฏหมายเพื่อความปลอดภัยของภาคธุรกิจและการใช้งานส่วนบุคคล เพราะปัจจุบันนี้ ลูกค้าที่ใช้บริการซอฟต์แวร์ต้องการความเชื่อมั่นจากผู้ให้บริการโดยตรงมากขึ้น
ดังนั้น การที่เราเป็นทั้ง Service Provider และเจ้าของซอฟต์แวร์ จึงต้องบริหารและรักษาบาลานซ์ทั้งสองกลุ่มให้ดี เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจในการนำ Access ต่างๆ มาไว้กับเรา รวมทั้งภาพลักษณ์ของเราในวันนี้คือการเป็น Cloud Company แล้ว การทำงานจึงต้องรวดเร็วและสะดวกกับการใช้งานของลูกค้าให้มากทีสุด
5 ปัจจัยในการสร้างความเชื่อมั่น
โดยทาง Microsoft ได้ร่วมมือกับทาง IDC Asia Pacific จัดทำงานวิจัยในหัวข้อ Understanding Consumer Trust in Digital Service in Asia Pacific เพื่อเผยถึงทัศนคติของผู้บริโภคยุคใหม่ในด้านความน่าเชื่อถือของบริการดิจิทัลต่างๆ พบว่า 5 ปัจจัยหลักในการสร้างความมั่นใจของผู้บริโภคคือ ความเป็นส่วนตัว (Privacy) ความปลอดภัย (Security) เสถียรภาพ (Reliability) จริยธรรม (Ethics) และ การปฏิบัติตามมาตรฐานและข้อกฏหมาย (Compliance)
นอกจากนี้ ภัยคุกคามที่เจอบ่อยสุดในภาคธุรกิจ คือ มัลแวร์ทั่วไป มัลแวร์ที่ขุดสกุลเงินดิจิทัล มัลแวร์เรียกค่าไถ่และการหลอกล่อด้วยเว็บไซต์ ซึ่งค่าเฉลี่ยของภัยคุกคามทั้งหมดนั้นถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกแบบเกิน 100% ทุกประเภท ชี้ให้เห็นว่าเรื่องความปลอดภัยในการใช้ซอฟต์แวร์ยังต่ำมาก
อย่างไรก็ตาม บริษัทได้มีการส่งข้อมูลที่ตรวจพบว่ามีมัลแวร์ให้แก่ทาง ETDA หรือ Thaicert เพื่อไปทำงานกับผู้ให้บริการที่เป็นเจ้าของ ip และนำไปตรวจหามัลแวร์ ว่าเกิดขึ้นเพราะอะไรและมีช่องโหว่ตรงจุดใดเพื่อยับยั้งและแก้ไขปัญหานี้ได้ทัน ต้องยอมรับว่าหลังการทำงานร่วมกันทุกผู้ให้บริการเจอปัญหาความเสี่ยงด้านมัลแวร์ลดลง 70% เชื่อว่าทุกอย่างน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากนี้ การเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงถึง 3.15 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมา แต่ความเชื่อมั่นในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกในสายตาผู้บริโภคกลับมีน้อยมากยิ่งเรื่องของข้อมูลส่วนบุคคล เพราะผู้บริโภคเชื่อว่าระหว่างแบรนด์มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน หรือมาตรการด้านความปลอดภัยในการเก็บรักษาข้อมูลลูกค้าไม่ดีพอ ทำให้หน่วยงานภาครัฐต้องผลักดันในเรื่องของมาตรฐานและกรอบเชิงนโยบายเพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับมา
โดยการประกาศให้ใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลถือว่าเป็นอีกก้าวสำคัญที่ตีกรอบชัดเจนว่า เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีสิทธิใดบ้างและวางแนวทางคุ้มครองไม่ให้นำไปใช้ในทางที่ละเมิดสิทธิของเจ้าของข้อมูล
หากทุกธุรกิจให้ความสำคัญเรื่องพรบ.ฉบับนี้ของไทยหรือ GDPR ของสหภาพยุโรป เพื่อปรับแนวทางมาตรฐานใหม่ก็เชื่อว่าจะสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคในการใช้ชีวิตดิจิทัลได้อย่างแน่นอน