ในปี พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา เราคงได้เห็นตัวเลขการบริโภคสื่อของคนไทยจากการวิจัยกันมาบ้าง เช่นของบริษัท Kantar Worldpanel (Thailand) กับรายงานชุด “มีเดียโปร์ไฟล์ 2016” ที่มีการวิจัยพฤติกรรมการเสพสื่อทั้งออนไลน์และออฟไลน์จากกลุ่มตัวอย่างกว่า 4,000 รายในประเทศไทย ซึ่งชี้ให้เห็นว่า สื่อดิจิทัลกำลังเติบโตเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงอย่างมาก ในขณะที่สื่อกลุ่มแมกกาซีน และหนังสือพิมพ์นั้นเข้าสู่ภาวะขาลงอย่างต่อเนื่อง และสื่อทีวีก็ยังเป็นสื่อที่ทรงอิทธิพล และมีบทบาทสำคัญต่อครัวเรือนไทยสูงสุด
อย่างไรก็ดี เรามีอีกหนึ่งตัวเลขด้านการบริโภคสื่อจากซีกโลกตะวันตกซึ่งมองว่าน่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะเป็นการโฟกัสไปที่การบริโภคสื่อของผู้เป็นแม่ บุคคลสำคัญของครอบครัวนั่นเอง
โดยตัวเลขดังกล่าวเป็นการสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาจาก Nielsen ประจำไตรมาสที่ 3 ของปี 2016 ซึ่งได้แบ่งกลุ่มคุณแม่ในการสำรวจนี้ออกเป็นสองกลุ่มคือ คุณแม่แบบ Stay-at-home กับคุณแม่เวิร์กกิ้งมัม และพบว่า จุดเด่นของคุณแม่สองกลุ่มนี้ที่แตกต่างกันคือ คุณแม่ Stay-at-home นั้นมีโอกาสบริโภคสื่อ “สูงกว่า” คุณแม่เวิร์กกิ้้งมัมมากพอดู
โดยการสำรวจพบว่าคุณแม่ Stay-at-home นั้นจะใช้เวลาเฉลี่ย 36 ชั่วโมง 26 นาทีต่อสัปดาห์ไปกับ “หน้าจอ” ตั้งแต่ดูทีวี เล่นเกม หรือรับชมสื่อผ่านบริการอย่าง Roku – Apple TV ตลอดจนใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และเห็นได้ชัดยิ่งขึ้นจากตัวเลขสมาชิกของบริการ Live TV ที่พบว่า คุณแม่กลุ่ม Stay-at-home นั้นมีการรับชมมากกว่ากลุ่มคุณแม่เวิร์กกิ้งมัมประมาณ 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เลยทีเดียว)
หันมาทางจุดเด่นของคุณแม่กลุ่มเวิร์กกิ้งมัมกันบ้าง Nielsen พบว่าพวกเธอจะเต็มไปด้วยสิ่งของเครื่องใช้ไฮเทค และอาจมี Device มากกว่าหนึ่งเครื่อง (80% มีแท็บเล็ตเป็นอุปกรณ์คู่ใจ) แต่เวลาที่อยู่กับหน้าจอนั้นเฉลี่ยแล้วตกอยู่ที่คนละ 28 ชั่วโมง 49 นาทีต่อสัปดาห์เท่านั้น
ส่วนการใช้งานสมาร์ทโฟน พบว่าคุณแม่กลุ่ม stay-at-home มีการใช้งานเฉลี่ยสัปดาห์ละ 22 ชั่วโมง 43 นาที มากกว่าคุณแม่กลุ่มเวิร์กกิ้งมัมที่ใช้สมาร์ทโฟนเฉลี่ย 20 ชั่วโมง 41 นาทีด้วย
หรือการเข้าถึง Social Media นั้นพบว่า คุณแม่ stay-at-home อาจใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์พีซีและสมาร์ทโฟนเป็นหลัก ขณะที่เวิร์กกิ้งมัมนั้นใช้แท็บเล็ตมากกว่า
โดยจากอุปกรณ์ทั้งหมดที่กลุ่มคุณแม่มีการใช้งาน Nielsen พบว่า วิทยุคือสื่อที่คุณแม่เวิร์กกิ้งมัมมีการใช้งานค่อนข้างสูงเฉลี่ยที่ 13 ชั่วโมง 45 นาทีต่อสัปดาห์ (ส่วนคุณแม่ stay-at-home ฟังวิทยุประมาณ 12 ชั่วโมง)
อย่างไรก็ดี จากตัวเลขต่างๆ ที่ Nielsen ทำการวิจัยออกมานี้ บางส่วนอาจไม่สอดคล้องกับสังคมไทยนัก เช่นบริการ Roku TV ที่บ้านเรายังไม่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายแบบในสหรัฐอเมริกา แต่ก็น่าจะช่วยให้หลายบริษัทได้เห็นช่องทางแล้วว่า จะเจาะตลาดกลุ่มคุณแม่ได้อย่างไร หรือใช้เครื่องมือแบบไหนดี ซึ่งก็หวังว่าจะมีแคมเปญดีๆ ตามมาให้เราได้เห็นกันมากขึ้นนะคะ