เปิดตัวแล้วเป็นที่เรียบร้อย สำหรับสำนักข่าว “The Standard” ที่รวมทีมบรรณาธิการมากความเก๋า 7 คน อย่าง วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์, นิติพัฒน์ สุขสวย, นครินทร์ วนกิจไพบูลย์, เจิมสิริ เหลืองศุภกรณ์, ภูมิชาย บุญสินสุข, วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม และยศยอด คลังสมบัติ โดยอาจกล่าวได้ว่านอกจากความน่าสนใจถึงทิศทางของ The Standard ที่บอกว่าจะเป็นสำนักข่าวที่ “Stand up for the people” แล้ว ยังมีอีกหลายประเด็นที่มีผู้ให้ความสนใจติดตาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความสัมพันธ์กับแบรนด์เก่า “a day” ที่เขาเป็นผู้ก่อตั้ง และก้าวใหม่กับการใช้สื่อในมือเพื่อสร้างคอนเทนต์ให้มีความครีเอทีฟ และอยู่รอดในยุคแห่งการ “Disruption”
โดยในการเปิดตัวสำนักข่าว The Standard ทีมผู้บริหารให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน The Standard มีพนักงานประมาณ 80 กว่าคน ซึ่งย้ายมาจากบริษัทเดิมประมาณ 50 คน และรับพนักงานใหม่ประมาณ 30 คน และมีทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท ซึ่งผู้ถือหุ้นประกอบด้วย
1. คุณวินิจ เลิศรัตนชัย 45%
2. คุณวงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ 25%
3. คุณนิติพัฒน์ สุขสวย 20%
4. บริษัท เดย์ อาฟเตอร์เดย์ 10% (ถือในนามผู้ร่วมลงขันเดิมซึ่งมีประมาณ 300 กว่าคน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการส่งจดหมายเพื่อแจ้งให้ผู้ร่วมหุ้นดำเนินการส่งเอกสารมาเพื่อจะได้จดทะเบียนอยู่ในบริษัทเดย์ อาฟเตอร์เดย์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย)
โดยในส่วนของหุ้นคุณวงศ์ทนงที่ 25% นั้น เขาระบุว่า เขาได้กันส่วน 5% ไว้ให้กับพนักงานในออฟฟิศ เพราะเขามองว่านอกจากการเป็น The Standard ในแง่ของคุณภาพของชิ้นงานแล้ว ในส่วนของพนักงานก็ควรได้รับการดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยเช่นกัน
ส่วนรูปแบบการนำเสนอข่าวนั้นจะเป็นการ Curated & Creative News ที่เน้นข้อมูลเป็นประโยชน์ ให้แรงบันดาลใจ และเข้าถึงง่าย ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น เว็บไซต์ พ็อดแคสต์ คลิปวิดีโอ นิตยสารแจกฟรีรายสัปดาห์ รวมไปถึงสื่อใหม่ที่อาจเข้ามาในอนาคตเช่น AR และ VR ด้วย
โดยสัดส่วนของเนื้อหาทั้งหมดภายในเว็บไซต์ thestandard.co จะประกอบไปด้วยเนื้อหาข่าว 50 เปอร์เซ็นต์ ที่แบ่งหมวดหมู่เป็นข่าวต่างประเทศ ในประเทศ การเมือง ธุรกิจ สิ่งแวดล้อม กีฬา และเทคโนโลยี โดยมีนักข่าวที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านทำหน้าที่ดูแลเนื้อหา ส่วนอีก 50 เปอร์เซ็นต์จะเป็นเนื้อหาด้านไลฟ์สไตล์และคัลเจอร์
แต่ทั้งหมดนี้ อาจยังไม่น่าสนใจเท่ากับสิ่งที่เขาและคุณนครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บอกกับเราในช่วงให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว ซึ่งน่าจะเป็นการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนที่สุดอีกครั้งของผู้ชายสองท่านนี้
“The Standard คือสำนักข่าวที่นำเสนอข่าวทุกประเภท”
คุณโหน่ง – “คนกลุ่มหนึ่งที่เราสื่อสารด้วยมานานก็คือกลุ่มคนรุ่นใหม่ วัยทำงาน เจ้าของกิจการ เราก็รู้แล้วว่า คนจำนวนมาก ชอบเสพอะไรที่ไม่ยากเกินไปนัก ซึ่งมันก็ตรงกับรสนิยมของเราที่ชอบทำอะไรที่ยาก ๆ ให้มันง่าย”
“ดังนั้นหากให้บอก เนื้อหาของ The Standard มันจะซีเรียสมากเลย แต่มันจะไม่เครียด เพราะเราจะมีวิธีนำเสนอให้มันอ่านสนุก อ่านแล้วอยากอ่านอีก อ่านแล้วติดใจ เราตั้งเป้าไว้ว่า อยากให้ The Standard ติดหนึ่งในสามสำนักข่าวที่คนอยากเปิดเข้ามาอ่านมากที่สุด”
“ความพร้อมของคอนเทนต์เราค่อนข้างครบครัน เรามีเว็บไซต์ให้อ่าน มีวิดีโอให้ดู เรามีพ็อดแคสต์ให้ฟังทั้งสัปดาห์เลย นอกจากนั้นเรามีนิตยสารแจกฟรีรายสัปดาห์ด้วย ดังนั้น The Standard สำหรับผมคือสำนักข่าวที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารครบครันในทุกสื่อ ทุกแพลตฟอร์ม”
ตั้งเป้าเป็น News Agency ขายข่าวให้ต่างประเทศ
คุณโหน่ง – “ความทะเยอทยานในด้านธุรกิจของเราข้อหนึ่งคือเราอยากเป็น News Agency ที่ขายข่าวให้กับยุโรป อเมริกา หรือเอเชีย เพราะที่ผ่านมา สำนักข่าวในเมืองไทยต้องซื้อจากเมืองนอกหมด แต่เรามีความเชื่อว่า มาตรฐานของข่าว บทความ ภาพถ่าย ของเราไม่น้อยหน้าต่างประเทศ เพราะฉะนั้นความหวังของผม คือวันหนึ่งเราจะขายข่าวให้ฝรั่งด้วย ให้เขามาซื้อเรากลับไป และเราเชื่อว่าเราจะทำได้ด้วย”
คอลัมนิสต์การเมือง?
คุณนครินทร์ – “สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้คนบางกลุ่มไม่สบาย คอลัมนิสต์ท่านนั้นก็ไม่สบายใจ เราก็ไม่สบายใจ ในเมื่อไม่มีใครสบายใจเลย เราก็อย่าดื้อดึงทำต่อ ในช่วงนี้คงยังไม่มีคงพักไปก่อน”
“ตอนแรกเราคิดว่าคงไม่มีผลกระทบรุนแรง เพราะคิดว่าจะเป็นงานเขียนเบา ๆ ไม่ใช่การเมือง แต่เมื่อพบว่ามีผลกระทบรุนแรง เราก็ต้องรับฟัง ตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมที่นักการเมืองคนไหนจะเข้ามาเขียน และเราก็คิดว่าในอนาคต ต้องดูกันต่อไป อย่างที่บอกว่าเราไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับใคร ทุกวันนี้เราก็เจ็บตัวในแง่ของคนทำ ผมยืนยันว่าผมเข้าใจทุกคน”
“คือจริง ๆ นักการเมืองท่านนั้นขอดูแนวทางเว็บก่อน แล้วค่อยมาลงดีเทลกันว่าจะเขียนแนวไหน อย่างไร จริง ๆ คุยกันตั้งนาน ตั้งแต่โมเมนตัมแล้ว แต่ทำไมไม่เกิดเรื่อง พอแนวทางเป็นแบบนี้ ก็คงไม่สบายใจทั้งสองฝ่าย ก็คงหยุดไป เราก็โปร่งใส เราก็ไม่มีอะไรเคลือบแคลงให้ต้องดันทุรัง”
ถ้ามีทุนต้องการเข้ามาอีก?
คุณโหน่ง – “ไม่เอาแล้ว เข็ดแล้ว คือเหตุการณ์ที่ผ่านมาให้บทเรียนกับชีวิตหลายอย่าง อย่างแรก มันบอกผมว่า อย่าปล่อยปละละเลย ไม่่สนใจเรื่องธุรกิจเงินทองมากไป ธรรมชาติของผมชอบทำงาน ชอบทำคอนเทนต์ ดังนั้น ผมก็ปล่อยให้อีกฝ่ายดูแลเรื่องนี้ไป ในที่สุดก็เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมา
“แต่พอมาก่อตั้งบริษัทนี้ เราก็ตั้งใจจะทำให้มันมีความซับซ้อนน้อยที่สุด จะเห็นว่าผู้ถือหุ้นก็ชัดเจนว่าเป็นใคร ถือเท่าไร ที่สำคัญคือเราเป็นฝั่งผู้ถือหุ้นใหญ่ เพราะฉะนั้น มันก็เป็นคำมั่นสัญญาที่ผมให้กับผู้ร่วมลงขัน อย่างที่ปรากฏในข่าวที่ผมพูดไปก่อนหน้าที่ผมจะลาออกว่าเราจะตั้งบริษัทใหม่ แล้วเราจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วยกันนะ”
“เพราะฉะนั้นจนถึงจุดนี้ และในอนาคต ผมมั่นใจว่าไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องรับผู้ถือหุ้นรายใหม่เข้ามา เพราะผมเชื่อว่าด้วยวงจรของธุรกิจ ด้วยโพเทนเชียลของบริษัทเรา เราจะสามารถทำกำไรให้เราอยู่ต่อไปได้โดยอิสระอีกนาน ๆ”
The Standard เป็นกลางแบบไหน?
คุณนครินทร์ – “ผมคิดว่าความเป็นสื่อ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความน่าเชื่อถือ ความเป็นกลางเป็นเรื่องที่วัดกันยาก ความเป็นกลางของผมไม่ได้หมายความว่าเราอยู่ตรงกลาง ความเป็นกลางของผมคือให้ทุกคนได้มีโอกาสได้พูด ให้โอกาสคนอ่านได้มีโอกาสอ่านในสิ่งที่เขาไม่เชื่อบ้าง ถ้าเป็นเรื่องต้องดีเบตกัน ก็ต้องให้พื้นที่เขา”
“แต่น้ำหนักเนี่ย ผมยอมรับว่า บางเรื่อง เราให้น้ำหนักกับเรื่องนั้นได้จริง 98 – 99% เป็นเรื่องที่เป็นเรื่องจริง มีผลวิจัยยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง แต่ก็มีบางท่านที่ไม่เชื่อ เป็นผู้นำด้วย ซึ่งผมเชื่อว่าการให้ความเป็นกลางเป็นศิลปะที่ต้องบาลานซ์ของทั้งสองฝ่าย ก็ลองดูตัวอย่างคอลัมน์ บทความที่ปล่อยออกมา บางครั้งต้องดูกันยาว ๆ อย่าดูแค่บทความชิ้นเดียว ดูหลาย ๆ ชิ้น ดูสลับกันไป ว่าทิศทางเป็นอย่างไร”
จบด้วยดี “เดย์โพเอทส์”?
คุณโหน่ง – “ผมลาออก ไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับเดย์ โพเอทส์แล้ว ความเกี่ยวข้องเดียวที่เหลืออยู่ก็คือ ความเป็นพี่ ๆ น้อง ๆ กับคนที่ทำงานอยู่ที่บริษัทเดิม ทุกวันนี้ก็ยังให้กำลังใจกันอยู่ สำหรับผมกับผู้ถือหุ้นบริษัทเดิม ผมยืนยันว่า เราไม่ได้โกรธเกลียดกัน แต่มันเป็น Accident ที่ทั้งสองฝ่าย เห็นไม่ตรงกันมากกว่า ฝ่ายหนึ่งอาจให้ความสำคัญกับเรื่องเงินทุน เรื่องธุรกิจมากจนกระทั่งตัดสินใจทำบางอย่าง ซึ่งฝ่ายผมรู้สึกไม่สบายใจ (เน้นเสียงหนัก) ซึ่งผมให้น้ำหนักกับความน่าเชื่อถือของอาชีพสื่อมากกว่า”
“อย่างที่คุณเคนบอกว่าอาชีพนี้ไม่มีอะไรสำคัญมากเท่ากับความน่าเชื่อถือ ฉะนั้น ในเมื่อเราเห็นไม่ตรงกัน เราก็แยกย้ายกันไปทำงานดีกว่า ซึ่งผมชอบวาระนี้มาก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้คนในบริษัทผม แตกสายกันออกไปทำสื่อหลาย ๆ สื่อ ซึ่งผมว่าน่าสนใจมากเลยนะ มันดีออกที่จะเกิดสื่อที่มีคุณภาพมากขึ้น หลากหลายมากขึ้น เพื่อที่จะมาเจือสื่อแย่ ๆ ในประเทศนี้ของเรา”
“ตอนนี้เรียกโหน่ง-เดอะ สแตนดาร์ด”
คุณโหน่ง – “ชื่อผมผูกกับ a dayมากว่า 17 ปี ซึ่งอาจเพราะผมเป็นผู้ก่อตั้ง ผมไม่เคยรู้สึกไม่ภูมิใจที่ผมมีนามสกุล a day ซึ่งผมก็รักนามสกุลนี้มาก ๆ และผมไม่เคยรู้สึกว่าต้องลืมมัน หรือต้องเปลี่ยนมัน มันเป็นประสบการณ์ 17 ปีที่น่าประทับใจมาก ๆ ผมได้ทำงานกับพี่ ๆ น้อง ๆ แต่ละคน ซึ่งเรารักกันมาก เรามีจุดมุ่งหมายในการทำงานจุดเดียวกัน ดังนั้น a day สำหรับผมยังเป็นความทรงจำที่สวยงามนะครับ”
“วันหนึ่งผมก็คงเล่าให้ลูกหลานฟังว่า ผมเคยทำนิตยสารเล่มนี้ ทำงานที่บริษัทนี้ ส่วนตัวผมก็ยังจะเป็นแฟน a day ต่อไป เพราะน้อง ๆ ที่อยู่ a day ก็เป็นน้อง ๆ ที่ทำงานมาด้วยกัน ก็ให้กำลังใจกันต่อไป อาทิตย์ที่แล้วเพิ่งนัดไปกินส้มตำกันเอง คือคนทำงานในบริษัทเดิมของผม เราไม่ได้ตัดขาดกัน เราไม่ได้โกรธเกลียดกัน เรายังเป็นพี่น้องกันอยู่”
“วันที่ผมตัดสินใจลาออกจาก a day เป็นวันที่ผมเจ็บปวดมาก เพราะว่าผมลาออกจากสิ่งที่ผมตั้งมา และผมต้องทิ้งมันเดินออกมามือเปล่า มันเศร้ามากเลยนะ แต่เหตุการณ์ทั้งหมดนี้จนมาถึงวันนี้ ผมเริ่มเชื่อในหลักธรรมที่ว่าสิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นย่อมดีเสมอ ผมเชื่อแบบสุดหัวใจเลยตอนนี้ จากที่ผมแย่มากในช่วงเดือนกุมภา ผมถูกโจมตี เข้าใจผิดจากคนที่ไม่รู้ความจริง ผมถูกสื่อบางสื่อให้ผมเป็นผู้ร้าย ซึ่งผมพยายามอดทน พยายามอธิบายความจริง และในที่สุด พอบทสรุปมันออกมาว่า บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่จะซื้อบริษัทผม เขาไม่ซื้อ วันนั้นคือวันที่ผมและคุณนิติพัฒน์โล่งใจมาก ว่าเราเคลียร์ความบริสุทธิ์ใจให้คนเห็น ล่าสุดเมื่อเช้านี้ มีคนส่งข่าวมาให้ผมเห็นว่าบริษัทในตลาดหลักทรัพย์นี้ แจ้งล้มละลายกับตลาด วันเดียวกับที่ผมก่อตั้ง The Standard เลย”
“The Standard ทำให้ผมเหมือนได้ ReBorn ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง”
คุณโหน่ง – “เป็นการเกิดใหม่ที่มีความสุขและสบายใจมาก ๆ เลย อาจเป็นเพราะผมได้ทำงานกับพี่ ๆน้อง ๆ ที่เขามีพลัง มีความทะเยอทยาน มีอุดมการณ์เดียวกันในการทำสื่อที่อยากให้ความรู้ความคิดกับผู้คน”
“เรารู้ว่าสื่อมีอำนาจ สื่อสามารถโน้มน้าวให้คนฉลาดขึ้น หรือโง่ลง ดังนั้น ในเมื่อเราเป็นคนที่ถืออำนาจนี้แล้ว เราต้องใช้มันอย่างมีอุดมการณ์ที่ดี”

เตรียมรับแรงกระเพื่อมทางการเมืองไว้แล้ว?
คุณโหน่ง – “(หัวเราะ) ผมรู้นะครับว่าพี่ ๆ น้อง ๆ สื่อมวลชน เราอยู่ในช่วงเวลาที่มีข้อจำกัดมากมาย ในเรื่องของสิทธิเสรีภาพในการทำสื่อของประเทศนี้ แต่ผมกลับไม่คิดน้อยเนื้อต่ำใจ หรือว่าโกรธ หรือว่าขุ่นข้องหมองใจนะ ผมกลับคิดว่าเป็นความท้าทายมาก ๆ ของคนที่ทำอาชีพสื่อสารมวลชนในช่วงนี้ ว่าจะสื่อสารอย่างไร ท่ามกลางความแหลมคมและกรอบที่จำกัดอยู่ เพื่อที่จะให้มวลชนได้รับข้อมูลข่าวสาร เกิดความรู้ความคิดที่เป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด”
“ผมถือเป็นความท้าทายมาก ถือเป็นช่วงที่โคตรสนุกเลย ไม่รู้ว่าเคน (คุณนครินทร์) คิดเหมือนผมหรือเปล่า”
“ผมเชื่อว่าคนทำสื่อควรจะมีใจที่กล้าหาญเป็นเบื้องต้นครับ ไม่มีประโยชน์ที่คุณจะเริ่มต้นด้วยการเป็นคนหงอ ๆ ตามระเบียบพักที่เขาสั่ง ผมเชื่อว่าอย่างนั้นอย่าไปทำสื่อเลย เพราะฉะนั้น ผมเชื่อว่าความกล้าหาญ ผสมกับเจตนา และอุดมการณ์ที่ดี มันเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายมากที่จะพิสูจน์คนทำงานของ The Standard ว่าคุณจะก้าวข้ามกรอบต่าง ๆ เหล่านี้ไปได้อย่างไร โดยที่คุณไม่สูญเสียตัวตนของคุณ”
มาตรฐานของ The Standard?
“เมื่อผมตั้งบริษัท ผมอยากให้คนทำงานของผมมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย เพราะผมรู้ว่าเรื่องของเงินเดือน อาชีพนี้น้อยมากถ้าเทียบกับความเหนื่อยยากในการทำงาน เพราะฉะนั้นผมตั้งใจให้บริษัท ของผมดูแลคุณภาพชีวิตของคนทำงานให้ดีที่สุด ผมถือหุ้น 25% ใช่ไหมครับ 5% นั้นผมกันไว้ให้พนักงานผม แต่ผมถือแทนพวกเขา ดังนั้นพนักงานของผมทั้ง 80 คนมีหุ้น 5% ในบริษัท นี่คือสิ่งที่เราจะตอบแทนให้คนทำงานได้”
ถือว่าตอบได้ชัดเจนในหลาย ๆ ข้อข้องใจเลยทีเดียวสำหรับการรีบอร์นครั้งใหม่ของผู้ชายคนนี้ “โหน่ง – The Standard” สำหรับความเคลื่อนไหวของ The Standard สามารถติดตามได้จากช่องทางต่าง ๆ ดังนี้ค่ะ
Website : thestandard.co
Facebook: thestandardth
Twitter: thestandardth
Instagram: thestandardth